- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Sunday, 06 October 2019 23:16
- Hits: 3216
ย้ำชัด 5 หลักการ 'โครงการผู้ป่วยรับยาร้านยา'
ย้ำชัด 5 หลักการ ผู้ป่วยรับยาร้านยา ตามนโยบาย รมว.สาธารณสุข'จำกัด 4 กลุ่มโรค''จำเพาะสิทธิบัตรทอง''สมัครใจ ไม่บังคับ''ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม” และ “แพทย์ประเมินผู้ป่วย” พร้อมจัดประชุมชี้แจงความเข้าใจ 19 ก.ย. นี้ เตรียมพร้อม รพ. ร้านยา เดินหน้าโครงการฯ สภาเภสัชกรรม ประกาศความพร้อมร้านยา ขย.1 /เภสัชกร รับห่วงระบบเชื่อมต่อ ชี้ 6 เดือนแรก ช่วงเริ่มต้นระบบสู่การพัฒนาและปรับปรุง ด้านผู้ป่วยระบุ เพิ่มความสะดวก ไม่เสียเวลารอยา
นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โครงการลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านยาแผนปัจจุบัน (ขย.1) ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่จะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยความร่วมมือร่วมใจกระทรวงสาธารณสุข สภาเภสัชกรรม สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) และ สปสช. โดยปีงบประมาณ 2563 แนวทางดำเนินการใน 50 โรงพยาบาล 500 ร้านยา ซึ่งประชาชนสามารถดูรายชื่อโรงพยาบาลและร้านยาที่เข้าร่วมได้ที่เว็บไซด์ของกระทรวงสาธารณสุขและเว็บไซด์ สปสช. และจะมีการอัพเดทข้อมูลต่อเนื่อง ขอย้ำว่าโครงการนี้เฉพาะสิทธิบัตรทอง
ในระยะเริ่มต้นเน้นการรับยาเฉพาะผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิต หอบหืด และจิตเวชเรื้อรังเท่านั้น โดยผู้ป่วยยังคงเข้ารับบริการตรวจรักษากับคุณหมอตามปกติ แต่ให้บอกกับคุณหมอว่าจะขอรับยาที่ร้านยา ขย.1 คุณหมอจะประเมินควาพร้อมคนไข้ว่าสามารถรับยาที่ร้านยาฯ ได้หรือไม่ อาการคงที่หรือไม่ หากเข้าร่วมโครงการได้ จะมีการลงทะเบียนและเลือกร้านยาฯ ที่รับบริการ ต้องย้ำว่าโครงการนี้ให้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจผู้ป่วย ไม่ได้บังคับ และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หากผู้ป่วยยังสะดวกรอรับยาที่โรงพยาบาลก็ทำได้ เพียงแต่เพิ่มทางเลือกการรับยาให้กับผู้ป่วย
“สัปดาห์แรกหลังเริ่มโครงการฯ จะประเมินผลร่วมกันระหว่างสภาเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. เพื่อดูว่าประชาชนมีการรับรู้ในเรื่องนี้เป็นอย่างไร สัดส่วนผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการ ผลการเชื่อมต่อระบบระหว่างโรงพยาบาลและร้านยาทั้งด้านข้อมูล การจัดส่งยาผู้ป่วย รวมถึงความพึงพอใจของคนไข้ที่เข้าร่วมรับยาในโครงการและข้อจำกัดในการดำเนินการ” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.จักรกริช กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทั้ง 3 หน่วยงาน ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เร่งจัดเตรียมความพร้อมเพื่อให้ระบบสามารถดำเนินไปตามแผนที่ได้วางไว้ ผู้ป่วยสามารถรับยาที่ร้านยาได้อย่างราบรื่น โดยได้มีการประเมินสถานการณ์และปัญหาเพื่อปิดช่องว่าง และในวันที่ 19 กันยายนนี้ จะมีการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านยาแผนปัจจุบันฯ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจากโรงพยาบาลและร้านยาเข้าร่วม เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจร่วมกัน
ภญ.ดร.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ รองเลขาธิการสภาเภสัชกรรม และนายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ร้านยา ขย.1 ใน กทม.ขณะนี้มีความพร้อมในการรับใบสั่งยาเพื่อจ่ายยาให้กับผู้ป่วย ตามนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาลอยู่แล้ว เพราะ กทม.เป็นเมืองใหญ่ มีร้านยา ขย.1 ที่มีเภสัชกรประจำร้านยาจำนวนมากและกระจายอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว โดยเภสัชกรมีมิติความรู้ ความเข้าใจในเรื่องยาอยู่แล้ว ทั้งการออกแบบการรับยาที่ร้านยา สภาเภสัชกรรมได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการออกแบบระบบ เพียงแต่ในระยะช่วง 6 เดือนแรก ด้านเทคโนโลยีเชื่อมต่อระบบระหว่างโรงพยาบาลและร้านยาอาจต้องใช้เวลาในการพัฒนาและปรับปรุง ไม่ให้เกิดความเสี่ยงและภาระงาน รวมถึงการจับคู่ระหว่างโรงพยาบาลและร้านยาในโครงการ
ทั้งนี้ในส่วนของระบบเมื่อคนไข้เลือกร้านยาที่จะขอรับยาตามที่แพทย์สั่งจ่าย โรงพยาบาลจะทำการเชื่อมต่อกับร้านยา โดยจะส่งข้อมูลโดยตรงมาที่ร้านยาก่อน เช่น ข้อมูลของผู้ป่วยที่รับยา รายการยาที่จัดส่ง วันเวลาที่จัดส่งยามาที่ร้านยา และวันที่คนไข้จะมารับยา เป็นต้น เพื่อที่ร้านยาจะได้เตรียมการจ่ายยาให้คนไข้ รวมถึงคำแนะนำเพื่อให้ผู้ป่วยมีการใช้ยาอย่างถูกต้อง เหมาะสม และปลอดภัยมากขึ้น
“การให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาถือเป็นทางเลือกให้ประชาชน ในการบริหารจัดการเพื่อดูแลสุขภาพตนเอง นอกจาก ประหยัดเวลาไม่ต้องรอรับยาที่โรงพยาบาลแล้ว ยังสามารถปรึกษาเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ยาได้ โดยเภสัชกรที่ประจำร้านยาก็มีเวลาที่จะให้คำแนะนำคนไข้ได้ ซึ่งร้านยาส่วนใหญ่ก็มีความใกลชิดกับชุมชนอยู่แล้ว”นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน กล่าว
ด้าน น.ส.อัจฉรา เซียงเด่น อายุ 49 ปี กล่าวว่า ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดัน ต้องหาหมอต่อเนื่อง ใช้สิทธิบัตรทองที่โรงพยาบาลนวมินทร์ เวลาไปหาหมอแต่ละครั้งต้องไปตั้งแต่ 6 โมงเช้าและต้องปิดร้าน ไม่ขายน้ำในวันนั้น เพราะต้องใช้เวลาเป็นวัน ช่วงรับยาก็รอนานมาก นานเป็นชั่วโมง หากเปลี่ยนมารับยาที่ร้านยาได้ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะร้านยาอยู่ใกล้กับร้านขายน้ำที่เปิดขายอยู่ ที่ผ่านมาเวลามีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาก็จะปรึกษาเภสัชกรที่ร้านยาอยู่แล้ว เชื่อใจ มองว่าโครงการนี้จะช่วยเพิ่มความะดวกให้กับตนเองได้ ไม่ต้องเสียเวลารอรับยานานๆ ที่โรงพยาบาล
3 รพ.ใหญ่ สังกัดกรมแพทย์ พร้อมนำร่องโครงการผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาพื้นที่ กทม. เริ่ม 1 ต.ค.2562 ดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 3 กลุ่มโรค ไม่ต้องรอรับยานาน ช่วยลดความแออัดใน รพ.
ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (อปสข.กทม.) เปิดเผยว่า ในการประชุม อปสข.กทม.เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา มีวาระพิจารณา“โครงการลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านขายยา (ข.ย.1) ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้นำร่องดำเนินการพื้นที่ กทม.ในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 3 แห่งก่อน ดังนี้
- รพ.ราชวิถี มีเครือข่ายร้านยา ขย.1 ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ร้าน Boots สาขายูเนี่ยนมอลล์ ลาดพร้าว, ร้านขายยาเซฟดรัก เซนเตอร์ สาขาบิ๊กซี แจ้งวัฒนะ
- รพ.เลิดสิน มีเครือข่ายร้านยา ขย.1 ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ร้านฟาสซิโน สาขาสีลม(ซอยละลายทรัพย์),ร้านเอ็กตร้าพลัส สาขาปุณณวิถี 28,ร้านยาเคยู ฟาร์มา
- รพ.นพรัตนราชธานี มีเครือข่ายร้านยา ขย.1 ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ร้านยาฟาสซิโน สาขา ปตท.สุขาภิบาล,ร้านยา Pure สาขาแฟชั่นไอแลนด์และร้านขายยาเซฟดรัก เซนเตอร์
ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี กล่าวว่าเบื้องต้นร้านยา ข.ย.1เข้าร่วมโครงการที่เป็นเครือข่ายของโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งเป็น “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ซึ่งจะร่วมให้บริการด้านยาและเวชภัณฑ์เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใน 3 กลุ่มโรคได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด รวมถึงโรคเรื้อรังอื่นๆที่ไม่ซับซ้อน โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินและผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องเป็นไปโดยสมัครใจและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ทั้งหมดจะเริ่มให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ ผลที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่เป็นการลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องรอคิวนาน เป็นการเพิ่มความสะดวกในการรับบริการ นับเป็นการพัฒนาระบบบริการสุขภาพไปอีกก้าวหนึ่ง
นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การดำเนินงานเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยการจ่ายยาที่ร้ายยา เป็นความร่วมมือโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูแลผู้ป่วยให้ได้รับความสะดวกเพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณภาพบริการด้านยา เนื่องจากเภสัชกรร้านยาจะมีเวลาให้คำปรึกษาผู้ป่วยในเรื่องการใช้ยาได้ ซึ่งในช่วงเริ่มต้นจะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อนำไปปรับปรุงและขยายต่อไป
สำหรับผู้ป่วย 3 กลุ่มโรคและโรคเรื้อรังอื่นที่ไม่ซับซ้อน สนใจเข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยาชุมชนอบอุ่น จะมีขั้นตอน ดังนี้
- พบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อประเมินการรับยาที่ร้านยา
- ลงทะเบียนรับยาที่ร้านยาโดยกรอกแบบฟอร์มแสดงความยินยอมและเลือกร้านยาที่โรงพยาบาล
- รับใบนัดหรือใบสั่งยาจากโรงพยาบาล
- รับยาได้ที่ร้านยาตามที่เลือกไว้ โดยแสดงบัตรประชาชนและใบนัดหรือใบสั่งยา ซึ่งในกรณีที่มอบอำนาจให้รับยาแทนจะต้องแจ้งที่ รพ.ไว้ก่อนและการรับยาต้องแสดงบัตรประชาชนตัวจริงของผู้ป่วย บัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจและใบนัดหรือใบสั่งยาของผู้ป่วย
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web