- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Thursday, 22 December 2022 23:29
- Hits: 2068
มจธ. ร่วมกับ สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย จัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ครั้งที่ 34 (TSB2022) พร้อมตั้งเป้าวิจัย BCG เดินหน้าหนุนวิชาการทุกด้าน
เมื่อวันที่ 24 - 25 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา มจธ. โดย ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี ร่วมกับ สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย จัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ครั้งที่ 34 : The 34th Annual Meeting of the Thai Society for Biotechnology and International Conference (TSB2022) ภายใต้หัวข้อ “Sustainable Bioeconomy: Challenges and Opportunities” ขึ้น ณ ห้องประชุม โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าทางวิชาการ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้กว่า 300 คน
รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า การประชุมนี้ เป็นโอกาสที่ดีในการผลักดันเรื่อง BCG (Bio-Circular-Green Economy) สอดรับกับประกาศ ปฏิญญาของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. 2022 และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่ต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดและมีประสิทธิภาพ โดยพยายามไม่ให้มีของเสียเหลือทิ้ง และต้องไม่เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมภายใต้นโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน
“Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ หลักสำคัญหนึ่ง คือ ลดการเกิดของเสียเหลือทิ้ง พยายามนำมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้มีงานวิจัยด้าน BCG จำนวนมาก เช่น การแพทย์แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยไม่ได้มีการเรียนการสอนคณะแพทย์ แต่เรามีวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการทำงานของแพทย์ และการทำวิจัยเรื่องกากเหลือทิ้งจากโรงไฟฟ้าชีวมวลเราก็นำมาสกัดเพื่อใช้ประโยชน์ได้ เป็นการเกื้อหนุนการทำงานในฐานะการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความรู้ด้านวิชาการในการช่วยเหลือสังคม ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม ที่ทำให้การพัฒนาเดินไปได้ นอกเหนือจากการผลิตบัณฑิตและต้องทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยการกระตุ้นนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น”
ด้าน ศ. ดร.เพ็ญจิตร ศรีนพคุณ นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายใต้หัวข้อ Sustainable Bioeconomy ในปีนี้ที่ประชุมเน้นเรื่องทำอย่างไรที่จะพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้ Bioeconomy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพเข้ามาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะ value chain ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมาทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด
“การดึงคนที่เกี่ยวข้องจากสาขาต่างๆ มารวมกลุ่มกัน เป็นความท้าทาย ทั้งห่วงโซ่คุณค่าที่มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปัจจัยการผลิตของสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ในการนำมาพัฒนาใช้ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด ขณะที่ไทยเองก็มีวัตถุดิบมากแต่บางครั้งก็ไม่ได้รับความสนใจ ดังนั้น เราจึงต้องไปค้นไปปลุกให้เกิดความสนใจขึ้นมา ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้เกิดการขยายองค์ความรู้ใหม่ๆ ในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่วิทยากรแต่ละท่านมานำเสนอมุมมอง ซึ่งจะนำไปสู่การเชื่อมต่อได้ในที่สุด”
ภายในงานประกอบด้วยการบรรยายของวิทยากรรับเชิญและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ในระดับแนวหน้าจากในประเทศและต่างประเทศ อาทิ Prof. Dr. Kohsuke Honda จาก Osaka University ในหัวข้อเรื่อง “In Vitro Reconstitution of Synthetic Metabolic Pathway using Thermophilic Enzymes” ศ. ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น สถาบันวิทยสิริเมธี ในหัวข้อเรื่อง “Enzymes, Biocatalysis and Metabolic Engineering for Sustainability” ศ. ดร.เทวัญ จันทร์วิไลศรี มหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อเรื่อง “Alternative therapeutics to tackle AMR pathogens (ATTACK-AMR): A case of Clostridioides difficile” และ ศ. ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในหัวข้อเรื่อง “Collagen and hydrolyzed collagen from fish skin: Process development and bioactivities” และการนำเสนอผลงานของนักวิชาการและนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในรูปแบบบรรยายและโปสเตอร์ รวม 5 หัวข้อ ได้แก่ Molecular and Medical Biotechnology, Industrial and Environmental Biotechnology, Food Technology and Food Engineering, Agricultural Biotechnology, และ Microbiome and Systematic Biology
ทั้งนี้ ในเวทีประชุมมีการมอบรางวัล 2 รางวัล ประกอบด้วย รางวัล “ปาฐกถาอายิโนะโมะโต๊ะ” แก่นักวิจัยดีเด่นเทคโนโลยีชีวภาพประจำปี 2565 ครั้งที่ 34 ให้แก่ รศ. ดร.ณัฎฐา เลาหกุลจิตต์ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มจธ. จากผลงานวิจัยเรื่อง “โอลิโกเพปไทด์จากกากโปรตีนพืช ด้วยเทคโนโลยีสะอาด เป็นสารส่วนประกอบเชิงหน้าที่มูลค่าสูงในอาหารและการเกษตร” พร้อมทุนสนับสนุนงานวิจัยมูลค่า 100,000 บาท โดยรางวัลนี้ถือเป็นรางวัลที่มอบให้กับงานวิจัยที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ไม่เพียงแต่ตีพิมพ์ในวารสารเท่านั้น
“งานวิจัยนี้ใช้เทคโนโลยีสะอาดหรือเทคโนโลยีสีเขียว (green technology) สำหรับการผลิตโปรตีนไฮโดรไลเสท ประกอบด้วยโอลิโกเพปไทด์และกรดอะมิโนอิสระ ผลิตจากกากโปรตีนพืชและธัญพืช และโปรตีนไอโซเลท ย่อยด้วยเอนไซม์โปติเอส โดยเน้นเฉพาะโบรมิเลน (Bromelain) ซึ่งสกัดได้จากแกนสับปะรดเป็นการลดการใช้สารเคมี ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมสับปะรดในไทย เป็นเศรษฐกิจสีเขียว หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน โอลิโกเพปไทด์ได้นำมาใช้เป็นสารส่วนประกอบเชิงหน้าที่มูลค่าสูง โดยใช้เสริมโปรตีนในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ตลอดจนได้คิดค้นงานวิจัยและพัฒนาการผลิตทำให้ผลิตได้อย่างต่อเนื่องได้ปริมาณมาก ใช้เวลาน้อย ไม่มีกากเหลือทิ้ง ใช้ในอาหาร รวมทั้งได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อนำไปใช้ในการผลิตสารกระตุ้นพืชในเชิงพาณิชย์ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)” รศ. ดร.ณัฎฐา กล่าว
นอกจากนี้ภายในงานยังได้มอบ รางวัลทะกุจิ ประเภทนักวิจัยดีเด่น ให้แก่ ดร.วิรัลดา ภูตะคาม หัวหน้าทีมวิจัย ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จากผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาเทคโนโลยีการค้นหาและจีโนไทป์สนิปประสิทธิภาพสูงเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรไทยและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” ถือเป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักวิจัยที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และที่อุทิศตนให้กับงานวิชาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและมีผลงานโดดเด่น มีคุณภาพ ศักยภาพและสร้างประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง
A12886