- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Monday, 19 June 2023 23:43
- Hits: 189
สอวช. – มจธ. จัดพิธีปิดหลักสูตรนักออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รุ่นที่ 5 ปั้นบุคลากร 50 คน เป็นกำลังสำคัญในการแก้โจทย์ปัญหาประเทศ
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดพิธีปิดหลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รุ่นที่ 5 ที่มีผู้เข้าอบรมจำนวน 50 คน พร้อมจัดเวทีนำเสนอข้อเสนอนโยบาย ณ โรงแรม อีสติน พญาไท และผ่านระบบออนไลน์ ในระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายน 2566
ดร.สุชาต อุดมโสภกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการจัดหลักสูตร STIP ว่า เกิดจากการตระหนักถึงความสำคัญของนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยแลนวัตกรรม (อววน.) รวมถึงนโยบายสาธารณะ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลและประชาชน แต่ปัจจุบันจำนวนบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจและเชี่ยวชาญในด้านนโยบาย อววน. มีอยู่อย่างจำกัด และไม่มีสถาบันการศึกษาใดในประเทศไทยที่เปิดหลักสูตรสอดคล้องโดยตรงกับระบบ อววน. จากสถานการณ์ดังกล่าว สอวช. และ STIPI มจธ. เล็งเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าเกี่ยวกับกระบวนการออกแบบและเสนอการดำเนินงานด้านนโยบายของรัฐ ตั้งแต่การศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ของประเทศ เพื่อนำไปสู่การออกแบบนโยบายต่อไป
ดร.สุชาต กล่าวว่า หลักสูตร STIPI ปีนี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 มีผู้เข้าร่วมอบรม 50 คน จาก 24 หน่วยงาน จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งหากนับรวมทั้ง 5 รุ่นได้พัฒนานักออกแบบนโยบายไปแล้วรวมทั้งสิ้น 249 คน และมีข้อเสนอนโยบายในทุกรุ่นที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม นโยบายที่ดีที่สุดไม่ใช่นโยบายที่ได้รับรางวัล แต่เป็นนโยบายที่ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ
ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร รองอธิการบดีอาวุโส ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มจธ. กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มจากที่พวกเราช่วยกันคิดว่า ทำอย่างไรจะเพิ่มจำนวนนักนโยบายทางด้าน อววน. ซึ่งประเทศขาดแคลนอย่างมาก ซึ่งตลอด 5 เดือนของการอบรม จะเห็นว่าต้องมีความรู้ในหลายๆ ด้าน เราโชคดีที่ได้ผู้ทรงคุณวุฒิที่คร่ำหวอดในการออกแบบนโยบายมาโดยตลอด มาช่วยมาเป็นวิทยากรและเป็นโค้ชให้กับผู้เข้าอบรม ต้องขอบคุณ สอวช. พันธมิตร วิทยากร และคณะทำงานที่ทำให้เกิดโครงการดีๆ ขึ้นมา และขอให้ผู้เข้าอบรมนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ประโยชน์ในอนาคต
สำหรับปีนี้ผู้เข้าอบรมได้จัดทำข้อเสนอนโยบายโดยแบ่งเป็น 9 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1 นำเสนอ “การพัฒนาและเพิ่มบุคลากรด้านดิจิทัล เพื่อสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล หรือเป้าหมายที่พึงประสงค์ของการพัฒนาและเพิ่มบุคลากรดิจิทัล” กลุ่ม 2 นำเสนอ “การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก/การพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยนวัตกรรม” โดยศึกษาการพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรกรรายย่อย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วยอัตลักษณ์พื้นถิ่น : กรณีข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กลุ่ม 3 นำเสนอ “การส่งเสริมการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ของกลุ่มวัยทำงาน” กลุ่ม 4 นำเสนอ “การออกแบบกลไก และมาตรการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เหมาะสม” กลุ่ม 5 นำเสนอ “การพัฒนาทักษะบุคลากรภาคการเกษตรในพื้นที่เครือข่ายภาคกลางตอนล่าง” กรณี ตัวอย่างกลุ่มเกษตรผู้ปลูกมะพร้าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ นโยบายไทยสามารถ หรือ Thai Smart กลุ่ม 6 นำเสนอ “การยกระดับเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าด้านเทคโนโลยีฟิวชันของประเทศที่รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต” กลุ่ม 7 นำเสนอ “การถอดบทเรียนกลไกความสำเร็จการทำงานร่วมกัน ของหน่วยงานในระบบด้วย BCG Model” กรณีศึกษามะพร้าวน้ำหอม จ.ราชบุรี กลุ่ม 8 นำเสนอ นโยบาย “วัคซีนไทยสู้โรค (โลก) เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพ” และ กลุ่ม 9 นำเสนอ “นโยบายการส่งเสริมการพัฒนา เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน ของประเทศไทย”
จากนั้นได้มีพิธีมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้สำเร็จการฝึกอบรม รวมถึงมีการประกาศผลทีมที่ได้รับรางวัลจากการจัดทำข้อเสนอนโยบายแบ่งเป็น 3 รางวัล โดยทีมที่ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ กลุ่ม 9 “นโยบายการส่งเสริมการพัฒนา เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน ของประเทศไทย” รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ กลุ่ม 6 “การยกระดับเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าด้านเทคโนโลยีฟิวชันของประเทศที่รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต” และกลุ่มที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ กลุ่ม 8 “วัคซีนไทยสู้โรค (โลก) เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพ” โดยทางกลุ่มได้จัดทำข้อเสนอนโยบายโดย ชู 5 มาตรการหลัก ได้แก่ 1. มาตรการ “รัฐมุ่งเป้า” วิจัยและพัฒนาวัคซีน เน้นจุดแข็งของประเทศไทยที่มีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญในวัคซีนแต่ละเทคโนโลยีการผลิตและมีโครงสร้างพื้นฐาน 2. มาตรการ “วัคซีนไทยไปวัคซีนโลก” ใช้โอกาสในเรื่องที่ทั่วโลก ได้เห็นศักยภาพในเรื่องการวิจัยและพัฒนาวัคซีนของทีมประเทศไทยจากสถานการณ์โควิด 3. มาตรการ “อย. ขั้นเทพ” สร้างความเชี่ยวชาญส่วนที่ประเทศไทยยังขาด และสร้างกลไกการทำงาน ร่วมกันของหน่วยงานภายในและภายนอก อย. 4. มาตรการ “รดน้ำที่ราก” จัดสรรทรัพยากรเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสร้างบุคลากรในการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ให้มีความยั่งยืน และ 5.มาตรการ “บ่อน้ำในบ้าน” ปิดจุดอ่อนจากการไม่มีเทคโนโลยีในการผลิตวัตถุดิบต้นน้ำในประเทศไทย
A6614