- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Monday, 13 June 2016 18:42
- Hits: 3085
'นิเทศฯแสตมฟอร์ด' จับมือ'วู้ดดี้ เวิลด์'แนะธุรกิจอีคอมเมิร์ซต้องปรับตัว ปั้นแบรนด์ให้แตกต่าง ด้วย Content Marketing หวังผล User Generated Content
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด จับมือ วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา(ประธานบริษัท บริษัท วู้ดดี้ เวิลด์ จำกัด) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย แนะธุรกิจอีคอมเมิร์ซต้องปรับตัว ปั้นแบรนด์ให้แตกต่าง ด้วย Content Marketing หวังผล User Generate Content
วุฒิธร มิลินทจินดา ที่ปรึกษาด้าน Content Marketing คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด และ ประธานบริษัท บริษัท วู้ดดี้ เวิลด์ จำกัด เปิดเผยว่า“หลายปีที่ผ่านมาตลาดอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดในประเทศไทย มีผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในไทยหลายแสนรายทำธุรกรรมซื้อขายผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ และออนไลน์ มาร์เก็ตเพลส ผลสำรวจล่าสุดจาก PwC, Total Retail Survey, 2016 ที่กล่าวถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคผ่านช่องทางค้าปลีกรวมถึงการซื้อสินค้าทางมือถือและโซเชียลมีเดีย พบว่า ไทยเป็นประเทศที่มีนักช็อปออนไลน์ซื้อสินค้าโดยตรงผ่านทางโซเชียลมีเดียมากที่สุดในโลกถึง 51% รองลงมาคืออินเดีย มาเลเซีย และจีน ตามลำดับ ตัวเลขแสดงถึงการที่คนไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการมากกว่าแต่ก่อน
สำหรับ ในประเทศไทยคนไทยมีการใช้อินเตอร์เน็ตซื้อสินค้าและบริการออนไลน์กว่า 44 % ค้นหาสินค้า หรือบริการผ่านออนไลน์ 48% เข้าชมเว็บไซต์ของร้านค้าออนไลน์ 40% สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านแล็ปท็อป หรือคอมพิวเตอร์ 39% และสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟน 31% จากตัวเลขชี้ให้เห็นว่ามีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตและจำนวนผู้ใช้ Social Media อยู่ในทิศทางขาขึ้นและไม่มีทีท่าที่จะลดลง ตัวเลขยังแสดงถึงแนวโน้มที่ผู้บริโภคและนักช็อปใช้เวลาในการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการก่อนการตัดสินใจซื้อสูงขึ้น หรือที่เรียกว่า Zero Moment of Truth อาทิ การเข้าไปอ่านรีวิวในบล็อกต่างๆ หรือ การเข้าไปหาข้อมูลในเว็บไซต์หรือแฟนเพจของแบรนด์ รวมถึงข้อมูลจาก Third party ที่เผยแพร่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่ตนกำลังสนใจ
ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งในผู้ผลิตคอนเทนท์เจ้าหนึ่งในเมืองไทย อีกทั้งผลิตรายการโทรทัศน์ สร้างสรรค์งานในสื่อ Social Media และจัดงาน Music Festival ระดับนานาชาติ โดยผมได้สังเกตทิศทางและแนวโน้มการทำคอนเทนต์ของผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เน้นการโฆษณาแบบฮาร์ดเซลส์ก็เปลี่ยนมาเน้นการทำคอนเทนต์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นและยังเน้นการสร้าง Brand Engagement ระหว่างแบรนด์และกลุ่มเป้าหมายเพิ่มมากขึ้นอีกด้วยโดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้เพื่อพูดคุยสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายของตัวเองโดยตรง ซึ่งช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับแบรนด์ที่ต้องทำการสื่อสารกับลูกค้าในมุมที่ลูกค้าอยากรู้โดยยึดหลัก Customer Focus และใช้กลยุทธ์ Influencer & Content Marketing Strategy ในการสร้างความเชื่อมั่นและสร้างอิทธิพลต่อการซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคมากขึ้น
โดยเน้นทำการตลาดในทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและการแชร์คอนเทนต์เพื่อเป้าหมายในการดึงดูดลูกค้าจนถึงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์กับลูกค้าโดยการเล่าเรื่องราวให้น่าสนใจ เพราะลูกค้าจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาเพื่อเปรียบเทียบราคาและบริการเสมอ ทำให้แบรนด์ต้องสร้างคอนเทนต์ที่นอกจากเอื้อประโยชน์ให้เกิดยอดขายแล้ว ยังต้องมุ่งผลิตคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์ ทำให้คนติดตามและก่อให้เกิดการแชร์จนนำมาซึ่งยอดขายได้ และสุดท้ายต้องสร้าง Brand Engagement ให้เกิดขึ้นเพื่อหวังผลในส่วนของ User Generated Content โดยการเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ติดตามได้แสดงสิ่งที่เขาสนใจเกี่ยวกับแบรนด์ อาทิ การรีวิวผลิตภัณฑ์ การแชร์ข้อความ เป็นต้น เพื่อให้คอนเทนต์ต่างๆที่เกิดขึ้นจาก User มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อกับกลุ่มเป้าหมาย
“ปีนี้อัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ผมมั่นใจว่ายังคงอยู่ในทิศทางที่สูงขึ้นมากกว่าปีก่อน โดยแต่ละแบรนด์นอกจากมุ่งทำออนไลน์มาร์เก็ตติ้งแล้ว ยังเพิ่มในส่วนของการทำ Content Marketing เพื่อเพิ่ม Brand Engagement ให้สูงขึ้นและเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงอีกด้วย ผู้ประกอบการไทยที่ปรับตัวได้ก่อนโดยพัฒนาคอนเทนต์ที่มุ่งเข้าหาผู้บริโภคย่อมได้เปรียบในภาวะการณ์ตลาดเช่นนี้”
ข้อมูลอ้างอิง : จาก PwC, Total Retail Survey, 2016 http://thaipublica.org/2016/04/pwc-18-4-2559/