- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Saturday, 03 August 2019 16:58
- Hits: 2549
กรมควบคุมโรค เตือนระวังป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ขอให้ประชาชนร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนระวังป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย พร้อมขอให้ประชาชนในพื้นที่ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค หากมีไข้สูงอย่างฉับพลัน และมีอาการปวดข้อร่วมด้วย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
นายแพทย์อัษฏางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักในบางพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในภาชนะต่างๆ ซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย เป็นสาเหตุให้ประชาชนเสี่ยงป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 23 กรกฎาคม 2562 พบผู้ป่วย 5,201 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ กลุ่มวัยเรียน อายุ 5-14 ปี รองลงมาคือ 15-34 ปี และ 35-59 ปี ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยในพื้นที่ทางภาคใต้ จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ปัตตานี ระนอง สงขลา ภูเก็ต และตาก ตามลำดับ
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่มียุงลายสวน และยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ทุกกลุ่มอายุ จะมีอาการคล้ายไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก โดยลักษณะอาการคือ มีไข้ ออกผื่นและมีอาการปวดข้อ ข้อบวมแดง เริ่มจากบริเวณข้อมือ ข้อเท้า และข้อต่อแขนขา อาการจะหายภายใน 1-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา
นายแพทย์อัษฏางค์ กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อมในการป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย 3 เรื่อง คือ 1.การป้องกันการถูกยุงกัด โดยทายากันยุง นอนในมุ้ง กำจัดยุงตัวเต็มวัยด้วยสเปรย์ ไม้ช็อตไฟฟ้า กำจัดลูกน้ำและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในภาชนะน้ำใส นิ่ง 2.การเฝ้าระวังอาการของโรค คือมีไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดเมื่อยตามตัว และ 3.การไปพบแพทย์โดยเร็วเมื่อพบว่าป่วยและมีไข้สูง เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรค และเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เป็นต้น
นอกจากนี้ ขอเน้นย้ำให้ประชาชนยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทั้งนี้ จะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.โรคไข้ปวดข้อยุงลาย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อนำโดยแมลง / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0-2590-3859 วันที่ 1 สิงหาคม 2562
Click Donate Support Web