- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Monday, 17 October 2016 23:12
- Hits: 8060
สสส.-สกอ.-สพฐ.-สอศ. เปิดเวทีพัฒนาศักยภาพ โครงการ Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมือง ปี 2 ให้การอ่านเป็นสะพานเชื่อมหัวใจ บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งสันติสุขในพื้นที่ชายแดนใต้
สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนัก 6 และสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนัก 5 โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สานต่อนโยบายปีปลอดนักเรียน อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในปี 2558 ด้วยโครงการ Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมือง ปี 2 เปิดเวทีพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนให้กลุ่มนิสิตนักศึกษาได้ทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านเพื่อต่อยอดเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยขยายผลสู่พื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส หวังให้เยาวชนไทยมีพัฒนาการด้านการอ่าน การเขียนที่ดีขึ้นโดยใช้พลังของนักศึกษาอาสาสมัคร ‘พี่สอนน้อง’อาศัยความเกื้อกูลระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องเป็นกลไก เชื่อมหัวใจให้เด็กได้พบความสุขจากการอ่าน
ทันตแพทย์ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้แทนผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากรายงานล่าสุดปี 2015 ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก พบว่า มีผู้ใหญ่ที่ขาดทักษะความรู้ขั้นต่ำและไม่รู้หนังสือถึง 775 ล้านคน ขณะที่เยาวชนทั่วโลกไม่รู้หนังสือประมาณ 122,000,000 คน เป็นเพศหญิงร้อยละ 60.7 และ มีเด็กจำนวน 67,400,000 คน ที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มเรียนไม่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานอันเป็นสาเหตุหลักของการไม่รู้หนังสือซึ่งส่งผลต่อชีวิตในอนาคตที่จะยากลำบากมากขึ้น สถิติการไม่รู้หนังสือตลอดครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา นับว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ
“ปัญหาเรื่องการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จะยิ่งท้าทายมากขึ้น ในศตวรรษที่ 21 ความสำคัญของการอ่านจะไม่ใช่เพียงอ่านออกเขียนได้ แต่เป็นทักษะพื้นฐานของการเรียนรู้ตลอดชีวิต และยังมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาวะของประชาชน นอกจากเรื่องสุขภาพกายแล้ว ในด้านสังคม อัตราการว่างงานของผู้ไม่รู้หนังสือสูงกว่าคนที่มีการศึกษาถึง 2-4 เท่า และด้านบุคลิกภาพคนไม่รู้หนังสือจะไม่เชื่อมั่นในตนเองจนมีแนวโน้มโดดเดี่ยวตัวเองออกจากสังคม จากรายงานของ สพฐ. ชี้ชัดว่า สถานการณ์การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นั้นส่งผลกระทบระยะยาวต่อสัมฤทธิ์ผลทางการเรียนรู้ของเยาวชน โดยผลการเรียนของนักเรียนในพื้นที่นี้มักรั้งท้ายอยู่ใน 10 อันดับสุดท้ายของประเทศ ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานปี พ.ศ. 2551 ของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ พบว่า ค่าร้อยละของการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของนักเรียนในจังหวัดชายแดนใต้อยู่ในระดับที่สูงมาก คือ ร้อยละ 25 ของเด็กชั้นประถม 3 อ่านไม่ออก ในขณะที่ร้อยละ 42 ไม่สามารถเขียนได้ ถ้าเด็กๆ สามารถใช้ทั้งภาษาแม่และภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว เด็กๆ จะเรียนได้ดีขึ้นและมีโอกาสมากขึ้นในอนาคต องค์กรร่วมจัดโครงการนี้ทั้ง 4 องค์กร จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จากประสบการณ์ในการทำงาน กลยุทธ์ เทคนิคต่างๆ ที่สำคัญคือความเอื้ออาทรระหว่างรุ่นพี่นักศึกษาและรุ่นน้องนักเรียนของโครงการ Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมือง2559-2560 จะเป็นแรงขับเคลื่อนเล็กๆที่ช่วยลดทอนช่องว่าง ความแตกต่าง และความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ได้ด้วยพลังความสุขจากการอ่าน เป็นอีกพลังบริสุทธิ์ของเยาวชนที่ช่วยสร้างสันติสุขในพื้นที่ภาคใต้”ทันตแพทย์ศิริเกียรติ กล่าว
ด้าน คุณสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า จากที่รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการประกาศนโยบายให้ปี 2558 เป็นปีปลอดนักเรียน อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ นำมาสู่การสานต่อนโยบายให้เป็นรูปธรรมโดยการบูรณาการระหว่างสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนัก 6 และสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนัก 5 โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และ 2 หน่วยงานด้านการศึกษา ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมืองต่อเนื่อง 3 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา สร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมการอ่านช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษา ที่ประสบปัญหาการอ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง รวมถึงปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้มีพัฒนาการด้านการอ่าน การเขียนที่ดีขึ้น
สำหรับ โครงการ Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมือง ในปี 2558 ที่ผ่านมา มีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วม 36 โครงการ มีนักศึกษาและอาจารย์ที่เป็นแกนนำและเครือข่ายจิตอาสา จำนวน 2,120 คน ในพื้นที่ทำงานรวม 44 แห่ง กระจายในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ โดยความสำเร็จที่พบ ได้แก่ มากกว่าร้อยละ 80 ของนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนสนใจอ่านหนังสือ มีความตั้งใจในการทบทวน การอ่าน การเขียนมากขึ้น มีแนวโน้มผลการเรียนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีจำนวนนักเรียนที่ค้นคว้า ใช้บริการห้องสมุดก็มีจำนวนมากขึ้น ในส่วนของนักศึกษาอาสาสมัคร Gen A เมื่อเข้าร่วมโครงการได้เกิดการเรียนรู้และเห็นคุณค่าในตัวเอง การเปลี่ยนแปลงทัศนคติภายในจิตใจ โดยเฉพาะความมีจิตอาสา ตระหนักถึงปัญหาส่วนรวม การทำงานร่วมกันเป็นทีม ฝึกความอดทน และสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ ทำให้เห็นว่าพลังคนรุ่นใหม่ ที่ใช้พลังสร้างสรรค์ในการส่งเสริมการอ่านเป็นแนวทางเสริมพลังบวก ส่งเสริมคุณค่าในตนเอง เพื่อร่วมแก้ไข พัฒนาและร่วมขับเคลื่อนสังคมต่อไป
“จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น นำมาสู่การพัฒนาโครงการ Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมืองปี 2559-2560 ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ จังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส โดยครั้งนี้มีภาคีความร่วมมืออีก 1 องค์กรร่วมดำเนินงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และในปีนี้โครงการ Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมือง มีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมจำนวน 21 โครงการ โดยจะบูรณาการตอบสนองนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เราจึงมุ่งหวังให้พลังของนักศึกษาอาสาสมัคร เป็นเหมือนสะพานแห่งหัวใจที่มีความเอื้ออาทร มีหนังสือ เป็นมิติที่ได้เชื่อมหัวใจ ให้เด็กๆ ได้พบความสุขจากการอ่าน เพื่อเป็นรากฐานของการสร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตต่อไป”
นอกจากนี้ ภายในงานเวทีพัฒนาศักยภาพ โครงการ Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมือง ปี 2 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 ตุลาคม 2559 ณ โรงแรมหาดใหญ่ พาราไดซ์ โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดสงขลา นอกจากจะได้รับฟังข้อมูลรายละเอียดต่างๆ จากผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกิจกรรมการอ่านต่างๆ ภายในงานแล้ว ยังจัดนิทรรศการอีกมากมายเพื่อสร้างความเข้าใจและการพัฒนาโครงการในกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการ และภาคีต่างๆ ที่ร่วมดำเนินงานมากยิ่งขึ้น อาทิ นิทรรศการรู้จัก Gen A นิทรรศการเปิดมิติ ความสุขจากการอ่าน คือ รากฐานของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เรื่องราวบันดาลใจจากนักส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมชวนอ่านที่แสนสนุก ฯลฯ เป็นต้น