- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Saturday, 03 August 2019 19:47
- Hits: 4157
กรมควบคุมโรค ร่วมกับเครือข่าย รณรงค์ตับอักเสบโลก ชวนคนไทยตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีได้ฟรี ระหว่างวันที่ 5-9 ส.ค. 62 นี้ ใน 79 รพ.ทั่วประเทศ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แถลงข่าวสัปดาห์รณรงค์ตับอักเสบโลก หวังลดอัตราการติดเชื้อ ลดการป่วยตาย ลดจำนวนผู้ป่วยตับแข็งและมะเร็งตับ ผ่านมาตรการต่างๆอย่างบูรณาการ พร้อมเชิญชวนประชาชนเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ได้ฟรี ระหว่างวันที่ 5-9 สิงหาคม 2562 ใน 79 โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ
ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์นายแพทย์ทวีศักดิ์ แทนวันดี ผู้แทนสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย และนายแพทย์รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมแถลงข่าวสัปดาห์รณรงค์ตับอักเสบโลก ประจำปี 2562 คำขวัญ คือ ‘Eliminate Hepatitis B & C’ หรือ ‘กำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี’
นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไวรัสตับอักเสบ สามารถถ่ายทอดเชื้อสู่ผู้อื่นได้ และเป็นสาเหตุนำไปสู่ภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับได้ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังทั่วโลก ประมาณ 257 ล้านคน และผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังทั่วโลก ประมาณ 71 ล้านคน สำหรับ ประเทศไทยคาดว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 2.2-3 ล้านคน โดยพบมากในประชาชนอายุ 30 ปีขึ้นไป เนื่องจากประเทศไทยมีระบบการให้บริการวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ตั้งแต่ปี 2535 ทำให้การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีลดลงจากอดีตมาก ในปี 2559 คาดว่าเด็กที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 3,800 คน และคาดประมาณผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จำนวน 356,670 คน ซึ่งพบมากในผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด
ในปีนี้กรมควบคุมโรค มีมาตรการดำเนินการ ดังนี้ 1.ดำเนินการคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบซีในผู้ต้องขังในเรือนจำ 22 แห่ง จำนวน 30,000 คน ในปี 2562 และจะขยายเป็น 54 แห่ง ในปี 2563 จากนั้นขยายให้ครบ 142 แห่งทั่วประเทศ ในปี 2564 ตามโครงการพระดำริในพระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ในโอกาสที่พระองค์ดำรงตำแหน่งทูตสันถวไมตรีของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติในการป้องกันเอชไอวี ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ระหว่าง พ.ศ.2561-2563 2.ดำเนินโครงการนำร่องการดำเนินงานการกำจัดไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก ใน 15 จังหวัด
และเตรียมขยายชุดสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมการตรวจหาการติดเชื้อและให้ยาต้านไวรัส เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกให้ครอบคลุมทั้งประเทศ 3.กรมควบคุมโรค ร่วมกับสมาคมตับแห่งประเทศไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมาตรการกำจัดไวรัสตับอักเสบซี โดยเพิ่มการขยายความครอบคลุมประชากรกลุ่มเสี่ยงเพิ่มอีก 8 กลุ่ม ได้แก่ 1)ผู้ต้องขังหรือผู้เคยมีประวัติต้องขัง 2)ชายรักชาย 3)พนักงานบริการทางเพศ 4)ผู้ที่เคยได้รับเลือดและ/หรือรับบริจาคอวัยวะก่อนปี 2535 5)ผู้ที่เคยสักผิวหนัง เจาะผิวหนังหรืออวัยวะต่างๆ ในสถานประกอบการที่ไม่ใช่โรงพยาบาล 6)ผู้ที่มีภาวะไตวายเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับการฟอกไตเป็นประจำ 7)ผู้ที่เคยรับการรักษาจากผู้ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เช่น ฉีดยา ทำฟัน หรือ หัตถการอื่นๆ และ 8)ผู้ที่มีค่าเอนไซม์ของตับสูงกว่าค่าปกติ และ 4.กรมควบคุมโรคร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อโรคไวรัสตับอับเสบบีและซี ในประชาชนทั่วไป จำนวน 12 แห่ง ในปี 2562 และจะขยาย 40 แห่ง ในปี 2563 และขยายครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2564
สำหรับ สัปดาห์รณรงค์ตับอักเสบโลก ประจำปี 2562 นี้ ขอเชิญชวนประชาชนเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ได้ฟรี ระหว่างวันที่ 5-9 สิงหาคม 2562 ณ โรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 79 แห่ง ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ (รายชื่อ 79 รพ.ที่เข้าร่วมโครงการฯ http://bit.ly/2LHJMM9) สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ทวีศักดิ์ แทนวันดี ผู้แทนสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมตับแห่งประเทศไทย มีบทบาทหน้าที่ในการให้ความรู้ทางวิชาการแก่แพทย์ ได้เห็นความสำคัญของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี จึงได้ร่วมกับกรมควบคุมโรคจัดทำแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน และดูแลรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี โดยปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นเปลี่ยนจากการรักษาไวรัสตับอักเสบซี จากยาฉีดอินเตอร์เฟอรอน เป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทานที่ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ และลดขั้นตอนการตรวจยืนยันโดยยกเลิกการตรวจยืนยันด้วย Fibroscan เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างง่ายๆที่สามารถทำได้ในโรงพยาบาลชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
นอกจากนี้ สมาคมตับแห่งประเทศไทย ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดสิทธิบัตรยาในเรื่องของตับ โดยได้ผลักดันยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบให้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ ซึ่งขณะนี้ ยา Sofosbuvir และ Veltaspavir ได้รับการบรรจุเข้าสู่สิทธิบัตรยาในวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 ในชื่อ Myhep All ทำให้สามารถรักษาได้ในผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีทุกคน และใช้เวลาเพียง 12 สัปดาห์ ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้
ด้านนายแพทย์รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี โดยเมื่อปีที่แล้วได้บรรจุการตรวจรักษาไวรัสตับอักเสบซี ให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ในกลุ่มประชากร 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี และกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด ในปีนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะขยายความครอบคลุมกลุ่มประชากรเพิ่มขึ้นอีก 8 กลุ่ม เพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์ในการตรวจรักษาเพิ่มขึ้น และเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสิทธิ์การรักษา ต่อไป
*****************************************
ข้อมูล : กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ วันที่ 31 กรกฎาคม 2562
Click Donate Support Web