- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Friday, 22 September 2017 16:47
- Hits: 2726
สสวท.มั่นใจหลักสูตรใหม่ดีง'เคมบริดจ์ร่วมกลั่นกรอง' หลักสูตรวิทย์ใหม่ เน้นสอดคล้องกระบวนการสร้างคน หั่นส่วนซ้ำซ้อนทิ้ง เชิญเคมบริดจ์ร่วมวิจารณ์ยกมาตรฐานเทียบสากล
ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) แถลงว่า ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 เรื่อง ให้ใช้มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสาระภูมิศาสตร์ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
ในส่วนของหลักสูตรรายวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ที่ สสวท. เป็นผู้รับผิดชอบนั้น มีความจำเป็นจะต้องปรับเนื่องจากเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยโดยการสร้างรายได้จากนวัตกรรมเป็นหลัก หรือที่เรียกว่าไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจำเป็นต้องสร้างกำลังคนที่มีความเข้มแข็งในองค์ความรู้ด้าน SMT (Science, Mathematics and Technology) เป็นฐานในการสร้างนวัตกรรม จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดคล้องต่อการสร้างกำลังคนเพื่อเป็นการขานรับนโยบายของรัฐบาล
จากการที่ สสวท. ได้ให้ความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 45 ปี สสวท. ได้ทำวิจัยและติดตามผลการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551จนครบทุกระดับชั้นปี และพบข้อมูลที่เป็นผลสะท้อนถึงความจำเป็นในการปรับปรุงหลักสูตร เช่น ความซ้ำซ้อนของเนื้อหาระหว่างชั้นปี หรือช่วงชั้น รวมถึงระหว่างกลุ่มสาระ รวมทั้งความไม่เหมาะสมของการใช้ตัวชี้วัดร่วมในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ได้กำหนดให้มีตัวชี้วัดเดียวกันทั้งนักเรียนกลุ่มที่ไม่เน้นวิทยาศาสตร์ และนักเรียนกลุ่มที่เน้นวิทยาศาสตร์ เกิดปัญหาในเรื่องความยากง่ายที่ไม่เหมาะสมกับนักเรียนทั้ง 2 กลุ่มนี้ และการกำหนดสาระที่ 8 ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีออกมาทำให้ขาดความเชื่อมโยงจากเนื้อหานำไปสู่การปฏิบัติ ทำให้นักเรียนขาดทักษะปฏิบัติการต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการเรียนวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ได้มีการบรรจุสาระ
สำหรับ การออกแบบและเทคโนโลยีและสาระเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี มีผลให้การจัดการเรียนรู้ในสาระดังกล่าวเน้นการเรียนเพื่อเป็นผู้ใช้งานเครื่องมือและเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างถูกต้องและปลอดภัยมากกว่าการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบของผู้เรียนเพื่อเป็นผู้สร้างนวัตกรรมจากองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเดิม
ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวต่อไปว่า สสวท.ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการวิจัยและพัฒนา และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้มีความเหมาะสมและก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคเศรษฐกิจดิจิตอล จึงได้ระดมความคิดกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งครูผู้สอน นักเรียน ผู้ปกครอง อาจารย์มหาวิทยาลัย หน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบหลักสูตรกับนานาชาติหลายประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จนถึงปี พ.ศ. 2560
สสวท. ได้เปิดให้มีการประชาพิจารณ์หลักสูตรในระดับประเทศในทุกภูมิภาคมาหลายครั้ง รวมทั้งได้มีการประชาพิจารณ์ออนไลน์บนเว็บไซต์ สสวท. อีกด้วย ผลการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญและการประชาพิจารณ์ได้นำมาทบทวนและปรับปรุงเป็นระยะ
นอกจากนี้ สสวท. ได้ร่วมงานกับCambridge International Examination (CIE) สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับสากลที่ทำหน้าที่ประเมินหลักสูตรในประเทศต่างๆ เข้ามาร่วมวิจารณ์หลักสูตรฉบับปรับปรุงดังกล่าว
จะเห็นได้ว่า หลักสูตรที่ สสวท. ได้วิจัยและพัฒนาได้ผ่านการพิจารณาและตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวนหลายกลุ่มด้วยกัน ทำให้หลักสูตรฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560 นี้มีความเหมาะสมและชัดเจนมากกว่าหลักสูตรฉบับ พ.ศ. 2551 เนื่องจากมีการเชื่อมโยงของเนื้อหาในแต่ละระดับชั้น และเน้นทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในกลุ่มวิทยาศาสตร์ และทักษะการแก้ปัญหาและการให้เหตุผลในกลุ่มคณิตศาสตร์อย่างชัดเจน และมาตรฐานหลักสูตรอยู่ในเกณฑ์เทียบเท่ากับระดับนานาชาติ
ดร. พรพรรณ กล่าวด้วยว่า ด้วยนโยบายขับเคลื่อนประเทศ 4.0 จำเป็นต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐาน โดยเฉพาะการปรับปรุงหลักสูตร ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงหลักสูตรอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในวิชาที่มีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่ง สสวท. ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของการปรับปรุงหลักสูตรและข้อมูลจากการวิจัยพัฒนาที่ทำมาอย่างต่อเนื่องจึงมีความพร้อมในการเสนอการใช้หลักสูตรดังกล่าว ควบคู่กันไปกับวิชาภูมิศาสตร์ที่ดำเนินการโดย สพฐ. เพื่อตอบรับกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
การปรับปรุงหลักสูตรครั้งนี้ได้ลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหา เน้นการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา เพิ่มการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และทักษะในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 เพื่อตอบรับกับการพัฒนากำลังคนให้มีศักยภาพสูงในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ นอกจากนั้น สิ่งที่ สสวท. ได้ทำไว้รองรับหลังจากประกาศใช้หลักสูตรใหม่ ก็คือ การจัดทำคู่มือการใช้หลักสูตร ในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ซึ่งครูและโรงเรียนสามารถใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมและจัดการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนสำนักพิมพ์อื่นๆ ที่สนใจสามารถดำเนินการผลิตหนังสือเรียนตามกรอบหลักสูตรใหม่ได้อย่างสะดวก โดยใช้กิจกรรมและแนวทางการจัดกิจกรรมจากคู่มือการใช้หลักสูตรนี้ได้เช่นกัน