- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Thursday, 09 April 2015 10:20
- Hits: 2737
โละจับสลากเข้าม.1 การศึกษาพึ่งดวง
มติชนออนไลน์ : |
คงจะเห็นสภาพความกดดันของนักเรียนที่ต้องลุ้นขณะจับสลากเข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม.1) และ ม.4 บวกความกดดันของผู้ปกครองที่ต้องคอยลุ้น กระทั่งบางคนต้องเดินสายบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้ลูกหลานจับสลากเข้าเรียนได้ จึงทำให้นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เสนอแนวคิดให้ยกเลิกการจับสลากต่อที่ประชุม กพฐ. แม้จะไม่ใช่ประเด็นใหม่ที่เพิ่งพูดถึง แต่อาจจะเป็นการส่งสัญญาณว่า สพฐ.พร้อมจะให้โรงเรียนทั่วประเทศสามารถรับเด็กโดยวิธีการสอบคัดเลือกได้ 100% พลันที่แนวคิดนี้แพร่ออกไป มีความเห็นจากนักวิชาการอย่าง นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า เห็นด้วยกับแนวคิดให้ยกเลิกการจับสลาก พร้อมให้เหตุผลว่า ระยะยาวอัตราการเกิดของเด็กจะลดลง ดังนั้นจำนวนนักเรียนเข้าเรียน ม.1 และ ม.4 จะลดลง เท่ากับอัตราว่างที่มีจึงไม่จำเป็นต้องจับสลาก สพฐ.ต้องวางหลักเกณฑ์การกำหนดสัดส่วนการรับเด็กให้เหมาะสม เน้นการสอบเพื่อรับเด็กที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ควรให้ความสำคัญเฉพาะเด็กเก่ง ต้องมีสัดส่วนสำหรับเด็กยากจน เด็กที่มีความสามารถพิเศษในพื้นที่ด้วย และ สพฐ.ควรประกาศให้ผู้ปกครองทราบภายใน 2 ปี ขณะเดียวกัน สพฐ.ต้องเร่งพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กและกลางเพื่อรองรับนักเรียนด้วย "การจับสลากมักทำให้เกิดภาพสะเทือนใจ คนจับสลากได้ก็ดีใจ คนไม่ได้ก็ร้องไห้ อาจทำให้กลายเป็นเรื่องฝังใจเด็กว่าระบบเข้าเรียนต้องผูกติดกับดวง หรือเครื่องรางของขลังซึ่งไม่ถูกต้อง" นายสมพงษ์ระบุ ด้านนายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาบอกว่า เห็นด้วยและใช้การสอบเข้า 100% แทน เพราะจะเป็นผลดีกับระบบการศึกษาไทยในอนาคต เนื่องจากจะทำให้เด็กนักเรียนเกิดความกระตือรือร้นในการเรียนมากขึ้น เพื่อที่จะได้ใช้ความรู้ความสามารถสอบเข้าโรงเรียนในฝันให้ได้ พร้อมเสนอทางออกถึงปัญหาของเด็กที่สอบเข้าไม่ได้ว่า ต้องแก้ปัญหาด้วยการให้เรียนในโรงเรียนใกล้เคียง หรือโรงเรียนรอบนอกแทน ซึ่งการรับนักเรียนเข้าด้วยการสอบ ถือว่ายุติธรรมที่สุดแล้ว เพราะนอกจากจะทำให้ได้นักเรียนที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันแล้ว ยังเป็นการยกระดับการศึกษาของโรงเรียนทั่วประเทศให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้นได้อีกด้วย ดังนั้นจึงถือว่ามีผลดีมากกว่าผลเสียแน่นอน ด้านนายธัตถพล คชสาร ผู้อำนวยการโรงเรียนถาวรานุกูล อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม บอกว่าเป็นสิ่งที่ดีมากที่จะยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของโรงเรียน ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ 1.โรงเรียนถาวรานุกูลเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล และเป็นโรงเรียนแข่งขันสูงแห่งเดียวใน จ.สมุทรสงคราม ซึ่งการสอบเข้าจะทำให้ได้เด็กนักเรียนที่มีคุณภาพล้วนๆ แต่หากจับสลากจะทำให้ได้เด็กนักเรียนหลากหลาย ซึ่งจะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของโรงเรียนด้อยลงได้ 2.ไม่อยากเห็นสภาพนักเรียนที่จับสลากไม่ได้ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียใจเหมือนกับเป็นการทำร้ายเด็ก แต่หากเด็กจับสลากได้ก็ดีใจจนอาจไม่มีขอบเขต ซึ่งจะเป็นบรรยากาศคนละแบบ จึงไม่อยากเห็นสภาพแบบนั้น หาก สพฐ.ยกเลิกหลักเกณฑ์การจับสลากจึงเป็นสิ่งที่ดี เช่นเดียวกับนายจำเริญ พรหมมาศ รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเขต 2 นครศรีธรรมราช ที่เห็นด้วยกับการยกเลิกจับสลากเข้าเรียน เพราะภาพที่ปรากฏระหว่างจับสลากที่มีทั้งสมหวังและผิดหวัง มองแล้วไม่สวยงาม ถึงเวลาที่จะต้องปฏิรูปการศึกษาใหม่ ให้ท้องถิ่นชุมชนผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมกับการศึกษามากกว่าที่จะให้ข้าราชการเป็นตัวนำ "กระทรวงศึกษาธิการต้องยกระดับการศึกษาโรงเรียนใกล้บ้าน ส่งงบประมาณลงมาให้โรงเรียน พัฒนาครู ให้โอกาสครูได้พัฒนาการเรียนการสอน การเรียนโรงเรียนใกล้บ้านจะช่วยประหยัดงบประมาณลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย ทั้งเด็ก ครู และผู้ปกครอง เป็นการลดภาระและแออัดยัดเยียดในโรงเรียนระดับจังหวัด สมควรสร้างโรงเรียนที่สองของจังหวัด" นายจำเริญระบุ ขณะที่นายสำรวย ไชยยศ โรงเรียนสตรีวิทยา (ส.ว.) 2 ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ให้ความเห็นแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ตามหลักการแล้วระบบการสอบเป็นวิธีที่ดีที่สุดเพราะทำให้โรงเรียนได้นักเรียนเก่ง แต่ส่วนตัวคิดว่าโรงเรียนยังจำเป็นต้องดูแลชุมชนที่สนับสนุนโรงเรียน ดังนั้นการจับสลากยังควรต้องมี โดยอาจจะลดสัดส่วนลง ซึ่ง ส.ว.2 ปัจจุบันแบ่งสัดส่วนการคัดเลือก โดยสอบ 60% และจับสลากคัดเด็กในพื้นที่บริการอีก 40% ปีการศึกษา 2559 ก็ยังคงจับสลากอยู่ แต่อาจจะลดเหลือเพียง 30% นางเบญญาภา คงรอด ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยาซึ่งใช้วิธีสอบเข้า 100% บอกว่า การจับสลากควรคงไว้สำหรับโรงเรียนที่ยังมีความต้องการ ที่ผ่านมาเขตพื้นที่ฯพยายามแบ่งสัดส่วนการรับนักเรียนให้เหมาะสม แต่สำหรับโรงเรียนสตรีวิทยาไม่ได้ใช้วิธีการจับสลากแล้ว แต่เปลี่ยนมาเป็นการสอบ แบ่งสัดส่วนเป็นสอบคัดเลือกเด็กในพื้นที่บริการ 60% และสอบทั่วไป 40% และเท่าที่ดูการรับเด็กเข้าเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ค่อนข้างกระจาย ผู้ปกครองมีแนวโน้มเลือกโรงเรียนใกล้บ้านมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการที่ สพฐ.พัฒนาโรงเรียนดีใกล้บ้านให้มีคุณภาพ ด้านนางมัณฑนา ปรียวณิตย์ ผู้ปกครองนักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย บอกว่า เห็นด้วยเพราะจะทำให้โรงเรียนสามารถรับเด็กที่มีคุณภาพ มีความรู้ที่เกาะกลุ่ม ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในภาพรวม ถือเป็นผลดี พร้อมแนะทางแก้ปัญหาสำหรับเด็กด้อยโอกาสว่า หากยกเลิกการจับสลากไปจะเป็นการปิดโอกาสเด็กด้อยโอกาสที่อาจจะเรียนไม่เก่งหรือมีผลการเรียนในระดับปานกลางนั้น ตรงนี้หากเด็กเรียนไม่ดีอยู่แล้ว ถ้าเข้าไปเรียนในโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง อาจจะทำให้เด็กเกิดความกดดัน เรียนไม่ไหว สุดท้ายก็ต้องออกกลางคัน ทางแก้ปัญหาคือ สพฐ.จะต้องหาแนวทางพัฒนาเด็กเหล่านี้ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาเพราะเชื่อว่าเมื่อเด็กตั้งใจเรียนทุกคนจะมีที่เรียนอย่างแน่นอน ขณะที่ ว่าที่ ร.ต.อานนท์ สุขภาคกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 1 กรุงเทพฯ ให้ความเห็นว่า สมควรยกเลิกการจับสลาก แต่สำหรับโรงเรียนบางแห่งที่อาจจำเป็นต้องมีอยู่ ก็ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น โรงเรียนบางแห่งมีโควต้ารองรับลูกหลานของอาจารย์มหาวิทยาลัย อย่างการจัดตั้งโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ กำหนดให้รับลูกหลานของอาจารย์มหาวิทยาลัยเข้าเรียนด้วย แต่หากปีนั้นๆ มีลูกหลานของอาจารย์มากเกินกว่าสัดส่วนที่รับได้ซึ่งเมื่อเด็กทุกคนมีคุณสมบัติเท่าเทียมกัน กรณีนี้ถือว่าอาจจำเป็นต้องจับสลากอยู่ "ผมมองว่ายังมีอีกหลายวิธีที่สามารถใช้แทนวิธีการจับสลาก เช่น ใช้ผลคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) มาประกอบการพิจารณาเข้าเรียน หรืออาจพิจารณาจากผลการเรียนหรือพฤติกรรมการทำความดี ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เด็กอยากทำดีและเรียนดี เพราะมีที่เรียน เรียกว่าเด็กดีมีที่เรียน" ว่าที่ ร.ต.อานนท์กล่าว แม้การยกเลิกการจับสลากจะเป็นแนวทางที่จะทำให้โรงเรียนสามารถคัดเด็กเก่งเข้าเรียนได้มากขึ้น แต่อาจปิดโอกาสทางการศึกษากับเด็กกลุ่มอื่น โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาส เด็กยากจนที่อาจจะเรียนไม่เก่ง ดังนั้น สพฐ.ต้องหามาตรการปิดช่องโหว่ตรงนี้ไว้ด้วย เพื่อไม่ให้เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มมากขึ้น !! |