- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Friday, 08 November 2019 20:41
- Hits: 1076
ห่วง! ไทยป่วยเบาหวานพุ่งสูงต่อเนื่อง ทะลุ 4.8 ล้านคน หลายภาคส่วนร่วมมือส่งเสริมสุขภาพ ในวันเบาหวานโลก 2562หวังลดอัตราผู้ป่วยรายใหม่ - ชี้เหลื่อมล้ำรักษายังเป็นปัญหาสำคัญ
เบาหวานเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non-Communicable diseases: NCDs ที่คุกคามประชากรทั่วโลก มีสาเหตุจากพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ 5 ปัจจัย ได้แก่ การรับประทานอาหารไม่ดีต่อสุขภาพ การมีกิจกรรมทางกายไม่เหมาะสม การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และได้รับมลพิษทางอากาศ นำไปสู่กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง มะเร็ง ระบบทางเดินหายใจ เบาหวาน และโรคทางจิตเวช ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานในกลุ่มประชากรเด็กวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว (10-19 ปี) รวมทั้งผู้ใหญ่วัยต้น (Emerging adults) ซึ่งอยู่ในช่วงอายุประมาณ 20-35 ปี เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก
การศึกษาในหลายประเทศ พบว่าสัดส่วนความชุกของเบาหวานชนิดที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ในเด็กวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวเพิ่มขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับความชุกของโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้น จากข้อมูลของ IDF Atlas พบว่า ความชุกของเบาหวานทั่วโลกในกลุ่มผู้ใหญ่วัยต้น (อายุ 20-39 ปี) เพิ่มจาก 23 ล้านคนในปี 2543 เป็น 63 ล้านคนในปี 2556 โดยกลุ่มประเทศที่มีอัตราความชุกเพิ่มขึ้นรวดเร็ว อยู่ในแถบแอฟริกา แปซิฟิกตะวันตก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย
สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย เผยว่า จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยครั้งที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2557 ประชากรไทยวัยผู้ใหญ่ป่วยเป็นโรคเบาหวานถึง 4.8 ล้านคน และหลายรายเกิดภาวะแทรกซ้อนในเวลาต่อมา การเพิ่มขึ้นของวิถีชีวิตแบบเนือยนิ่ง โรคอ้วน และอายุที่มากขึ้น นำมาซึ่งการเกิดโรค ในจำนวนนี้ 10 คนที่เป็นเบาหวาน 4 คนไม่รู้ว่าตนเองป่วย ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยและดูแลรักษาเพียงร้อยละ 54.1 หรือเพียง 2.6 ล้านคน และเพียง 1 ใน 3 คนสามารถบรรลุเป้าหมายในการรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคเบาหวานในเมืองไทยมีมากถึง 200 รายต่อวัน
คาดการณ์ว่าความชุกของโรคเบาหวานจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณปีละ 100,000 คน ซึ่งโรคเบาหวานที่ถูกดูแลรักษาได้ไม่ดีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น โรคไต และการถูกตัดเท้าหรือขา เบาหวานที่เกิดในวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว และผู้ใหญ่วัยต้นนั้น มีข้อมูลชี้ชัดว่า การดำเนินโรคมีความรุนแรงกว่าเบาหวานที่เกิดในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ รวมถึงตอบสนองต่อการรักษาได้น้อยกว่า นำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่า สร้างความสูญเสียอย่างมากทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นกลุ่มประชากรในวัยทำงาน
จากปัญหาดังกล่าว นำมาสู่ความร่วมมือในการรวมพลังต่อสู้เบาหวาน ตั้งแต่ระดับวัยทำงานในองค์กร จนถึงระดับครอบครัว โดยความร่วมมือระหว่างสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักอนามัย กทม. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เครือข่ายชมรมเบาหวานไทย ชมรมเพื่อเด็กและวัยรุ่นเบาหวาน และกลุ่มเพื่อนเบาหวาน โดยถือเอาวันเบาหวานโลก 14 พฤศจิกายน 2562 นี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการรวมพลัง นำมาสู่กิจกรรมเพื่อสุขภาพ 4 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย
Fight Diabetes Run วิ่งสู้เบาหวาน กิจกรรมเดินสะสมระยะ (Virtual Run) วิ่งส่งเสริมสุขภาพครอบครัว เพื่อลดโอกาสเกิดเบาหวานในครอบครัวและช่วยให้คนที่เป็นเบาหวานแล้วควบคุมได้ดีขึ้น อีกทั้งเป็นการระดมทุนช่วยกองทุนเบาหวานเด็ก โดยผู้เข้าร่วมสามารถชวนสมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานในองค์กร ตั้งทีมเดินหรือวิ่งสะสมระยะทาง ทีมละอย่างน้อย 3 คน โดยสามารถสมัครได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่ Line @FightDiabetesRun หรือสามารถซื้อเสื้อและเหรียญที่ระลึก ได้ในราคารวม 450 บาท รายได้ส่วนหนึ่งสมทบทุนช่วยเหลือเด็กเบาหวาน เริ่มส่งผลเดินวิ่ง ได้ตั้งแต่ 14 พ.ย. 2562 – 15 ม.ค. 2563 ยิ่งชวนเพื่อนได้มาก ก็ยิ่งได้ระยะทางสะสมมาก โดยทีมที่สามารถสะสมระยะทางได้มากที่สุดจะได้รับโล่เชิดชูเกียรติ เป็นองค์กรหรือครอบครัวตัวอย่างห่างไกลเบาหวาน
นอกจากนี้ จำนวนระยะทางรวมที่ผู้เข้าร่วมทั้งหมดเดิน-วิ่งได้ จะแปลงเป็นเงินบริจาคช่วยผู้ป่วยเด็กเบาหวาน โดย 1 กิโลเมตร มีค่าเท่ากับ 1 บาท โดยเงินจำนวน 13,000 บาท สามารถช่วยเด็กเบาหวาน 1 คนให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้เป็นเวลา 1 ปี
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง กล่าวว่า “เยาวชนที่เป็นเบาหวานตั้งแต่วัยเด็กเล็กและวัยเรียน จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ แต่อุปกรณ์ดังกล่าวไม่ครอบคลุมอยู่ในรายการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมีค่าใช้จ่ายอยู่ราว 13,000 บาทต่อปี ทำให้ครอบครัวของผู้ป่วยที่มีฐานะยากจน ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์นี้ได้ หลายหน่วยงานจึงได้ร่วมมือจัดกิจกรรม เพื่อระดมทุนช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มนี้ที่มีอยู่ราว 100,000 คน ในประเทศไทย”
ด้านเครือข่ายคนไทยไร้พุงก็ปล่อยกิจกรรม Active Meeting Challenge ภารกิจท้าคุณขยับ ที่ขอท้าให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุข สมาคม ชมรม และกลุ่มเพื่อสุขภาพต่างๆ เข้าร่วมการประกวดคลิปออกกำลังกายระหว่างพักการประชุมหรือการปฏิบัติงาน เพื่อกระตุ้นให้คนในองค์กร ให้ความสำคัญกับการเพิ่มการขยับร่างกายในชีวิตประจำวัน และตระหนักถึงภัยอันตรายของการนั่งทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดโรค NCDs รวมถึงโรคเบาหวาน กิจกรรมนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาองค์กรไปสู่การเป็น Healthy Organization หรือองค์กรสุขภาพดี โดยคลิปวิดีโอที่ส่งเข้าประกวด และผ่านการพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จะถูกนำมารวบรวมเป็นชุดต้นแบบให้กับองค์กรต่างๆ รวมถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุข นำไปใช้และเผยแพร่ให้เกิดการปฏิบัติในวงกว้าง สามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 ม.ค. 2563 สนใจเข้าร่วมสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง email : [email protected]
ทั้งยังมีกิจกรรม Healthy Family Workshop เชิญชวนสมาชิกในครอบครัวมาร่วมเวิร์กช็อปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและออกกำลังกาย ในรูปแบบกิจกรรมเรียนรู้ที่สนุกสนาน สามารถนำไปใช้กับสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ครอบครัวห่างไกล NCDs และเบาหวาน โดยมีทั้งเวิร์กช็อปดูแลสุขภาพเด็กวัยเรียน และเวิร์กช็อปดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ โดยเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนในครอบครัว (เด็กวัยเรียนร่วมเวิร์กช็อปพร้อมผู้ปกครอง, ผู้สูงอายุร่วมพร้อมบุตรหลาน) ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดและประกาศรับสมัครได้ผ่านทางเฟสบุ๊คแฟนเพจเครือข่ายคนไทยไร้พุง
Together Fight Diabetes Fair กิจกรรมวันรวมพลังสู้เบาหวานและโรค NCDs ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือน ก.พ. 2563 มีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนภาคีเครือข่ายสุขภาพมาร่วมจัด โดยมีนิทรรศการความรู้ในการจัดการเบาหวานและโรค NCDs การเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและคนรอบข้าง ทั้งในระดับครอบครัว องค์กรและสังคม การให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพให้รอดพ้นจากเบาหวานและการสังเกตอาการเริ่มต้นของเบาหวาน การนำเสนอผลงานจากหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมรณรงค์ต่อสู้โรคเบาหวาน ตลอดจนเป็นพื้นที่แสดงออกสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องเบาหวานและกลุ่มผู้ป่วย
นอกจาก 4 กิจกรรมหลักแล้ว ยังมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพอื่นๆ เนื่องในวันเบาหวานโลกตามโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขต่างๆ รวมถึงกิจกรรมจากภาคเอกชน เช่น งานวิ่งอ่อนหวาน 2019 โดย ดัชมิลล์ กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพต้านภัยเบาหวาน ของเทสโก้ โลตัส เป็นต้น
ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า โรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลกและประเทศไทย โดยทั้งโลกมีผู้เสียชีวิตปีละมากกว่า 40 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตทั้งหมด และส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา สามารถคำนวณมูลค่าความสูญเสียถึง 47 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2573 หากไม่มีการดำเนินการแก้ไข ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 400,000 คนต่อปี คิดเป็นร้อยละ 76 ของการเสียชีวิตทั้งหมด และครึ่งหนึ่งเสียชีวิตก่อนวัยอันควร คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียร้อยละ 2.2 ของ GDP ต่อปี ซึ่งโรคเบาหวาน เป็น 1 ใน 5 โรค NCDs ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย อันมีสาเหตุจากพฤติกรรมทางสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การมีกิจกรรมทางกายไม่เหมาะสม การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
สสส. จึงมุ่งเน้นสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนในทุกช่วงวัย โดยการพัฒนาและจัดการความรู้ สนับสนุนให้เกิดการจัดสิ่งแวดล้อมทางกฎหมายและทางสังคม อาทิ การผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อพฤติกรรมสุขภาวะ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มปัจจัยเสริมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะและการเพิ่มกิจกรรมทางกาย ใช้การสื่อสารการตลาดเพื่อรณรงค์ปรับเปลี่ยนค่านิยมวัฒนธรรม ขยายแนวคิดความรอบรู้ด้านสุขภาพให้เหมาะสมตามกลุ่มวัย ตั้งแต่วัยเด็ก เยาวชน วัยทำงาน ผู้สูงวัย ตลอดจนประชากรกลุ่มเฉพาะ เช่น ผู้พิการ กลุ่มสถานะบุคคล เพื่อขับเคลื่อนให้ประชาชนเกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพ เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสุขภาวะ ขับเคลื่อนงานลงสู่พื้นที่เป้าหมาย อาทิ สถานประกอบการ สถานศึกษา ชุมชน ครอบครัว อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนการทำงานของภาคีภายใต้กลไกที่หลากหลาย เพื่อลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web