- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Tuesday, 08 May 2018 20:06
- Hits: 4002
ใครอยากเลิกบุหรี่ 'ยกมือขึ้น'
รู้หรือไม่?
• จากการสำรวจเมื่อปี 2557 พบว่าคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 54.8 ล้านคน สูบบุหรี่มากถึง 11.4 ล้านคน หรือร้อยละ 20.7 โดยสูบเป็นประจํา 10 ล้านคน และสูบนานๆ ครั้ง 1.4 ล้านคน
• 1 ใน 4 ของคนที่สูบบุหรี่จะเสียชีวิตด้วยโรคจากบุหรี่ในอีก 10-20 ปีถัดไป โดยในแต่ละปีมีคนไทยมากถึง 42,000-52,000 คนเสียชีวิตด้วยโรคจากบุหรี่
• ควันบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด โดยเป็นสารพิษมากกว่า 250 ชนิด และเป็นสารก่อมะเร็งมากกว่า 50 ชนิด โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด
• วิธีเลิกบุหรี่ทำได้หลายวิธี 1) วิธีหักดิบหรือเลิกด้วยตัวเอง 2) การใช้พฤติกรรมบำบัด 3) การใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ 4) การฝังเข็มเพื่อช่วยลดอาการอยากสูบบุหรี่
• 31 พฤษภาคม ของทุกปี องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) กำหนดให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก หรือ World No Tobacco Day สำหรับวันงดสูบบุหรี่โลก ในปี พ.ศ. 2561 นี้ องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ว่า ‘Tobacco and Heart Disease’และกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดคำขวัญภาษาไทยว่า 'รักษ์หัวใจ ห่างไกลบุหรี่'
ใครอยากเลิกบุหรี่ 'ยกมือขึ้น'
'รู้นะแต่มันทำไม่ได้' นี่คงเป็นเหตุผลหลักของสูบบุหรี่ ทั้งที่ทราบถึงภัยร้ายของบุหรี่ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้างอย่างมาก พิษร้ายของบุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้ายมากมาย โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น หลายคนอาจ ‘คิด’ และ ‘พยายาม’ ที่จะเลิกหลายต่อหลายครั้ง สรรหาวิธีต่างๆ มาใช้ เช่น เลิกซื้อ....แต่ก็ยังขอเพื่อน เลิกสูบในบ้านแต่ออกมาสูบนอกบ้านแทน เป็นต้น
นายแพทย์ประธาน วาทีสาธกกิจ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด ศูนย์โรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้ข้อมูลว่า การเดินทางของสารนิโคตินจากบุหรี่จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดแล้วผ่านไปยังสมองอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 6 วินาทีเท่านั้น!!! บุหรี่ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการคลายเครียด เพราะผู้สูบจะรู้สึกผ่อนคลายได้ในทันทีที่สูบ แต่นั่นเป็นเพียงผลระยะสั้น เมื่อระดับนิโคตินลดลงอารมณ์ที่เคยดี ผ่อนคลายก็จะหายไปด้วย จึงต้องสูบอีกเรื่อยๆ เพื่อความสบายใจจนกลายเป็นการเสพติดในที่สุด
จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2557 พบว่าในจํานวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 54.8 ล้านคน มีผู้ที่สูบบุหรี่มากถึง 11.4 ล้านคนหรือร้อยละ 20.7 โดยสูบเป็นประจํา 10 ล้านคน และสูบนานๆ ครั้ง 1.4 ล้านคน ทั้งนี้มีการประเมินว่าผู้สูบบุหรี่เหล่านี้จำนวนถึง 1 ใน 4 จะเสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ในอีก 10-20 ปีถัดไป เพราะควันบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด โดยเป็นสารพิษมากกว่า 250 ชนิด และเป็นสารก่อมะเร็งมากกว่า 50 ชนิด ทำให้ในแต่ละปีมีคนไทยจำนวนมากถึง 42,000-52,000 คนเสียชีวิตด้วยโรคที่เป็นผลมาจากการสูบบุหรี่ เช่นโรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง และโดยเฉพาะโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ผู้ที่สูบบุหรี่มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากกว่าคนที่ไม่สูบถึง 4 เท่า เพราะสารเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในเส้นเลือดที่นำไปสู่การเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบคือเกิดเส้นเลือดแข็ง ผนังเส้นเลือดหนา เกร็ดเลือดจับตัวเส้นเลือดหัวใจหดตัว หัวใจเต้นไม่ปกติ ผลคือ ทำให้เลือดเลี้ยงหัวใจ ไม่เพียงพอ หัวใจขาดออกซิเจน เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ นอกจากนี้หากเกิดกับเส้นเลือดที่ไปเสี้ยงสมอง ก็จะทำให้สมองขาดออกซิเจนเช่นกันเป็นผลให้สมองเสื่อมสภาพ นำไปสู่การเป็นอัมพฤต อัมพาตได้ในที่สุด ผลร้ายของบุหรี่น่ากลัวขนาดนี้แล้ว ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ถามใจตัวเองว่าจะ ‘เลิก” หรือ ‘สูบ’ ต่อไปดี
หากมองเห็นจุดจบของการสูบบุหรี่รออยู่ข้างหน้าแล้ว ไม่อยากเสี่ยง สามารถเลี่ยงได้ง่ายๆ เพียงแค่เลิกแล้วหันมาดูแลตัวเอง ซึ่งวิธีเลิกบุหรี่ก็สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
-วิธีหักดิบหรือเลิกด้วยตัวเอง โดยการหยุดสูบบุหรี่ทันที วิธีนี้อาจจะง่ายที่สุด แต่จากสถิติพบว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่พยายามเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมักจะเกิดอาการขาดนิโคตินจนต้องกลับไปสูบอีกในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์
-การใช้พฤติกรรมบำบัด เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยชิน หลีกเลี่ยงอารมณ์ที่ทำให้เกิดความอยากสูบ โดยใช้วิธีเสริมสร้างแรงจูงใจภายในเพื่อการเลิกบุหรี่ และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และพยาบาล
-การใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ ยาที่มีสารนิโคตินทดแทนในขนาดต่ำในรูปแบบของหมากฝรั่งอดบุหรี่หรือแผ่นแปะผิวหนังนิโคติน และยาชนิดเม็ดที่ไม่มีนิโคตินสำหรับช่วยลดอาการถอนยาเนื่องจากขาดนิโคติน
-การฝังเข็ม เพื่อช่วยลดอาการอยากสูบบุหรี่และคลายความหงุดหงิด
นายแพทย์ประธาน กล่าวแนะนำต่ออีกว่า ไม่ว่าจะใช้วิธีใดควรทำควบคู่ไปกับการตรวจคัดกรองโรคที่เป็นผลจากการสูบบุหรี่ด้วย โดยเฉพาะผู้ที่เคยสูบบุหรี่มาเป็นเวลานานเพื่อให้รู้ตัวเองก่อนว่าเป็นโรคร้ายอย่างโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคถุงลมโป่งพอง และโรคมะเร็งปอดหรือไม่ จะได้รักษาได้ทันท่วงที“และที่สำคัญที่สุด คือความตั้งใจ มุ่งมั่นของผู้ที่ต้องการเลิกอย่างแท้จริง หาแรงบันดาลใจที่ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อครอบครัว เพื่อลูก เพื่อคนที่เรารัก ขณะเดียวกันยาที่วิเศษที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด คือ กำลังใจจากคนใกล้ชิดและครอบครัวนั่นเอง และเมื่อเลิกบุหรี่แล้วนอกจากจะไม่เสี่ยงต่อโรคภัยต่างๆ ยังช่วยให้สุขภาพดีขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตที่สูงจากการสูบบุหรี่จะกลับมาปกติ ความรู้สึกรู้รสและกลิ่นจะกลับคืนมา หายใจคล่องขึ้นเพราะหลอดลมได้หยุดพักหลังจากทำงานมานาน เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงแขนและขาได้ดีทำให้ออกกำลังกายได้เต็มที่ขึ้น อาการไอลดลง ฯลฯ เลิกไม่ยากแถมข้อดีมีเยอะขนาดนี้ ตัดสินใจเลิกบุหรี่ตั้งแต่วันนี้กันเถอะ”
อย่างไรก็ตาม สำหรับ บางคนที่คิดจะเลิกบุหรี่แต่กลัวโรคนี่ นั่น จะตามมาภายหลังจากที่เลิก จึงคิดวางแผนจะทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพไว้พร้อมกับมีคำถามตามว่ามาจะสามารถทำประกันดังกล่าว ได้หรือไม่ นายกรกฤต คำเรืองฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจนเนอราลี่ ประกันภัย (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า หลักเกณฑ์ของการทำประกันสุขภาพและประกันชีวิตคือให้ความคุ้มครองโรคที่เกิดขึ้นภายหลังจากการทำประกัน ดังนั้นเมื่อคิดที่จะทำประกันชีวิต หรือ ประกันสุขภาพใดๆก็ตามสิ่งสำคัญควรแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้ทำประกันในแบบคำขอเอาประกันชีวิตตามความจริงทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติการรักษาพยาบาลและข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ เพราะการปกปิดในสาระสำคัญเหล่านี้จะเป็นผลต่อการพิจารณารับทำประกันของท่านหรือไม่นั่นเอง หรือหากบริษัทประกันชีวิตสามารถตรวจได้ในภายหลังจากการทำประกันไปแล้ว อาจจะเป็นเงื่อนไขไม่ได้รับความคุ้มครองตามที่ระบุในสัญญากรมธรรม์ก็เป็นไปได้
“สิ่งสำคัญที่สุดของการทำประกันชีวิต คือต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของการทำประกันชีวิตเพราะอะไร เช่น เอาไว้ให้คนข้างหลัง คือ พ่อแม่ ครอบครัวที่สำคัญ ควรศึกษารายละเอียดเงื่อนไขความคุ้มครองก่อนที่จะตัดสินใจซื้อประกันเพราะรูปแบบของการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพมีหลากหลายรูปแบบลองศึกษาและเลือกแบบความคุ้มครองที่เหมาะกับตัวเองเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เอาประกันภัยเอง”นายกรกฤต กล่าว
Click Donate Support Web