- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Tuesday, 13 September 2022 12:38
- Hits: 1239
อว. ปลดล็อกข้อจำกัดทางการศึกษา อนุมัติหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ 4 หลักสูตรแรก ตั้งเป้าผลิตบุคลากรตอบโจทย์สำคัญของประเทศรวมมากกว่า 17,000 คน
คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้จัดประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัย ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ศาสตราจารยพิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุม
ดร. เอนก กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวง อว. ได้ขับเคลื่อนและผลักดันให้มีแนวทาง ทั้งด้านกฎหมาย นโยบาย มาตรการที่หลากหลาย เพื่อปฏิรูประบบการอุดมศึกษาให้เท่าทันโลกและความต้องการกำลังคนที่เปลี่ยนแปลงไป หนึ่งในแนวทางสำคัญที่คณะทำงานในกระทรวง อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันขับเคลื่อนอย่างแข็งขัน คือการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) ที่เป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดของการจัดการศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานเดิม เพื่อจัดการศึกษารูปแบบใหม่ สร้างนวัตกรรมการอุดมศึกษา มุ่งเน้นผลิตคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคการผลิต (Demand Driven) เท่าทันความต้องการของประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ
ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมมีมติอนุมัติ 4 หลักสูตรแรก ที่จะเริ่มนำร่องจัดการเรียนการสอนตามแนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ได้แก่ 1) หลักสูตรการผลิตและพัฒนากำลังคนสาขาฉุกเฉินการแพทย์ นำโดยวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยอีก 6 แห่ง และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สถาบันพระบรมราชชนก ตั้งเป้าผลิตกำลังคนสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ระดับผู้ประกอบโรคศิลปะ จำนวน 15,000 คน ภายใน 10 ปี 2) หลักสูตรการผลิตบุคลากร High-tech Entrepreneur นำโดย International School of Management (ISM) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ Harbour.Space University ประเทศสเปน หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (Thaichamber) และบริษัทต่างๆ ตั้งเป้าผลิตกำลังคนที่มีความรู้ขั้นแนวหน้า (frontier knowledge) ด้านเทคโนโลยี จำนวน 400 คน ภายใน 7 ปี 3) หลักสูตรการผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล นำโดยมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล และสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยอีก 6 แห่ง ตั้งเป้าผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล 1,880 คน ภายใน 8 ปี และ 4) หลักสูตรการผลิตกําลังคนศักยภาพสูงที่มีความรู้เชิงลึกด้านวิทยาศาสตร์และแนวคิดเชิงนวัตกรรม นำโดยวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชวิทย์) สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และสถาบันอุดมศึกษา ตั้งเป้าผลิตกําลังคนทักษะสูงที่มีความรู้เชิงลึกด้านวิทยาศาสตร์ และแนวคิดเชิงนวัตกรรม 175 คน ภายใน 9 ปี โดยรวมแล้วจะสร้างบุคลากรที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในด้านต่างๆ ได้ทั้งสิ้นกว่า 17,455 คน
“ในการจัดการศึกษาแบบแซนด์บ็อกซ์ที่มุ่งเน้นให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาควรต้องมีแนวทางการทำงานที่เป็น Top-down จากบนลงล่างมากขึ้น ต้องมองในประเด็นที่สำคัญที่ควรเร่งดำเนินการและทำในเรื่องนั้นอย่างจริงจัง รวดเร็ว ขจัดข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาการทำงานแบบเดิม การออกแบบหลักสูตร เราต้องออกแบบจากจุดแข็งของเรา เป้าหมายต้องชัดเจนว่าจะผลิตคนชั้นเลิศ ให้สามารถออกไปทำงานได้ ผลิตคนเก่งได้ในระยะเวลาสั้นลง ที่สำคัญต้องเอาเด็กเข้ามาเรียนให้เร็วที่สุด เพราะในปัจจุบัน นวัตกรรมต่างๆ เกิดขึ้นจากเด็ก ดังนั้นการจะฝึกด้านการวิจัย ก็ควรต้องฝึกตั้งแต่เด็ก ให้มีระยะเวลาในการเรียนที่สั้นกว่าการเรียนตามระบบปกติ เน้นการเรียนกับการปฏิบัติจริง และผลงานที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในการวิจัยจะต้องสร้างผลกระทบให้เกิดความก้าวหน้ากับบ้านเมืองได้จริง” ดร. เอนก กล่าว
ดร. เอนก ยังได้เน้นย้ำว่า ทั้ง 4 หลักสูตรที่ได้รับการอนุมัติ เป็นหลักสูตรการจัดการศึกษาที่เน้นการผลิตกำลังคนในสาขาที่ประเทศไทยขาดแคลน โดยมุ่งผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงในหลายด้าน ที่นอกจากจะช่วยรองรับและตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนในการพัฒนาประเทศแล้ว ยังตอบโจทย์โลกของธุรกิจสมัยใหม่ด้วย ซึ่งการจัดหลักสูตรเหล่านี้ในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์จะช่วยปลดล็อกข้อจำกัดในการจัดการศึกษาได้ เพื่อนำไปสู่การจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นสมรรถนะของผู้เรียนอย่างแท้จริง
ด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ในฐานะเลขานุการการประชุมฯ ได้กล่าวสรุปถึง ความก้าวหน้าการพิจารณาข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ซึ่งล่าสุดมีข้อเสนอฯ ที่ได้รับการอนุมัติข้อเสนอเชิงหลักการ จากคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา นำโดย ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล ประธานคณะทำงานฯ รวมแล้ว 8 ข้อเสนอ ได้แก่ 1) ข้อเสนอการผลิตและพัฒนากำลังคนสาขาฉุกเฉินการแพทย์ 2) ข้อเสนอการผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัล (AI) 3) ข้อเสนอการผลิตบุคลากร High-tech Entrepreneur (Harbour.Space) 4) ข้อเสนอแพลตฟอร์มส่งเสริมการผลิตกำลังคนในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 5) ข้อเสนอการจัดการศึกษาฯ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมบูรณาการระบบการผลิต (SI) 6) ข้อเสนอการจัดการศึกษาฯ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) 7) ข้อเสนอการจัดการศึกษาฯ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการจัดการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบองค์รวม (หลักสูตรสองภาษา) และ 8) ข้อเสนอการจัดการศึกษาฯ หลักสูตรการจัดการบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการธุรกิจการบินนานาชาติ
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอการจัดการศึกษาที่เสนอเข้ามาอีกรวมกว่า 169 ข้อเสนอ ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาจากคณะทำงานฯ ทั้งในรูปแบบความร่วมมือระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัย ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชนผู้ใช้บัณฑิต ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านวิชาชีพ รวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานในต่างประเทศด้วย ซึ่งในอนาคตจะมีข้อเสนอฯ หลักสูตรอื่นๆ ที่เริ่มทยอยอนุมัติการนำไปใช้จริง เพื่อให้ครอบคลุมการผลิตและพัฒนากำลังคน ปลดล็อกข้อจำกัดทางการศึกษาในแง่มุมต่างๆ ได้อย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ โดยรวมให้ความเห็นว่า ในการจัดทำหลักสูตรจะต้องมุ่งเป้าไปที่ประสิทธิผลของหลักสูตรให้เห็นผลอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น เพื่อให้สามารถผลิตกำลังคนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงได้ อีกส่วนหนึ่งคือตัวชี้วัดความสำเร็จของหลักสูตรควรมีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายของประเทศ เพื่อให้เห็นว่าหลักสูตรที่เกิดขึ้นใหม่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศก้าวหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ควรมองถึงการทำหลักสูตรร่วมกับผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนอย่างครอบคลุม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานในต่างประเทศด้วย
A9462