- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Thursday, 03 November 2022 10:43
- Hits: 1388
‘เอนก’ มอบ สอวช. สกัดแผนพัฒนากำลังคน ผสมผสานบริบทไทยกับทฤษฎีสากล มั่นใจสู้ต่างชาติได้ ในยุคที่โลกเปลี่ยนเร็ว
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 6/2565 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุม
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. รายงานต่อที่ประชุมถึงมาตรการพัฒนากำลังคนทักษะอนาคต โดยอ้างถึงผลสำรวจของ World Economic Forum ที่รายงานไว้เมื่อปี ค.ศ. 2020 ว่า สถานการณ์โลกที่ส่งผลต่อระบบพัฒนากำลังคนและการจ้างงาน ก่อให้เกิดความต้องการแรงงานในงานแห่งอนาคต ที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนา อาทิ นักวิเคราะห์ข้อมูลและนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Analysts and Scientists), ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องจักร (AI and Machine Learning Specialists), ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Specialists), ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและกลยุทธ์ดิจิทัล (Digital Marketing and Strategy Specialists) ฯลฯ นอกจากนี้ ผลสำรวจสมรรถนะบุคลากรในอนาคตสาหรับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ระหว่างปี พ.ศ. 2563 - 2567 จากภาคเอกชน พบว่า 5 อับดับอุตสาหกรรมที่มีความต้องการอาชีพที่มีความต้องการสูง (Premium Job) ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมดิจิทัล 2.อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต 3.อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต 4.อุตสาหกรรมพลังงานชีวมวลและชีวเคมี และ 5.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
ดร.กิติพงค์ ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ด้านกำลังคนของประเทศไทยว่า มีความท้าทายในเรื่องจำนวนแรงงานบางสาขา ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักลงทุน เช่น สาขาดิจิทัล สาขาบริการทางการแพทย์และสุขภาพ สาขาปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการลงทุนในระยะยาวยังมีอยู่อย่างจำกัด และไม่ทันต่อความต้องการ สอวช. จึงได้จัดทำโมเดลรูปแบบใหม่ในการพัฒนากำลังคนในปัจจุบัน ประกอบด้วย 1) การจับคู่จ้างงานระหว่างผู้ต้องการทำงานกับภาคเอกชนหรือนายจ้าง ซึ่งภาคเอกชนหรือนายจ้างมีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตร 2) การจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่ก้าวข้ามข้อจากัดด้านเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อผลิตกำลังคนทักษะสูงที่ตอบโจทย์ประเทศ และสร้างนวัตกรรมการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) 3) ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างและยกระดับความสามารถของผู้เชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาและพัฒนางานวิจัยในภาคการผลิตและบริการ และ 4) การพัฒนาแพลตฟอร์มทักษะอนาคตให้ทุกคนเข้าถึงได้
โดยได้มีการขึ้นรูปแพลตฟอร์มรองรับความต้องการจากภาคอุตสาหกรรม มาตรการ Thailand Plus Package เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูงทางด้านสะเต็มและส่งเสริมการจ้างงานบุคลากรผู้มีทักษะสูงสะเต็มด้วย โดยบริษัทที่ส่งลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจาก อว. สามารถนำค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ไปขอยกเว้นภาษีเงินได้ 250% ส่วนบริษัทในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จ้างพนักงานใหม่ด้านสะเต็ม สามารถนำค่าจ้างพนักงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ไปขอยกเว้นภาษีเงินได้ 150% และจากการหารือล่าสุดระหว่าง สอวช.กับกรมสรรพากร มีข้อสรุปว่าจะขยายระยะเวลาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการข้างต้นต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี ขณะเดียวกัน สอวช. ยังได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท ไอริส คอนซัลติ้ง จำกัด (ไบร์ทเทอร์บี) ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม BrighterBee Talent Solution ที่จะเปิดให้นักศึกษา 2 ล้านคนเรียนฟรี ในหลักสูตรทั้งด้าน Hard skill และ Soft skill รวมกว่า 250 หลักสูตร ซึ่งสามารถต่อยอดจับคู่สถานประกอบการและได้งานทันทีหลังเรียนจบ
ดร.กิติพงค์ ยังได้เสนอต่อที่ประชุม ถึงกรอบมาตรการการพัฒนากำลังคนทักษะแห่งอนาคตเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะ 5 ปีข้างหน้า ครอบคลุม 6 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1.แพลตฟอร์มทักษะอนาคต (Skill Future Platform) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ถึงความต้องการ การประเมินผล โปรแกรมการอบรม รวมถึงการจับคู่การจ้างงาน 2.บัญชีทักษะอนาคต (Skill Future Account) แนวทางการนำกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Wallet มาใช้ 3.ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) ทีจะเชื่อมโยงกับสถานศึกษาและหน่วยฝึกอบรมทั้งรัฐและเอกชน เชื่อมโยงไปถึงการเข้าสู่เส้นทางอาชีพของบัณฑิต 4.การปรับเปลี่ยนรูปแบบของมหาวิทยาลัย (University Transformation) ผ่านการพัฒนามาตรฐานหลักสูตร จัดทำหลักสูตรที่แตกต่างไปจากมาตรฐานเดิม และมีการทำงานควบคู่ไปกับการเรียนด้วย 5.กำลังคนศักยภาพสูงของไทย (Talent Thailand) มีการจัดทำคลังรวบรวมกลุ่มที่มีศักยภาพสูง และ 6.สิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจ (Incentive) ทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการสนับสนุนด้านการเงิน
ด้าน ดร.เอนก กล่าวว่า การพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับบริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในส่วนของบริบทของประเทศไทยอยากให้คิดนอกกรอบและเสริมทักษะในส่วนของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry), เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ครอบคลุมถึงการพัฒนากำลังคนด้านศิลปะ สุนทรียะ กีฬา การท่องเที่ยว การแพทย์ รวมถึงการพัฒนากำลังคนในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่จะเป็นสัดส่วนประชากรสำคัญของไทย ต้องดึงคนเหล่านี้เข้ามาเป็นกำลังของประเทศ สร้างรายได้เข้าประเทศ นอกจากนี้ ยังแนะให้เห็นถึงการปรับบทบาท ปรับกระบวนทัศน์ ปรับวิธีคิดของนักศึกษาและมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยจะต้องปรับรูปแบบเป็นมหาวิทยาลัยของบริษัทหรือองค์กร (Corporate University) มากขึ้น เช่น แนวทางการจัดการศึกษาในสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติ ทำงานจริงในระหว่างเรียน และสามารถหารายได้ได้ตั้งแต่ยังเรียนอยู่
ทั้งนี้ ดร.เอนก ได้มอบหมายให้ สอวช. จัดทำแผนพัฒนากำลังคนที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเสนอให้สกัดแผนให้เข้ากับบริบทไทยผสมผสานกับแนวทางจากต่างชาติ ค้นหาในส่วนที่เป็นจุดแข็งของเรา ให้รู้ว่าเราเก่งในด้านไหน เก่งเพราะอะไร เพื่อเสริมตาน้ำให้แข็งแกร่งขึ้น หรือมองหาสิ่งที่เรายังขาดเพื่อเติมเต็มในจุดนั้น ให้ได้เป็นแผนพัฒนากำลังคนที่มีความเข้มแข็ง เห็นแนวทางการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถยกระดับการพัฒนากำลังคนของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง
A11168