- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Saturday, 14 May 2016 20:34
- Hits: 2861
เปิดตัว 'โครงการจัดทำกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน : ติดปีกความรู้ สู่นอกห้องเรียน' ส่งเสริมเยาวชนไทย เรียนรู้ตามแนวทาง STEM ควบคู่พัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21จาก 11 หน่วยงาน รวบรวมกว่า 50 กิจกรรมปูพรมจัดทั่วประเทศ
คณะกรรมการบูรณาการด้านพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ เดินหน้าส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนไทย สนองนโยบายรัฐบาลที่มุ่งติดอาวุธทางปัญญาให้เยาวชน เปิดตัว โครงการจัดทำกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน : ติดปีกความรู้ สู่นอกห้องเรียน เน้นจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ตามแนวทาง STEM ควบคู่พัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โดยใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน พร้อมจัดกิจกรรมสร้างสรรค์และอำนวยความสะดวกให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ มุ่งกระจายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้แก่เยาวชนในทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม เพื่อกระตุ้นและปลูกฝังให้รู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเองตามความถนัดและนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งยกระดับคุณภาพและมาตรฐานแหล่งเรียนรู้ของไทยให้สามารถบริการด้านองค์ความรู้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง เพื่อส่งเสริมให้คนไทยทุกเพศทุกวัยและทุกพื้นที่ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเองและพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน ส่งผลให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงนำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการฯ โดยหนึ่งในวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนโดยใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับเยาวชน
“โครงการจัดทำกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน : ติดปีกความรู้ สู่นอกห้องเรียน เป็น 1 ใน 5 โครงการนำร่องภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ที่สนองตอบนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการจัดกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนตามหลักการ STEM Education ที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เน้นย้ำและให้ความสำคัญตลอดมา ในการบูรณาการความรู้สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ (Science) คณิตศาสตร์ (Mathematics) เทคโนโลยี (Technology) และวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) เน้นให้ผู้เรียนสามารถนำไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในทฤษฎีหรือบทเรียนในห้องเรียนผ่านการปฏิบัติจริง ควบคู่กับการพัฒนาทักษะการคิด การตั้งคำถาม การค้นหาข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อค้นพบใหม่ๆ พร้อมทั้งสามารถนำข้อค้นพบนั้นไปบูรณาการใช้ในชีวิตประจำวันได้ และสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาการศึกษาในอนาคตของกระทรวงศึกษาธิการ
โดยหน่วยงานที่ร่วมจัดทำกิจกรรมทั้ง 51 กิจกรรมภายใต้โครงการฯ ประกอบด้วย 11 หน่วยงาน ภายใต้ 7 กระทรวง ซึ่งเป็นเจ้าขององค์ความรู้และมีประสบการณ์ในการจัดกิจกรมการเรียนรู้โดยตรง มีกลุ่มเป้าหมายหลักได้แก่ เยาวชน ครู อาจารย์ และสถาบันการศึกษา และมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ผ่านกระบวนการนำเสนอที่น่าสนใจ สนุกสนาน เข้าใจง่าย และตามความสนใจของผู้เรียน อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการพัฒนาแนวทางการศึกษาของประเทศที่ต้องการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้รู้จักคิด วิเคราะห์ และต่อยอดองค์ความรู้ต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ มีวิสัยทัศน์ สามารถพัฒนาตนเองและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ จากแหล่งเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ ภายใต้คณะกรรมการฯ
พลอากาศเอก ประจิน กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังได้จัดทำคู่มือกิจกรรมนอกห้องเรียนโดยรวบรวมข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ ภายใต้คณะกรรมการฯ และมีความมุ่งหวังที่จะให้สถานศึกษาหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้อย่างคุ้มค่า เพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนตามความพร้อมและความถนัด และคาดหวังว่าโครงการนี้จะได้รับการตอบรับที่ดีจากสถานศึกษา ครู อาจารย์ ตลอดจนเยาวชนให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้และกิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างเต็มที่ เป็นการสร้างความร่วมมือเชิงรุกของหน่วยงานพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาแนวทางและต้นแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ของเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต”