- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Sunday, 01 June 2014 20:21
- Hits: 5868
สมศ. ปิ๊งโมเดลจิตอาสา จัดกิจกรรมพัฒนาบุคลากรผ่านกิจกรรมค่ายอาสาฯ ชู 'ซ่อม สร้าง เสริม สอน ศิลป์' หวังเป็นต้นแบบพัฒนาสถานศึกษาห่างไกล
บ้านเมือง : สมศ. ปิ๋งไอเดียกิจกรรมพัฒนาบุคลากร นำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาสถานศึกษาในถิ่นทุรกันดาร ปลูกจิตอาสา รับผิดชอบสังคม นำร่องที่โรงเรียนบ้านปางไม้แดง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เป็นแห่งแรก พร้อมเชิญสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ผู้บริหารโรงเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม บูรณาการความร่วมมือโดยใช้ผลการประเมินไปพัฒนา ผ่านกิจกรรม'ซ่อม สร้าง เสริม สอน ศิลปี'หวังผลผลิตคู่มือจัดค่ายอาสาฯใช้เป็นแม่แบบ
ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพสถานศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า สมศ. ได้จัดกิจกรรมพัฒนาบุคลากรโครงการค่ายอาสาพัฒนาสถานศึกษาในท้องถิ่นทุรกันดาร โดยมีแนวคิดจุดเริ่มต้นจากผลการประเมินคุณภาพภายนอกที่ผ่านมาทั้งสามรอบ พบว่าสถานศึกษาในท้องถิ่นทุรกันดารในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีประมาณ ๑๔,๐๐๐ แห่ง ที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานมีเป็นจำนวนมาก ด้วยข้อจำกัดและขาดความพร้อมทางด้านการศึกษาในหลายๆ ด้าน
"กิจกรรมค่ายอาสาพัฒนานี้ถือเป็นครั้งแรกของ สมศ. ในขั้นเริ่มต้นของโครงการได้คัดเลือกโรงเรียนในกลุ่มที่อยู่ห่างไกลถิ่นทุรกันดารจำนวน ๑ แห่งเป็นโรงเรียนนำร่อง คือโรงเรียนบ้านปางไม้แดง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดกลาง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานการศึกษาเชียงใหม่เขต ๒ โดยนำผลการประเมินมาวิเคราะห์และออกแบบการพัฒนา ผ่านกิจกรรม ๕ ฐาน"
โดยจัดกิจกรรมแบ่งเป็นฐานกิจกรรม'ซ่อม สร้าง เสริม สอน ศิลปี'โดยกิจกรรมในแต่ละฐานจะมีความสำคัญ ที่แตกต่างกัน'ฐานซ่อม'คือการซ่อมแซม'ฐานสร้าง'คือการทำซุ้มหน้าประตู สลับทางเข้าออก ปรับปรุง
ภูมิทัศน์ของโรงเรียนโดยรอบ'ฐานเสริม'เป็นการระดมและจัดหาทรัพยากรต่างๆ มาสนับสนุน เช่น คอมพิวเตอร์ หนังสือ อุปกรณ์กีฬา'ฐานสอน'คือการจัดห้องเรียน 3 ห้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริหาร ครูอาจารย์ได้เข้าร่วมรับฟังและเสวนาแลกเปลี่ยนความ'ฐานศิลปี'จะเป็นการจัดพื้นที่สอนงานปั้นและระบายสีให้กับเด็กนักเรียนให้เกิดจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ สร้างบรรยากาศสุนทรีย์ให้สถานศึกษา
"สมศ.ลงพื้นที่ครั้งนี้เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือ หนึ่ง เราได้เชิญผู้บริหารโรงเรียนต่างๆ มาร่วมกิจกรรมและดูงาน พร้อมกับร่วมพูดคุยถึงปัญหาของแต่ละโรงเรียน โดยนำผลการประเมินมาวางแผนการพัฒนาสถานศึกษา ซึ่งการพูดคุยลักษณะนี้จะช่วยให้แต่ละโรงเรียนที่มีปัญหาต่างกันได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำสิ่งที่ดีที่เด่นของแต่ละที่ไปปรับปรุงโรงเรียนของตน สอง สมศ. มีความคิดที่จะจัดทำคู่มือ Best Practice ซึ่งจะเป็นคู่มือที่บอกวิธีการดำเนินงานจัดค่ายอาสาฯ อย่างละเอียด บอกทุกขั้นตอนว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อแจกแก่สถานศึกษาทั่วประเทศ" ศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าวและว่า "อย่างที่ผมพูดมาตลอดว่า เราต้องการให้สถานศึกษาที่ยังไม่ผ่านการประเมินครั้งก่อน มีผลการประเมินที่ดีขึ้น ก็เท่ากับว่า สมศ.ได้บรรลุพันธกิจที่ตั้งไว้แล้ว"