WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1Bangkok Mini Maker

เชฟรอน และ สวทช. เตรียมจัด Bangkok Mini Maker Faire มหกรรมรวมพล 'เมกเกอร์' นักสร้างสรรค์นวัตกรรม ครั้งแรกในไทย

       บ้านเมือง : 'เมกเกอร์' (maker) เป็นคำที่เราได้ยินกันบ่อยครั้งตามสื่อต่างๆ ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในประเทศไทยยังจำกัดอยู่แต่เฉพาะในกลุ่มผู้สนใจเท่านั้น ทั้งๆ ที่ในหลายประเทศ "เมกเกอร์" และ ‘ขบวนการเมกเกอร์’ (Maker Movement) ได้รับความสนใจและการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคาดหมายกันว่าเมกเกอร์จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต ที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอล และสังคมแห่งนวัตกรรม

       วัฒนธรรมเมกเกอร์ (Maker Culture) มีรากฐานมาจากวัฒนธรรม DIY (Do It Yourself) ที่ผู้คนชอบประดิษฐ์หรือซ่อมแซมสิ่งของต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งมีมานานแล้ว ต่อมาเมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นประกอบกับการเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น อาทิ โปรแกรมโอเพ่นซอร์ส ที่ใครๆ ก็สามารถใช้ได้ฟรี กล้องโดรน หรือเครื่องพิมพ์สามมิติที่มีราคาถูกลง จึงเกิดการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้เพื่อสร้างสรรค์หรือประกอบกับสิ่งประดิษฐ์กันอย่างแพร่หลาย ทำให้รูปแบบของงานประดิษฐ์มีความหลากหลายยิ่งขึ้น นอกจากนั้นด้วยอินเตอร์เน็ตทำให้ผู้ที่มีความสนใจในการประดิษฐ์สามารถค้นหาและรวมตัวกันได้ง่ายขึ้น เกิดการทำกิจกรรมร่วมกันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งช่วยผลักดันให้ขบวนการเมกเกอร์เกิดขึ้นอย่างแข็งแกร่ง

      น.ส.กุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สำหรับในส่วนของ สวทช.ให้ความสำคัญกับการวิจัย พัฒนา ออกแบบและวิศวกรรม ถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการพัฒนากำลังคนเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการจัดงานนี้ ในส่วนของเมกเกอร์คือ จะเป็นผู้ที่ชอบสร้างสรรค์หรือดัดแปลงสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันให้ได้ดังใจ เมกเกอร์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่วิศวกรหรือผู้ที่มีความรู้ในเทคโนโลยีชั้นสูงเท่านั้น งานประดิษฐ์ในขบวนการเมกเกอร์จึงมีหลากหลายตั้งแต่งานไฮเทค เช่น เครื่องพิมพ์สามมิติ กล้องโดรน ไปงานที่ใช้พลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ หรือโลหะ รวมถึงผ้า กระดาษ เซรามิก ไม้ หรือแม้แต่อาหาร ต่างก็รวมอยู่ด้วยทั้งสิ้น ขอเพียงแค่ให้มีความแปลกใหม่และการสร้างสรรค์ไอเดียต่างๆ ผิดแปลกจากคนอื่น

     การเป็นเมกเกอร์ไม่ใช่เพียงแค่งานอดิเรก ผลงานของเมกเกอร์สามารถ ต่อยอดเป็นธุรกิจสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เพราะสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคน ซึ่งการผลิตสินค้าแบบอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากแบบเดิมๆ ทำไม่ได้ โดยรายงานเกี่ยวกับผลที่ขบวนการเมกเกอร์มีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งจัดทำโดยบริษัท Maker Media ร่วมกับ Deloitte ระบุว่าในปี 2013 มีสินค้าจากเมกเกอร์ที่ซื้อขายกันในร้านค้ามากกว่า 1 ล้านแห่ง รวมมูลค่าสูงถึง 1,350 ล้านเหรียญสหรัฐ

      วัฒนธรรมเมกเกอร์เป็นสิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังเพราะเป็นตัวจุดประกายให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ อันเป็นพื้นฐานของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตที่กำลังเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งเป็นยุคที่ต้องการผู้ที่มีความสามารถในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีต่างๆ ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรมเมกเกอร์ที่แข็งแรงจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

      "เมกเกอร์ แฟร์" หรืองานแสดงผลงานของเหล่าเมกเกอร์ ถือกำเนิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาก่อนที่จะขยายออกไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ถึงกับให้จัดงานเมกเกอร์แฟร์ในทำเนียบขาวเป็นครั้งแรก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเมกเกอร์ที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตได้เป็นอย่างดี จึงน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด พร้อมด้วยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกลุ่มเมกเกอร์ในประเทศไทย จะร่วมกันจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 26-27 กันยายนที่จะถึงนี้ ณ ลานหน้าฮาร์ดร็อค สยามสแควร์ ซอย 11 โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมงานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

       ดร.ฉัตรชัย ธนาฤดี ผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยถึงจุดประสงค์ของการจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire ว่า "เชฟรอนเล็งเห็นว่าวัฒนธรรม เมกเกอร์เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ผลงานของเมกเกอร์มากมายสามารถพัฒนาเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เมกเกอร์จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต ที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอล และสังคมแห่งนวัตกรรม

     เป็นยุคที่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไม่ใช่การเป็นแหล่งรับจ้างผลิตสินค้าที่มีค่าแรงงานถูกอีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ และการเป็นผู้ประกอบการ เราจึงร่วมกับ สวทช. และกลุ่มเมกเกอร์จัดงาน Bangkok Mini Maker Faire ขึ้น เพื่อเป็นเวทีให้เมกเกอร์จากทั่วประเทศได้แสดงผลงานการสร้างสรรค์ของตน แลกเปลี่ยนความเห็น และทำกิจกรรมร่วมกัน ตลอดจนส่งเสริมให้วัฒนธรรมเมกเกอร์เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนหันมาสนใจและเป็นเมกเกอร์กันมากขึ้น"

      "ในงาน เราจะได้เห็นผลงานและความคิดสร้างสรรค์ของเมกเกอร์กลุ่มต่างๆ ที่มาจากทั่วประเทศ รวมถึงจะมีงานจากต่างประเทศมาจัดแสดงด้วย นอกจากนั้น ทางเชฟรอนประเทศไทยและ สวทช. ยังจะร่วมกันประกาศผลการประกวดการออกแบบการพิมพ์ 3 มิติ (3D printing) จากโครงการ Enjoy Science: Let's Print the World อีกด้วย ซึ่งถือเป็นหนึ่งโครงการฯ ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป และได้รับความสนใจมีคนส่งผลงานเข้าประกวดถึง 149 ผลงานด้วยกัน ผู้ชนะจะได้ไปร่วมงาน Maker Faire Berlin ที่ประเทศเยอรมนี"

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!