- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Sunday, 10 September 2017 14:50
- Hits: 3980
รอง นรม.ประจินฯ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน’วันที่ระลึกสากลแห่งการเรียนรู้หนังสือ’ประจำปี 2560 ภายใต้หัวข้อเรื่อง’การรู้หนังสือในโลกยุคดิจิทัล’ เป้าหมายเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่งการสร้างสรรค์ที่มีความยั่งยืน
ณ ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ‘วันที่ระลึกสากลแห่งการเรียนรู้หนังสือ’ ประจำปี 2560 ภายใต้หัวข้อเรื่อง ‘การรู้หนังสือในโลกยุคดิจิทัล’(Literacy in a Digital World) โดยมี นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ Ms. Maki Hayashikawa รักษาการผู้อำนวยการยูเนสโก สำนักงานภูมิภาค กรุงเทพฯ และคณะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงานจากทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากมติของที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการทั่วโลก ว่าด้วยการขจัดการไม่รู้หนังสือ (World Conference of Education on the Eradication of Illiteracy) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เมื่อปี พ.ศ. 2508 โดยได้กำหนดให้วันที่ 8 กันยายน ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นการประชุมในปีดังกล่าว เป็นวัน International Literacy Day หรือ วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือของทุก ๆ ปี โดย UNESCO ได้เชิญชวนประเทศสมาชิก ร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเพื่อระลึกถึงวันสำคัญดังกล่าว และกระตุ้นเตือนสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของการรู้หนังสือ ทั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิก ได้เริ่มจัดงานวันที่ระลึกสากลแห่งการเรียนรู้หนังสือครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2510 โดยกองการศึกษาผู้ใหญ่ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
ทั้งนี้ ด้วยกระแสสังคมโลกที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก ทำให้ปี พ.ศ. 2559 ทางสำนักงาน กศน. ได้กำหนดบทบาทของ กศน. ตำบลให้เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน โดยมีภารกิจในการให้บริการพื้นฐานดิจิทัล ตลอดจนให้ความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยี การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ และสามารถปรับตัวเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ที่การรู้หนังสือไม่เป็นเพียงการอ่านออก เขียนได้ หรือคิดเลขเป็นเท่านั้น ต้องสามารถใช้เทคโนโลยีพื้นฐานได้ด้วย และในปี พ.ศ. 2560 ทางสำนักงาน กศน. กำหนดการจัดงานวันที่ระลึกสากลแห่งการเรียนรู้หนังสือ” ประจำปี 2560 ภายใต้หัวข้อเรื่อง “การรู้หนังสือในโลกยุคดิจิทัล” (Literacy in a Digital World) ตามแนวคิดหลักของ UNESCO เพื่อแสดงออกถึงความมุ่งมั่นที่จะขจัดการไม่รู้หนังสือให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย รวมถึงพัฒนางานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้มีคุณภาพ รูปแบบ และกระบวนการที่ทันสมัย เพื่อสร้างช่องทางที่หลากหลายในการเข้าถึงการเรียนรู้ให้กับประชาชน เพราะตระหนักดีว่าการทำให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิต จะเป็นการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่งการสร้างสรรค์ และการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง
จากนั้น รักษาการผู้อำนวยการยูเนสโก สำนักงานภูมิภาค กรุงเทพฯ ได้อ่านสารวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ ประจำปี 2560 ของ Ms. Irina Bokova ผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก โดยมีใจความสำคัญโดยสรุป ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลได้แทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของพวกเราทุกคน จนเป็นพื้นฐานการกำหนดรูปแบบวิธีการในการดำรงชีวิต การทำงาน การเรียนรู้ และการคบหาสมาคมในสังคมทั่วไป โดยเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้จะเปิดโอกาสใหม่ ๆ อย่างกว้างขวาง ในการปรับปรุงชีวิตของพวกเราที่เชื่อมต่อกันทั่วโลก แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ก็สามารถทำให้ผู้ที่ขาดทักษะที่จำเป็นหรือเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคมเข้าใจในบริบทที่กว้างขึ้น เพราะปัจจุบันทั่วโลกยังมีผู้ใหญ่จำนวนกว่า 750 ล้านคนที่ยังขาดทักษะการรู้หนังสือขั้นสูงสุด รวมไปถึงเด็กและเยาวชนจำนวนอีก 264 ล้านคน ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการศึกษาในระบบ ดังนั้น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกำลังสร้างโอกาสในการจัดการปัญหาความท้าทายนี้ ซึ่งเครื่องมือดิจิทัลสามารถช่วยขยายการเข้าถึงการเรียนรู้ และช่วยปรับปรุงคุณภาพการเรียนรู้ มีพลังที่จะเข้าถึงกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึง อีกทั้งเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ในการปรับปรุงและติดตามความก้าวหน้าด้านการรู้หนังสือ ทำให้การประเมินทักษะต่างๆ สามารถทำได้ง่ายขึ้น และทำให้การบริการจัดการระบบต่างๆ ดีขึ้นไปด้วย
ต่อจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้อ่านสาร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาส ‘วันที่ระลึกสากลแห่งการเรียนรู้หนังสือ’ ประจำปี 2560 โดยมีใจความสำคัญโดยสรุปว่า’ปัจจุบันสังคมโลกเป็นสังคมฐานความรู้มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพร้อมนวัตกรรมทางปัญญาเทคโนโลยีและสารสนเทศ’ซึ่งเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของทุกคน ทำให้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว การรู้หนังสือจึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ทุกคน สามารถแสวงหาความรู้และดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนทุกช่วงวัย โดยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาคุณภาพของคนไทยให้มีความรู้ และทักษะใหม่ที่สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายตามแนวโน้มการจ้างงานในอนาคต รวมทั้งสนับสนุนให้คนไทยทุกคนอ่านหนังสือเพื่อพัฒนาให้เป็นผู้รู้หนังสือ สามารถอ่านออกและเขียนได้ โดยทำการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยมีพื้นฐานในการรู้หนังสือตั้งแต่ปฐมวัย ตลอดจนส่งเสริมให้มีแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนภายในชุมชน พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการจัดโครงการและนิทรรศการส่งเสริมองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ควบคู่กัน ตลอดจนเพื่อให้ประชาชนที่สนใจได้มีโอกาสและทางเลือกในการเรียนรู้นอกเหนือจากในสถานศึกษา รวมถึงกระตุ้นสังคมไทยให้เกิดความตื่นตัวรักการอ่าน เพื่อพัฒนาความรู้ในทุกช่วงวัย สามารถคิดวิเคราะห์เป็น รูลึก รู้รอบ และรู้เท่าทัน เพื่อเสริมสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และสร้างพลเมืองของชาติ ให้มีความพร้อมทั้งคุณภาพ คุณธรรม และจริยธรรม
หลังจากนั้น รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดงานดังกล่าวว่า ด้วยกระแสสังคมโลกที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก ตลอดจนการสร้างความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยี การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ และสามารถปรับตัวเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ที่การรู้หนังสือไม่เป็นเพียงการอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น แต่จำเป็นต้องสามารถใช้เทคโนโลยีพื้นฐานได้ด้วย ดังนั้น การรู้หนังสือในโลกยุคดิจิทัล (Literacy in a Digital World) รวมถึงการพัฒนางานการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยให้มีคุณภาพ รูปแบบ และกระบวนการที่ทันสมัย เพื่อสร้างช่องทางที่หลากหลาย ในการเข้าถึงการเรียนรู้ให้กับประชาชน โดยตระหนักดีว่าการทำให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิต จะเป็นการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่งการสร้างสรรค์ และการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง
หลังกล่าวเปิดงานฯ แล้ว รองนายกรัฐมนตรีได้มอบของที่ระลึกแก่รักษาการผู้อำนวยยูเนสโก สำนักงานภูมิภาค กรุงเทพฯ พร้อมกันนั้น รองนายกรัฐมนตรีและคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการได้เดินเยี่ยมชมนิทรรศการภายในงานด้วยความสนใจ
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก