- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Tuesday, 05 May 2015 12:05
- Hits: 4724
ระบบสอบ GED ทางเลือกกับการเรียนแบบก้าวกระโดด ที่ผู้ปกครองต้องเรียนรู้!!!
ปัจจุบันมีทางเลือกเกี่ยวกับการเรียนหลากหลายในไทย ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสที่ดีในการศึกษาต่อให้เด็กไทย การสอบ GED เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เรียกได้ว่าเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่มีความสนใจ เนื่องจากอาจมองว่าจะช่วยย่นระยะเวลา และสามารถยื่นผลสอบเพื่อเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาในสถาบันทั้งไทยและต่างชาติที่ตนต้องการได้โดยไม่ต้องใช้เวลาเรียนในระดับมัธยมปลาย 3 ปีตามหลักสูตรปกติ
การสอบ GED (General Educational Development) คือการสอบเทียบเท่าระดับวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลายในประเทศไทยตามหลักสูตรการศึกษาของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เพื่อให้ผู้ที่ไม่ได้จบม.ปลายหรือ High School สายสามัญเพื่อนำวุฒิเทียบเท่าม.ปลายนี้ไปสมัครเรียนต่อในสถาบันการศึกษาชั้นนำในต่างประเทศและในประเทศไทยได้ อาทิ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น โดยนักเรียนผู้เข้ารับการสอบต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป แต่จะได้รับประกาศนียบัตรเพื่อนำไปเทียบผลสอบได้ต่อเมื่อมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ การสอบ GED ใช้วิธีสอบแบบปรนัย โดยทำข้อสอบในคอมพิวเตอร์ที่ศูนย์สอบและต้องผ่านทั้ง 5 พาร์ท ดังนี้ Language Arts, Reading (การอ่าน), Language Arts, Writing (การเขียน), Mathematics (คณิตศาสตร์), Science (วิทยาศาสตร์) และ Social Studies (สังคมศาสตร์) การสอบแต่ละพาร์ทจะมีค่าใช้จ่ายและสามารถสอบซ้ำในพาร์ทเดิมได้ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี เมื่อสอบผ่านจะได้วุฒิการศึกษาโดยผ่านการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการและสามารถนำวุฒินี้ไปสมัครเรียนต่อในสถาบันการศึกษาที่ยอมรับผลสอบระบบ GED เท่านั้น
แม้ผู้ที่สามารถสอบระบบ GED ผ่านแล้ว จะได้เปรียบตรงที่สามารถย่นเวลาในการศึกษาต่อให้ได้วุฒิเร็วขึ้น มีโอกาสก้าวกระโดดแบบ Pass ชั้นโดยไม่ต้องเสียเวลาเรียนมัธยมปลาย 3 ปีตามหลักสูตร และเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าหากเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้จริง เมื่อเรียนในระยะเวลาเต็มตามหลักสูตรโรงเรียนอินเตอร์บางแห่ง
แต่ระบบ GED เป็นข้อสอบ Multiple choices ที่ค่อนข้างง่าย จึงเป็นจุดอ่อน ที่ทำให้นักเรียนที่สอบ GED ส่วนใหญ่อาจมีความรู้ในเนื้อหาวิชาต่างๆไม่แน่นนักและผลสอบจะเป็นการสอบเทียบวุฒิในระดับมัธยมปลาย ผู้สอบจะได้แค่วุฒิบัตรเท่านั้น จะไม่มีทรานสคริปของแต่ละวิชา, เกรดเฉลี่ย และ GPA ที่สามารถยื่นเข้าหลักสูตรปกติได้ เหมือน High School Diploma ไม่สามารถนำ GED ไปยื่นเพื่อเข้าศึกษาต่อในบางมหาวิทยาลัยได้ ที่สำคัญผู้สอบจะต้องสอบให้ผ่านทั้ง 5 วิชาที่กำหนด จึงสามารถนำไปยื่นกับกระทรวงศึกษาธิการได้ แล้วต้องใช้เวลาในรอขั้นตอนการแปลงวุฒิ ซึ่งในระหว่างรออาจทำให้พลาดโอกาสดีๆ ไป
และผู้ที่รับบทบาทหนักที่สุด ก็คือตัวนักเรียนเอง ที่จะต้องมีวินัยอย่างหนัก ในการเตรียมตัวต่อแต่ละวิชานั้นๆ เนื่องจากต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง หากขาดวินัยในการค้นคว้าหาความรู้ก็จะพลาดโอกาสในการสอบผ่านและสมัครเข้าศึกษาต่อได้ หากมองลึกลงไปในเชิงคุณภาพแล้ว การเรียนในระดับอุดมศึกษา ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในแต่ละรายวิชา มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะการเรียนในมหาวิทยาลัยข้อสอบส่วนใหญ่เป็นการเขียน บางรายอาจมีการแสดงความคิดเห็นเชิงอภิปรายโดยอ้างอิงถึงหลักการพื้นฐาน ยิ่งไปกว่านั้น หากในสถาบันการศึกษานั้นไม่มีการเปิดหลักสูตรเรียนปรับพื้นฐาน ผู้เรียนอาจต้องค้นคว้าเอง และเกิดภาระหนักในเรื่องการทำคะแนนในระหว่างเรียน
ผลพวงดังกล่าว อาจนำไปสู่ปัญหาการปรับตัวของผู้เรียนจากสังคมของกลุ่มเด็กสู่การก้าวกระโดดไปยังสังคมกลุ่มปัญญาชน อีกทั้งข้อแตกต่างด้านวัย อาจทำให้ผู้เรียนเกิดภาวะเครียดทั้งในด้านการเรียนและการเข้าเพื่อนกลุ่มใหม่ในสังคมที่กว้างขึ้น ถือเป็นจุดที่น่าเป็นห่วง หากเด็กนั้นยังขาดภาวะและภูมิคุ้มกันทางด้านการตัดสินใจและแก้ไขปัญหา ซึ่งจุดนี้เชื่อว่าตัวผู้ปกครองเอง คือผู้ที่รู้จักตัวตนของลูกหลานตัวเองมากที่สุด
อย่างไรก็ดี ผู้ปกครองนับว่ามีส่วนสำคัญในการกำหนดทางเลือกทางการศึกษาของเด็ก หากเปรียบอนาคตของลูกเหมือนกับการยิงกระสุน 1 นัด ซึ่งอาจมีโอกาสแค่ครั้งเดียว วันนี้ลูกของคุณพร้อมแล้วหรือยัง คุณพ่อคุณแม่อาจต้องเป็นผู้ช่วยตัดสินใจ