- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Sunday, 28 December 2014 18:13
- Hits: 5346
'ครูเอกชน'กับแนวทาง.. ปฏิรูปศึกษาในทศวรรษที่ 2
คอลัมน์ มติชนมติครู
ปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง แม้จะเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคน และประเทศชาติก็จริง โดยเฉพาะการที่กระทรวงศึกษาธิการในฐานะที่เป็นเจ้าภาพหลัก ได้ตั้งเป้าของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองว่าจะ "พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาให้ก้าวไปสู่สากล ตลอดจนการเรียนรู้ของคนไทยทุกคนอย่างทั่วถึง รวมทั้ง เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ในมิติต่างๆ และสุดท้ายคือจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหาร และจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบนั้น
หากจะว่าไปแล้วแนวทางนี้น่าจะครอบคลุม และส่งผลดีต่อการจัดการศึกษาโดยรวมก็จริง แต่ในทางปฏิบัติต้องดูรายละเอียดว่าในแต่ละเรื่องจะทำได้มากน้อยแค่ไหน และจะเกิดมรรคผลตามที่ได้ตั้งไว้อย่างไร เหตุผลก็เนื่องจากในความเป็นจริงปัญหาเรื่องการจัดการศึกษานั้นมีหลากหลาย เริ่มตั้งแต่ปัญหาง่ายสุดไปจนถึงยากสุด และในแต่ละพื้นที่ปัญหาก็มีความแตกต่างกันออกไปตามสภาพของสังคม
"ที่สำคัญการ "ปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง" จะประสบผลมากน้อยเพียงใดปัจจัยก็อยู่ที่ผู้ปฏิบัติคือ "ครู" และเมื่อ "ครู" ได้ถูกกำหนดให้เป็นเสมือนเครื่องจักรในการขับเคลื่อนงานด้านปฏิรูปการศึกษาของชาติ จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการขัดเกลาและดูแลเอาใจใส่ รวมทั้ง จะต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญจะต้องเข้าใจนโยบายต่างๆ อย่างชัดแจ้งก่อนที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้เกิดคุณภาพ ที่เหนืออื่นใดถ้ากระทรวงศึกษาธิการต้องการที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาของชาติทั้งระบบ ก็ควรที่จะต้องให้ความสำคัญกับ "ครู" ทุกกลุ่มที่มีอยู่ในหลายสังกัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะ "ครูเอกชน" ที่ปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 1.6 แสนคน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สอนหนังสืออยู่ในโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศกว่า 1 หมื่นโรง และรับผิดชอบต่อเด็กนักเรียนที่มีจำนวน ประมาณเกือบ 4 ล้านคน"
เพราะทุกวันนี้ "ครูเอกชน" ทุกคนไม่เพียงแต่จะทำหน้าที่สอนหนังสืออย่างทุ่มเท และเสียสละ โดยมีโรงเรียนเอกชนต้นสังกัดคอยถือ "ไม้เรียว" จ้องที่จะหวดก้นเป็นระยะๆ เรียกได้ว่าไม่มีสิทธิที่จะ "เบี้ยว" หรือ "อู้งาน" ด้านการเรียนการสอนได้เลยแม้แต่น้อย จนทำให้โรงเรียนเอกชนจำนวนมากทั่วประเทศเจริญก้าวหน้า และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของสังคม ที่น่าเห็นใจก็คือแม้จะต้องรับภาระในการทำหน้าที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติอย่างหนักก็จริง แต่ที่ผ่านมากลับดูเหมือนแทบจะไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐเท่าที่ควร ซึ่งจะเห็นได้จากหลายๆ คนปฏิบัติหน้าที่สอนเด็กนักเรียนในโรงเรียนเอกชนมาเกือบ 20 ปี แต่กลับได้รับค่าตอบแทนน้อยมาก ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมที่เป็นอยู่ รวมทั้งในเรื่องสวัสดิการต่างๆ ก็ถูกภาครัฐ "จำกัดพื้นที่" จนแทบจะเรียกได้ว่าเกือบจะไม่มีที่ให้ยืน ส่งผลให้ "ครูเอกชน" ปัจจุบันมีสภาพที่ไม่ต่างอะไรไปจาก "เศษเนื้อข้างเขียง" ที่แทบจะหาคุณค่าไม่ได้เลย แม้จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นนักสร้างผู้ยิ่งใหญ่ คือสร้างเยาวชนให้กับประเทศชาติก็ตาม
และเมื่อปลายปีที่แล้ว รัฐบาลที่มี "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายว่าจะช่วยเหลือ ""ค่าเบี้ยยังชีพ"" ให้แก่ครูเอกชนในยุค "ข้าวยากหมากแพง" เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ พร้อมทั้งได้กำหนดเพดานในการช่วยเหลือไว้ว่าผู้ที่มีรายได้ไม่ถึง 11,700 บาท จะได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 1,500 บาทนั้น แต่จนถึงขณะนี้ไม่เพียงแต่จะยังไม่ได้สัมผัสกับเงินดังกล่าว แถมยังถูกตัดทอนเงินให้ลดลงเหลือเพียงคนละ 750 บาท และในส่วนอีก 750 บาท ได้โอน "สัมปาทาน" ไปให้โรงเรียนต้นสังกัดเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้โรงเรียนเอกชนทุกแห่งต่างก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายเรียนฟรี 15 ปี กันอย่างพร้อมหน้า
ปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง บนความเชื่อที่ว่าถ้าครูซึ่งถือเป็น ""ปูชนียบุคคล"" มีขวัญ และกำลังใจต่อการทำงานแล้ว ก็จะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาในที่สุดนั้นก็จริง แต่ควรที่จะกระทำกับครูในทุกกลุ่ม ยิ่งถ้าหากมีเป้าประสงค์ที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบด้วยแล้ว โดยเฉพาะ "ครูเอกชน" ที่มีจำนวนกว่า 1.6 แสนคนทั่วประเทศ ก็ควรที่จะได้รับการ ""จัดระเบียบ"" ในการดูแลเอาใจใส่ให้มีขวัญ และกำลังใจในการทำงานเช่นกัน โดยดูแลครูกลุ่มนี้แบบยั่งยืนด้วย
เหตุผลก็เพราะในความเป็นจริง ครูกลุ่มนี้ปัจจุบันที่มีจำนวนไม่น้อย และมีความเป็นอยู่ทางด้านเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะมั่นคงนัก หรือเรียกได้ว่ายังขาดๆ เกินๆ ฉะนั้น ถึงแม้ตัวเองอยากที่จะทุ่มเททำงานให้ประเทศชาติเพียงใด แต่ในเมื่อยังตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ก็ยากที่จะเสียสละทำงานด้านการศึกษาอย่างเต็มที่ได้ ซึ่งก็เป็นไปตามหลักทฤษฎี "5 ขั้นของมาสโลว์" ดังนั้น ภาครัฐควรที่จะต้องเข้าไปเยียวยาในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีขวัญ และกำลังใจยิ่งขึ้น โดยเฉพาะยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันด้วยแล้ว จึงถือว่ามีความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องค่าตอบแทนแก่บุคลากรประเภทต่างๆ รวมไปถึงเรื่องสวัสดิการ เช่น ค่ารักษาพยาบาลสำหรับตนเอง และครอบครัว รวมทั้ง ค่าเล่าเรียนบุตร และอื่นๆ ก็ควรจะได้รับการดูแล ทั้งนี้ ก็เพื่อจะทำให้ทุกคนมีความรู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้ง
ที่สำคัญจะได้เกิดพลังในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา และที่ไม่ควรมองข้ามก็คือจะต้องสร้างค่านิยมใหม่ว่า "ครูเอกชน" ไม่ใช่เป็นเสมือน ""ครูมือสอง"" ดังนั้น การปฏิบัติต่อผู้ประกอบวิชาชีพด้วยกันจงหลีกเลี่ยงการขีดเส้น ""แบ่งเขาแบ่งเรา"" เกินไประหว่างบุคลากรภาคเอกชนกับภาครัฐ จนเสียความรู้สึก ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง พวกเขาเหล่านั้นต่างก็มีจิตวิญญาณ และเป็นผู้สร้างพลังคนให้แก่แผ่นดินเหมือนกัน จะต่างกันก็แต่เพียงว่า "ครูเอกชน" ไม่ได้รับใบประกาศว่าได้ผ่านเกณฑ์การสอบบรรจุให้เป็นข้าราชการและอย่าได้คิดว่าในการช่วยเหลือนั้น ถือเป็นหน้าที่ของโรงเรียนเอกชนแต่เพียงฝ่ายเดียว หากสามารถลบภาพลักษณ์ในความต่างตรงนี้ลงไปได้ด้วย การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
"ก็เชื่อได้ว่า งาน "ปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง" แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ง่าย แต่ถ้าทุกคนมีขวัญ และกำลังใจดี ก็น่าจะรวมพลังกันเป็น "หัวหมู่ทะลวงฟัน"...เพื่อขับเคลื่อนให้ก้าวไปสู่ดวงดาวได้ไม่ยากเย็น"