- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Tuesday, 14 November 2023 00:31
- Hits: 3086
วว. ร่วมต้อนรับรองนายกรัฐมนตรี ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ พร้อมโชว์นวัตกรรมขับเคลื่อนเมืองคาร์บอนต่ำ
วันนี้ (13 พ.ย. 2566) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและมอบนโยบายแก่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. พร้อมผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดร่วมต้อนรับ โอกาสนี้ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมผู้บริหารและนักวิจัย วว. ร่วมต้อนรับและนำเสนอการดำเนินงานนวัตกรรมขับเคลื่อนเมืองคาร์บอนต่ำ ได้แก่ โครงการขับเคลื่อนงานวิจัยด้านไม้ดอกไม้ประดับ โครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร และโครงการศึกษาวิจัย พัฒนาการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์จิตอาสา เพื่อใช้ในการบำบัดของเสียและกำจัดเชื้อโรค
โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวมอบนโยบายว่า มุ่งเน้นย้ำให้กระทรวง อว. ให้ความสำคัญในการตอบโจทย์ ความต้องการของประเทศ และของโลก พร้อมให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยดําเนินการภายใต้หลักการ “เอกชนนํา รัฐสนับสนุน” วาระเร่งด่วนที่สำคัญของกระทรวง อว. ต้องดำเนินการทันที คือ การลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายโอกาสการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ให้กับผู้ปกครอง และนักเรียน
ทั้งนี้ในฐานะของรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงมหาดไทย กระทรวง อว. กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญในการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมวิทยาศาสตร์ สังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่งเหตุผล และสังคมแห่งปัญญา โดยกระทรวง อว. มีองค์ความรู้มากมายที่พร้อมจะถ่ายทอดให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพ แต่การถ่ายทอดนั้นยังเป็นไปอย่างจำกัด องค์ความรู้เหล่านั้นจึงอยู่ในกระทรวง แต่ไม่ได้รับการนำเสนอ และถ่ายทอดไปถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมาย อย่างทั่วถึง ดังนั้น กระทรวง อว. ต้องรับเป็นนโยบายให้ความสำคัญกับการเผยแพร่องค์ความรู้ ในรูปแบบ และช่องทางที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในภาพรวม
“...เมื่อครั้งที่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองในการทำงานของกระทรวงให้เป็นหนึ่งในกระทรวงเศรษฐกิจเพราะความมั่นคงทางสุขภาพของประชาชนคือรากฐานที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวง อว. ก็เช่นกัน ภายใต้การนำของ รมว.ศุภมาส อิศรภักดี กระทรวง อว. จะก้าวสู่ความเป็นกระทรวงเศรษฐกิจที่จะเป็นเสาหลักทางปัญญา และนำพาโอกาสทางเศรษฐกิจสู่ประชาชนต่อไป...” นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวในช่วงท้าย
ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ผลงานที่ วว. นำมาจัดแสดงในครั้งนี้เป็นผลจากการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อย่างเป็นรูปธรรม โดย วว. ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ/เอกชน มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระดับประเทศ ดังนี้
โครงการขับเคลื่อนงานวิจัยด้านไม้ดอกไม้ประดับ วว. ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สถาบันการศึกษาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 13 แห่ง ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านไม้ดอกไม้ประดับในชุมชนท้องถิ่นอย่างมีอัตลักษณ์ เพื่อลดต้นทุนและอันตรายจากการใช้สารเคมีในการผลิต ความเสียหายระหว่างการขนส่ง สำหรับการสร้างมาตรฐานไม้ตัดดอกและดอกไม้เพื่อการบริโภค อันจะนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชนอย่างยั่งยืน
โครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร วว. ร่วมกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สถาบันพลาสติก เทศบาลตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง และจังหวัดระยอง กลุ่มบริษัทสมาชิก Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ในประเทศไทย และ Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management (PPP Plastics) โดยเป็นศูนย์ฯต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย จากการขยายผลความสำเร็จ “ตาลเดี่ยวโมเดล” สู่ภาคเอกชน สำหรับการคัดแยกและยกระดับคุณภาพวัสดุรีไซเคิลเหลือใช้ในชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน มุ่งเน้นการจัดการวัสดุรีไซเคิลที่ต้นทางเพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สร้างงาน สร้างอาชีพ สอดคล้องกับนโยบาย BCG Economy พร้อมขยายผลสำเร็จไปยังจังหวัดต่างๆ ของไทย
โครงการศึกษาวิจัย พัฒนาและการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์จิตอาสา เพื่อใช้ในการบำบัดของเสียและกำจัดเชื้อโรค เป็นการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.จอส.พระราชทาน) ร่วมกับ วว. ตระหนักถึงปัญหาน้ำเสีย ขยะเน่าเหม็น ในแม่น้ำ คู คลอง รวมทั้งปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนจากของเสียต่างๆ และสิ่งปฏิกูล อีกทั้งเพื่อเป็นการงดเว้นการใช้สารเคมีอันตรายในการบำบัดของเสีย จึงได้วิจัยพัฒนาจุลินทรีย์เพื่อการบำบัดน้ำเสีย ที่สามารถนำไปใช้กับระบบบำบัดน้ำเสียได้ทุกระบบ เป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบำบัดน้ำเสียให้ดียิ่งขึ้น และเป็นการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์เข้าไปในระบบโดยตรง ทำให้เกิดการย่อยสลายกลิ่นเหม็น กลิ่นขยะของเน่าเสีย และช่วยบำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ
11539