- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Friday, 01 January 2016 21:09
- Hits: 8188
'คุณศุภชัย เจียรวนนท์'รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ สะท้อนมุมมองความคิดด้านการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย จะต้องตอบโจทย์ผู้ประกอบการ
ในการเข้าร่วมวงเสวนา 'การสร้างเครือข่ายเพื่อขยายผลการยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับจังหวัด' ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อเร็วๆ นี้ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เสนอมุมมองความเห็นที่น่าสนใจว่ารูปแบบการศึกษาที่ดีและมีประสิทธิภาพนั้นจะต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ
รูปแบบการศึกษาที่สามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการได้นั้น จะต้องมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงดังนี้ 1.การจัดการศึกษาที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม ครูต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้ความรู้ในมิติเดียวเป็นโค้ชผู้ให้คำแนะนำ ภาคเอกชนไม่ต้องการพนักงานที่รับฟังแต่คำสั่ง แต่ต้องการคนที่คิดและปรับใช้เพื่อเสนอแนะสิ่งใหม่ต่อบริษัท สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถสอนแบบท่องจำได้ บทบาทของครูจึงต้องสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เรียน มองเห็นถึงศักยภาพของเด็กและกระตุ้นศักยภาพนั้นออกมา
2.ยึดกลไกการตลาดเป็นหลัก กรณีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ ของมาเลเซีย ที่พยายามนำผลการสอบของทุกโรงเรียนมาเปิดเผยบนอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในกลไกการศึกษา หากมีการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้สู่สาธารณะกลไกตลาดจะตื่นตัว ครูใหญ่จะตื่นตัวต่อการบริหารโรงเรียน เพราะจะเกิดการแข่งขันระหว่างโรงเรียน และยังสามารถดึงการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้ปกครอง รวมถึงภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุนกองทุนโรงเรียนหากมีการจัดการที่โปร่งใส
3.การยกระดับนวัตกรรม เพราะทิศทางนวัตกรรมของโลกในอีก 20 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย ไบโอเทคโนโลยี หรือเทคโนโลยีทางชีวภาพ, นาโนเทคโนโลยี หรือเทคโนโลยีขนาดจิ๋ว, ดิจิทัลเทคโนโลยี และโรบอตติก ซึ่งประเทศไทยมีฐานความรู้ที่ได้รับการยอมรับ หากมีการลงทุนแบ่งงบ 2 หมื่นล้านบาท จากงบการศึกษา 6 แสนล้านต่อปี เป็นเวลา 5 ปี เราจะได้แล็บพื้นฐานที่ทำให้ไทยเป็นฮับในระดับภูมิภาคทางการศึกษา ซึ่งจะมีหลายประเทศเข้ามาศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งที่น่าลงทุนเพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ขั้นกลาง พร้อมกันนี้ยังได้ทิ้งท้ายว่า'จุดเปลี่ยนสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จคือ ผู้นำต้องให้ความสำคัญและต้องทำอย่างต่อเนื่อง'
นอกจากเสียงสะท้อนของภาคเอกชนที่มีต่อแนวทางปฏิรูปการศึกษาแล้วในส่วนของประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. นพ. ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ได้เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการศึกษาให้เป็นหน่วยย่อยแบบจังหวัดนำร่องแทนการทำพร้อมกันทุกจังหวัด เสนอให้มีระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กที่อาจหลุดออกนอกระบบการศึกษา และควรมีสมัชชาการศึกษาจังหวัดที่มีกฎหมายรองรับ
ในขณะที่ นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา และการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอให้ปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนโดยส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชน กระจายอำนาจสู่สถานศึกษาแทนการควบคุมโดยฝ่ายการเมือง รวมถึงปฏิรูปกฎหมายโดยให้สถาบันอุดมศึกษาโน้มตัวลงสู่ชุมชน
ที่มา : คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558