WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1.AAA A 3

การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ยกเลิกการใช้พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส

       การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ ๔๑-๙/๒๕๖๒ วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๒ เรื่อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้ปรับวัตถุอันตรายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จากวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๔

       การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันนี้ ได้มีการพิจารณาเรื่องที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้มีการพิจารณาปรับวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๔ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นไป

     คณะกรรมการฯ ได้มีการพิจารณาข้อมูล ประกอบด้วย ผลการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้นำบัญชานายกรัฐมนตรีไปดำเนินการ โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณา และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่าได้มีการพิจารณาข้อมูลวิธีการและสารทางเลือกในการจัดการวัชพืช ต้นทุนของวิธีการและสารทางเลือก ข้อมูลสารทดแทนสารคลอร์ไพริฟอส ปริมาณสารที่คงเหลือ ณ ปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เห็นว่าสามารถบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติได้ หากยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง ๓ รายการ และผู้แทนหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอข้อมูลความเป็นอันตราย และข้อมูลการตรวจสอบเฝ้าระวังสารตกค้างในสินค้าเกษตรในท้องตลาด นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้นำข้อมูลและข้อเสนอที่ได้รับจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งมีทั้งส่วนที่ต้องการให้ยกเลิกการใช้ และส่วนที่ไม่เห็นด้วยหากจะยกเลิกการใช้ มาพิจารณาในที่ประชุมด้วย

คณะกรรมการฯ ได้มีการลงมติแบบเปิดเผย เช่นเดียวกับทุกครั้งที่มีการลงมติ ผลการลงมติคือ

พาราควอต

                ยกเลิกการใช้ภายในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๒ จำนวน ๒๐ คน

                ยกเลิกการใช้ในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ จำนวน ๑ คน

                จำกัดการใช้ จำนวน ๕ คน

ไกลโฟเซต

                ยกเลิกการใช้ จำนวน ๑๙ คน  จำกัดการใช้ จำนวน ๗ คน

คลอร์ไพริฟอส

                ยกเลิกการใช้ จำนวน ๒๒ คน  จำกัดการใช้ จำนวน ๔ คน

        มติที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้ปรับวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๔ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๒ โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรไปดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น แล้วเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งนี้ ได้ขอให้กรมวิชาการเกษตรไปพิจารณาระยะเวลา ความเหมาะสมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกร หรือร้านจำหน่าย เป็นต้น โดยให้รับรองมติในที่ประชุม #กระทรวงอุตสาหกรรม #คณะกรรมการวัตถุอันตราย #พาราควอต

 

สธ.จัดเสวนาวิชาการ 'ความจริงของ 3 สาร จากคนทำงานสู่ผู้บริโภค'

      กระทรวงสาธารณสุข จัดเสวนาวิชาการ 'ความจริงของ 3 สาร จากคนทำงานสู่ผู้บริโภค' ให้ประชาชน-สังคมได้รับข้อมูลที่รอบด้านของสารเคมีอันตราย พร้อมนำคณะผู้บริหาร ภาคีเครือข่ายแสดงจุดยืน 'ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตร'

       ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร  สื่อมวลชน ร่วมเสวนาวิชาการ “ความจริงของ 3 สาร จากคนทำงาน สู่ผู้บริโภค” พร้อมนำคณะผู้บริหาร ภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนแสดงจุดยืน” ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตร” เพื่อให้ประชาชนสังคมได้รับข้อมูลที่รอบด้าน เกี่ยวกับสารเคมีอันตรายทางการเกษตร 3 สาร คือพาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส จากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ เกษตรกร ผู้ทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย

       นายอนุทิน กล่าวว่าการเสวนาครั้งนี้ ทำให้ได้รับองค์ความรู้ ข้อมูลเพิ่มเติมถึงความรุนแรง ผลกระทบต่อสุขภาพหากยังใช้ 3 สาร คือพาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส  ต่อพี่น้องประชาชน  รวมทั้งเกษตรกร  ซึ่งเป็นผู้เคราะห์ร้ายจากผลการใช้สารเคมี ต้องเจ็บป่วย สูญเสียอวัยวะ ที่สำคัญยังพบว่ามีผลไปถึงทารกในครรภ์ ดังนั้น จำเป็นต้อง “ห้ามใช้ ห้ามขาย ห้ามตาย” เรื่องกำไรขาดทุนเอามาแลกกับความเจ็บป่วย ทุกข์ทรมาน การตายจากการใช้สารเคมีไม่ได้เด็ดขาด ซึ่งไม่เฉพาะ 3 สารเท่านั้น แม้แต่สารเคมีอื่นๆที่เป็นอันตรายก็ไม่สนับสนุนให้ใช้

       นายอนุทิน กล่าวว่า การเสวนาวิชาการในครั้งนี้ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมรับฟังด้วย ซึ่งผู้ร่วมเสวนาได้ใส่เสื้อขาวเป็นสัญลักษณ์ยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตรทั้ง 3 สาร พร้อมให้กำลังใจรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เป็นด่านหน้าการต่อสู้เพื่อพี่น้องประชาชน เกษตรกรและกรรมการ 3 ท่าน คืออธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเลขาธิการ อย. ที่จะเป็นตัวแทนทำหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ปกป้องรักษาสุขภาพของคนไทย นำนโยบายของ รมว.สธ. ปลัด สธ. ไปโหวตแบบเปิดเผยต่อที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันพรุ่งนี้ เพื่อประชาชน เพื่อเกษตรกร ส่วนผลเป็นอย่างไร ขึ้นกับคณะกรรมการ ผู้บริหารทุกคนจะร่วมกันรับผิดชอบ

      สำหรับ ผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ , รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล  มหาวิทยาลัยนเรศวร, ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์  มหาวิทยาลัยมหิดล, นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai -PAN),นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย(สคยท.) ตัวแทนผู้บริหารจากทุกกรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

อย. สนับสนุนให้ยกเลิกสารเคมีอันตรายสูง 3 สาร เพื่อประชาชนมีสุขภาพดี

     อย. ประกาศชัดสนับสนุนให้ยกเลิกใช้สารเคมีอันตรายสูง ทั้ง 3 ชนิด เนื่องจากมีผลเสียต่อสุขภาพอย่างชัดเจน ปัจจุบัน อย. มีระบบเฝ้าระวังและตรวจสอบสารพิษตกค้างในผักผลไม้จากภาคการเกษตรในประเทศและนำเข้า หากพบปริมาณสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานที่กำหนดจะกักกันและตัดตอนไม่ให้เป็นอันตรายกับผู้บริโภค

    นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนให้ยกเลิกสารเคมีอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต เนื่องจากมีอันตรายต่อสุขภาพมีข้อมูลตรวจพบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าจากพาราควอต ในจังหวัดหนองบัวลำภู พบการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มของเด็กแรกเกิดและมารดา ขณะที่ไกลโฟเซตน่าจะก่อมะเร็ง (กลุ่ม 2A) และรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อทำให้เกิดโรคเบาหวานและโรคไต ส่วนคลอร์ไพรีฟอสทำให้เกิดความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสมองของเด็กอีกด้วย

       ทั้งนี้ อย. ได้วางระบบให้ผักผลไม้ที่ปลูกในประเทศ ต้องผ่านการตรวจสอบสารพิษตกค้างและ แสดงฉลาก ณ โรงคัดบรรจุ สามารถตรวจสอบแหล่งเพาะปลูกได้ หากพบปัญหาคุณภาพ หรือการตกค้างของสารอันตราย พร้อมทั้งมีมาตรการเชิงรุกให้หน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่เฝ้าระวังและตรวจสอบคุณภาพผักผลไม้ประจำอยู่ทั่วประเทศ สำหรับผักผลไม้ที่นำเข้า มีด่านอาหารและยา 52 แห่งทั่วประเทศที่คอยตรวจสอบผักผลไม้ หากพบสารพิษตกค้างห้ามนำมาจำหน่ายในประเทศ ล่าสุด ปี 2562 ตรวจพบคลอร์ไพรีฟอสในผักผลไม้ ไม่ผ่านมาตรฐาน 37 ตัวอย่างจาก 456 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 8.11 ส่วนใหญ่พบใน ส้ม คื่นฉ่าย มะเขือเทศ และคะน้า ดังนั้น อย. จึงสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน

กรมการแพทย์ยืนยันสนับสนุนให้เลิกใช้สารเคมี ทั้งพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และ ไกลโฟเซต ชี้มีพิษและอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนจริง

       นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ เอกชนหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าทางการเกษตรมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ประชาชนส่วนใหญ่ต้องบริโภคสินค้าทางการเกษตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อกังวลด้านสุขภาพและความปลอดภัยในสารเคมีทางการเกษตรจึงเกิดขึ้น ทั้งนี้ จากผลกระทบของการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่ส่งผล ต่อสุขภาพของประชาชน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลรักษาสุขภาพประชาชน จึงให้ความสำคัญในประเด็นห้ามการใช้สารเคมีในทางการเกษตร จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เนื่องจากมีการศึกษาถึงผลกระทบด้านสุขภาพ และอันตรายต่อสุขภาพจากกลุ่มเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภค เกิดการสะสมของสารพิษในร่างกายทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น ความพิการและพัฒนาการล่าช้าในเด็ก โรคทางระบบประสาท ปวดศีรษะเรื้อรัง ภาวะสมองเสื่อม พาร์กินสัน มะเร็งชนิดต่างๆ รวมถึงอันตรายจากการสัมผัส/บริโภคสารเคมีโดยตรงจนถึงขั้นเสียชีวิต แสดงให้เห็นว่าสารเคมีดังกล่าวมีผลต่อสุขภาพ หากสามารถยกเลิกได้จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดตามหลักการด้านเวชศาสตร์ป้องกัน นอกจากนี้ยังดำเนินการให้บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขของโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ทั้งประเทศ ช่วยกันให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาล โดยจัดทำข้อมูลความรู้สุขภาพเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานในสังกัด เพื่อปลูกจิตสำนึก สร้างความเข้าใจ ความตระหนักถึงอันตรายของสารเคมีดังกล่าวที่มีต่อสุขภาพ

       นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เปิดเผยว่า ถึงแม้สารเคมีเหล่านี้จัดอยู่ในประเภทสารอันตรายประเภท 3 ที่ให้มีการเฝ้าระวังการใช้ แต่การจำกัดการใช้เป็นเพียงลดความรุนแรงและผลกระทบของสารเคมีต่อร่างกายเท่านั้น ซึ่งยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน จึงเห็นสมควรยกเลิกการใช้สารเคมีทั้งพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต มาเป็นส่วนประกอบของผลผลิตทางเกษตรกรรม กรมการแพทย์ได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับเพื่อดูแลความเจ็บป่วยของประชาชนด้วยโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โดยโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี มีศูนย์พิษวิทยา ที่รับตรวจวิเคราะห์สารเคมีในตัวของประชาชนแบบครบวงจร ทังนี้ สิ่งสำคัญประชาชนหรือกลุ่มเกษตรกร ที่มีประวัติการสัมผัสสารเคมีดังกล่าว หากพบความผิดปกติของร่างกาย ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาโดยเร่งด่วนเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

สธ.นับถอยหลังยุติสารเคมีอันตราย 3 ชนิด ยกระดับงานเฝ้าระวังผู้ป่วยจากพิษสารเคมีทางการเกษตร

       คกก.รณรงค์และขับเคลื่อนเพื่อยุติการใช้สารเคมีฯ ประชุมผ่านระบบวิดีโอกับทั่วประเทศ ยกระดับการเฝ้าระวัง รายงานผู้ป่วยจากพิษสารเคมีทางการเกษตร  ร่วมนับถอยหลังยุติการใช้สารเคมีทางเกษตรอันตราย 3 ชนิด

      ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการรณรงค์และขับเคลื่อนเพื่อยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่อันตรายต่อสุขภาพ พร้อมด้วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะ ประชุมผ่านระบบวิดีโอกับสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ ชี้แจงแนวทางการทำงานเพื่อยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญกำหนดให้การป่วยและเสียชีวิตจากพิษสารเคมีทางการเกษตรเป็นตัวชี้วัด และอยู่ในระบบรายงานโรค

       นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย กล่าวว่า การประชุมชี้แจงในวันนี้ เป็นการยกระดับการเฝ้าระวัง ระบบการรายงานผู้ป่วยจากพิษสารเคมีทางการเกษตร ที่มีอันตรายต่อสุขภาพประชาชน ทั้งเป็นสารก่อมะเร็งในผู้ที่สัมผัสในปริมาณน้อยแต่ต่อเนื่อง และเกิดพิษเฉียบพลัน เช่น ปอดพัง หนังเน่า เนื้อเน่าจากสารฆ่าวัชพืชพาราควอต  หรือสารฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส ที่จะรบกวนการทำงานของต่อมไทรอยด์ ระบบสืบพันธ์ ระบบประสาท ส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก  ส่วนสารไกลโฟเซต จะรบกวนการทำงานระบบต่อมไร้ท่อ เป็นต้น ซึ่งมีรายงานชัดเจนว่าหลายประเทศทั่วโลกห้ามใช้และประกาศห้ามใช้

      ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งรัดจัดการภัยคุกคามความมั่นคงทางสุขภาพ ได้เปิด War Room พร้อมตั้งคณะกรรมการ และคณะทำงาน เพื่อรณรงค์และขับเคลื่อนเพื่อยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่อันตรายต่อสุขภาพ มีเป้าหมายที่จะยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด คือพาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส  ซึ่งประเทศไทย พบรายงานผู้ป่วยด้วยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2559 พบอัตราป่วยด้วยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 18.91 ต่อประชากรแสนราย เพิ่มเป็น 21.52 ต่อประชากรแสนรายในปี 2560 ขณะนี้ 9 เดือนของปี 2562 พบป่วยจากสารเคมีทางการเกษตร (ที่ไม่รวมการฆ่าตัวตาย) ในทุกกลุ่มโรคจำนวน 4,833 รายทั่วประเทศ

      “คณะกรรมการฯวัตถุอันตรายทั้งหมด ของกระทรวงสาธารณสุข มีจุดยืนชัดเจนที่จะสนับสนุนยุติการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตร พร้อมขอให้มีการโหวตแบบเปิดเผย ทั้งนี้ ไม่ว่าผลโหวตจะเป็นอย่างไรกระทรวงสาธารณสุขพร้อมที่จะทำงานเพื่อดูแลประชาชนให้มีสุขภาพดี” นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย  กล่าว

      ในส่วนโครงการราชบุรีประชารัฐ ของเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ที่พบอ้างผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเป็นที่ปรึกษาและใช้ตรากระทรวงสาธารณสุขโดยไม่ได้รับอนุญาตทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเสียหายต่อกระทรวงสาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้อง มอบกองกฎหมายแจ้งความดำเนินคดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!