- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Sunday, 24 May 2015 18:08
- Hits: 4286
เผยไทยติดอันดับ 57 ลงทุนการศึกษาชี้โลกเศรษฐกิจวัดกันที่ทรัพยากรมนุษย์
บ้านเมือง : น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ นักวิชาการด้านนโยบายการศึกษาต่างประเทศสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวถึงรายงานผลการจัดอันดับดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Index) ปี 2015 โดยเวทีเศรษฐกิจโลกหรือเวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่ม จากการจัดอันดับใน 124 ประเทศ พบว่า ฟินแลนด์ ได้รับเลือกให้เป็นประเทศที่มีการพัฒนาทุนมนุษย์เป็นอันดับ 1 ของโลก ตามด้วย นอร์เวย์ (2) สวิตเซอร์แลนด์ (3) แคนาดา (4) และญี่ปุ่น (5) ตามลำดับ โดยประเทศในทวีปยุโรปติด 10 อันดับมากที่สุดถึง 7 ประเทศ ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในลำดับปานกลางคืออันดับที่ 57 ส่วนประเทศในกลุ่มเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์ (อันดับที่ 24) เกาหลีใต้ (30) ฟิลิปปินส์ (46) มาเลเซีย (52) เวียดนาม (59) และจีน (64) ส่วนหลายประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกามีคะแนนรั้งท้ายเนื่องจากความเหลื่อมล้ำ โดยผู้หญิงมีโอกาสทางการศึกษาน้อยกว่าผู้ชาย
นักวิชาการ สสค. กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยการประเมินสมรรถนะทุนมนุษย์ในแต่ละช่วงอายุพบว่า ประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปี ไทยอยู่อันดับที่ 68 โดยประเมินจากจำนวนการเข้าเรียนทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษา คุณภาพของประถมศึกษา และการใช้แรงงานเด็ก ประชากรช่วงอายุระหว่าง 15-24 ปี ซึ่งถือเป็นเยาวชน ไทยอยู่อันดับที่ 41 ประเมินจากจำนวนการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา การเรียนสายอาชีพ คุณภาพของระบบการศึกษา และการอ่านออกเขียนได้ ประชากรกลุ่มช่วงอายุระหว่าง 25-54 ปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มวัยแรงงาน ไทยอยู่อันดับที่ 57 จุดเน้นการประเมินคือ การเรียนรู้ต่อเนื่องระหว่างการทำงาน ทักษะฝีมือการทำงาน ระดับการศึกษาขั้นสูงสุดและโอกาสในการจ้างงาน ประชากรช่วงอายุระหว่าง 55-64 ปี และอายุมากกว่า 65 ปี ไทยอยู่อันดับที่ 71 และ 73 ตามลำดับ โดยพิจารณาจากระดับการศึกษาขั้นสูงสุด โอกาสการจ้างงานและการใช้ชีวิต และช่วงเวลาที่จะมีสุขภาพดีในวัยสูงอายุ
"ข้อค้นพบสำคัญจากการจัดอันดับดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์พบว่า ระบบการศึกษาในหลายประเทศยังขาดความเชื่อมโยงเรื่องการเรียนและการพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การจัดการศึกษาเพียงลำพังของระบบโครงสร้างและสถาบันที่เป็นทางการไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่รวดเร็วกำลังเป็นช่องว่างระหว่างการศึกษาและตลาดแรงงานออกไป แต่ระบบการศึกษาปัจจุบันยังคงเน้นเนื้อหาและความจำ ขณะที่ทักษะความสามารถ เช่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น ความคิดสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหากลับมีความสำคัญมากขึ้น ดังนั้นเส้นแบ่งระหว่างโลกวิชาการและตลาดแรงงานต้องจางลง เพราะการเรียนรู้และนวัตกรรมเกิดขึ้นตลอดเวลาจากการทำงาน ภาคธุรกิจจึงต้องทำงานร่วมกับนักการศึกษาและรัฐบาลเพื่อช่วยให้ระบบการศึกษาสามารถตามทันความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งการจะปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรที่รวดเร็วแบบนี้จำเป็นต้องอาศัยทัศนคติของผู้กำหนดนโยบายที่ต้องสามารถก้าวข้ามวงจรทางการเมืองให้ได้"