- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Saturday, 08 April 2017 08:49
- Hits: 9387
TK Square Korat อุทยานการเรียนรู้ของเมืองโคราชแหล่งเรียนรู้เพื่อคนทุกกลุ่มทุกวัย กับการร้อยเรื่องเล่า'โคราช'จากภาพอดีต ถึงปัจจุบัน...สู่...อนาคต
เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 4 เมษายน 2560 สำหรับอุทยานการเรียนรู้นครราชสีมา หรือ ทีเค สแควร์ โคราช (TK Square Korat) แหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ตามแนวคิด'ห้องสมุดมีชีวิต'จากความร่วมมือของ สำนักงานบริการและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) โดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ และเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน การแสวงหาความรู้และเป็นเวทีในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ให้กับเด็ก และเยาวชนในจังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านต่างๆ ให้กับประชาชนได้อย่างครอบคลุมทุกกลุ่มทุกวัย รวมถึงผู้พิการที่นั่งรถเข็น ก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้อย่างสะดวกสบาย โดยในพิธีเปิดครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มาเป็นประธานในพิธี
นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือที่รู้จักกันในชื่อของ ทีเค พาร์ค (TK park) กล่าวต่อสื่อมวลชนในพิธีเปิดครั้งนี้ว่า อุทยานการเรียนรู้นครราชสีมา หรือ TK Square Korat เป็นเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้แห่งที่ 21 ที่เปิดให้บริการตามแนวคิดห้องสมุดมีชีวิต จากความร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ทีเค พาร์ค และเทศบาลนครราชสีมา ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ที่มีความทันสมัยภายใต้แนวคิด’ห้องสมุดมีชีวิต’ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดนิสัยรักการอ่าน การแสวงหาความรู้และการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับเด็ก เยาวชนและประชาชนทุกกลุ่มทุกวัยในจังหวัดนครราชสีมาและพื้นที่ใกล้เคียง
ทีเค พาร์ค ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านห้องสมุดมีชีวิต และให้คำปรึกษาแนะนำด้านกายภาพ สนับสนุนหนังสือและสื่อการเรียนรู้ ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมเชิงสาธิต และเรื่องของการบริหารจัดการ เพื่อให้ TK Square Korat เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไปของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นทุนมนุษย์ของประเทศ ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงและนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเรียนรู้ไปพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ในยุคดิจิทัลได้อย่างเท่าทัน และยั่งยืนต่อไปในอนาคต”
นอกจากนี้ ทีเค พาร์ค ยังได้จัดทำสื่อสาระเพื่อการเรียนรู้ท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยหนังสือทั้งหมด 4 เล่ม ได้แก่ หนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กเล็กอายุ 4-5 ปี เรื่อง ‘นั่งรถไฟไปโคราช’เป็นเรื่องของพี่บุญทุยกับหมามอมที่ชวนกันขึ้นรถไฟสายพญานาคไปเที่ยวเมืองโคราช ได้เจอกับผองเพื่อนใหม่ๆ รู้จักอาหารการกินและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ของโคราช เป็นหนังสือที่สร้างสรรค์เพื่อให้เหมาะกับวัยของเด็กที่กำลังอยากรู้อยากเห็น ต้องการเรียนรู้โลกกว้าง และต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและสภาพแวดล้อมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
ต่อมาเป็นหนังสือสาระท้องถิ่นสำหรับเด็กอายุ 7-9 ปี เรื่อง’สองพี่น้องตะลุยแดนอีสาน’ เป็นเรื่องเสมือนจริงของสองพี่น้องจากเมืองกรุง ได้มีโอกาสไปเที่ยวบ้านญาติในถิ่นอีสาน เด็กเมืองกรุงได้ตะลุยท้องนา หาของกินตามธรรมชาติ ซึ่งเรื่องราวสำหรับเด็กประถมศึกษานี้ จะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นจากสภาพชีวิตจริง เพราะเด็กวัยนี้ชอบฟังหรืออ่านเรื่องจริง และหนังสือสำหรับเด็กอายุ 10-12 ปี เรื่อง ‘โคราชบ้านเรา’ เล่มนี้จะมีเรื่องราวและเนื้อหาที่เน้นหนักด้านข้อมูล หรือ หนังสือประเภทสารคดี แฝงความสนุกสนาน รับอรรถรสผ่านการอ่านรวมถึงการออกแบบที่มีลูกเล่นถูกใจวัยรุ่นด้วย ซึ่งหนังสือทั้ง 3 เล่มนี้ได้มีการจัดทำเป็น 2 ภาษาคือ ไทย และอังกฤษ เล่มสุดท้าย เป็นหนังสือ’สาระสนุกสู่กิจกรรมการเรียนรู้’ ซึ่งเป็นคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับคุณครู ผู้ปกครอง และผู้สนใจเพื่อจะได้นำไปต่อยอดองค์ความรู้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับเด็กได้อย่างสนุกสนานต่อไป
ด้านนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวว่า อุทยานการเรียนรู้นครราชสีมา ตั้งอยู่บนถนนพลแสน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เป็นอาคาร 2 ชั้น ขนาดพื้นที่ใช้สอยภายในอาคาร 946 ตารางเมตร และภายนอกอาคารอีก 654 ตารางเมตร รวมเป็นพื้นที่ 1,600 ตารางเมตร โดยปรับปรุงจากอาคารชุณหะวัณเดิม
ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของสำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกของจังหวัดนครราชสีมา เทศบาลนครนครราชสีมาได้รับอนุญาตจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมา และได้รับความยินยอมจากจังหวัดนครราชสีมา ให้ใช้อาคารชุณหะวัณและที่ดินโดยรอบริมคูเมืองนารายณ์รังสฤษฏ์ ให้เป็นรูปแบบของอุทยานการเรียนรู้ตามแนวคิดห้องสมุดมีชีวิต โดยมีการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบของอาคาร เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถรองรับสถานศึกษาซึ่งอยู่โดยรอบ จำนวน 5 แห่ง มีนักเรียนประมาณ 20,000 คน พร้อมให้บริการสำหรับคนทุกช่วงทุกวัย ทั้งเด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป รวมไปถึงผู้พิการ ซึ่งได้มีการจัดทำทางขึ้นพิเศษสำหรับผู้นั่งรถเข็น เพื่อให้สามารถเข้ามาใช้บริการการอ่านและการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมกัน
“TK Square Korat มีการจัดพื้นที่ที่สร้างสรรค์ต่อเนื่องโดยเชื่อมโยงกับพื้นที่กิจกรรมกลางแจ้งสำหรับ เยาวชน พื้นที่ออกกำลังกายและกิจกรรมสำหรับประชาชนทั่วไป นอกจากนี้บนถนนพลแสน ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุทยานการเรียนรู้ ยังมีเส้นทางการเรียนรู้บริเวณใกล้เคียง ได้แก่ บ้านพักผู้พิพากษาเดิมจำนวน 2 หลัง เทศบาลนครนครราชสีมามีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนบ้านพักหลังหนึ่ง ให้เป็นพื้นที่สำหรับให้เด็กและเยาวชนได้มาใช้ประโยชน์สำหรับทำกิจกรรม ส่วนอีกหลังหนึ่งจะเป็น Art gallery & Exhibition แกลเลอรี่สำหรับแสดงนิทรรศการ ผลงานศิลปะของเยาวชนและประชาชน และห้องสมุดประชาชนเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งในอนาคตเทศบาลจะปรับปรุงเพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้กับอุทยานการเรียนรู้นครราชสีมา (TK Square Korat) ผสมผสานเรื่องราวทั้งเก่าและใหม่ ของนครราชสีมาเข้าไว้ด้วยกันให้เป็นถนนสายแห่งการเรียนรู้ในอนาคต”