- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Tuesday, 16 August 2022 11:36
- Hits: 1240
กระจายอำนาจการศึกษาสู่การลดขนาดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
“หลักการสำคัญของการจัดการศึกษาเชิงพื้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ คือ ‘การกระจายอำนาจ’ ให้พื้นที่เป็นผู้จัดการในฐานะเจ้าของปัญหา เจ้าของพื้นที่ที่เห็นบริบทปัญหา เห็นกลุ่มเป้าหมาย สามารถทำงานได้อย่างใกล้ชิดชัดเจน ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้เพื่อนำไปสู่ความรู้สึกร่วม การใช้ข้อมูลก้อนเดียวกัน ในการทำแผนบูรณาการในการสร้างโอกาสทางการศึกษาลดความเหลื่อมล้ำให้ได้”
รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม อนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีแนวโน้มที่รุนแรงและกระจายตัว ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่และมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำที่ถูกซ้ำเติมจากปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้แนวโน้มความรุนแรง ความยากลำบากเพิ่มขึ้น นับจากปี พ.ศ.2562 ประเทศไทยเรามีคนยากจนที่เราพิจารณาจากเส้นความยากจนประมาณ 4.3 ล้านคน แต่ปี พ.ศ.2563 มีคนจนเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 ล้านคน และเพิ่มขึ้นราว 5 แสนคน ภายใน 1 ปีนับว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย อีกทั้งภาพรวมทางเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนทั้งประเทศ มีลักษณะที่เปราะบางมากขึ้น จะเห็นได้ว่า เงินออมในกลุ่มรายได้น้อยมีแนวโน้มลดต่ำลงหรือแทบไม่มีเลย อีกทั้งประชากรวัยแรงงานที่มีสมาชิกในครอบครัวจะต้องดูแลมีจำนวนมากขึ้น ครัวเรือนที่มีขนาดใหญ่มีสัดส่วนความยากจนมากกว่าครอบครัวขนาดเล็ก ขณะที่ครอบครัวแหว่งกลางที่เด็กอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย ยิ่งมีความยากจนมากขึ้นไปอีก โอกาสที่เด็กกลุ่มนี้จะได้รับการศึกษาก็น้อยลงไปตามไปด้วย
ปัญหาเด็กเยาวชนสาหัสทั้งปริมาณและคุณภาพ
ทั้งนี้จากฐานข้อมูลของ กสศ. ที่มีการคัดกรองเด็กยากจนพิเศษรอบใหม่เมื่อภาคเรียนที่ 1/2564 ที่ผ่านมาพบว่า มีเด็กยากจนพิเศษยากจนเพิ่มขึ้นราว 1.3 ล้านคน และพบว่ายังมีเด็กกว่า 40,000 คนไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าเด็กนอกระบบเหล่านี้เขาไปอยู่ไหน และไม่รู้ว่าเด็กเหล่านั้นได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือยัง หากเราสามารถติดตามเด็กกลุ่มนี้ก็จะทำให้เขาได้รับโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันหากดูตัวเลขเด็กและเยาวชนที่อายุ 15 - 24 ปี พบว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นแรงงานนอกระบบสูงถึง 1.5 ล้านคน ที่หลุดจากระบบการศึกษาด้วยสาเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่วัยใส เด็กแว้น หรือเด็กที่มีปัญหาครอบครัว ซึ่งเด็กกลุ่มนี้กลุ่มเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศในอนาคต
“ข้อมูลที่ผมนำเสนอข้างต้นฉายภาพปัญหาเด็กและเยาวชนในเชิงปริมาณ ขณะที่เชิงคุณภาพก็สาหัส พอกันเป็นเรื่องจริงที่น่ากังวลมากและเกิดขึ้นแล้วกับทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ กสศ.มุ่งหวังพัฒนาต้นแบบการดูแล การคิดค้นนวัตกรรมวิธีการในการแก้ไขปัญหา”
ทั้งนี้ หลักการสำคัญของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ คือ ‘การกระจายอำนาจ’ เราเชื่อว่าการจัดการศึกษาจะประสบผลสำเร็จได้ ต้องลดขนาดการจัดการลง ไม่ใช้รูปแบบเดียวตายตัว แต่เปลี่ยนความคิดว่าการแก้ปัญหาการศึกษาต้องแก้ที่พื้นที่ เพราะพื้นที่จะเห็นบริบทปัญหา เห็นกลุ่มเป้าหมาย สามารถทำงานได้อย่างใกล้ชิดชัดเจน ในฐานะที่เราเป็นคนของพื้นที่และไม่เพียงแต่เป็นเจ้าของพื้นที่เท่านั้น แต่ยังเป็นเจ้าของปัญหาด้วย ดังนั้นการดำเนินงานดังกล่าวหัวใจสำคัญคือ ความรู้สึกร่วมของคณะทำงานในพื้นที่ การใช้ข้อมูล การสร้างการรับรู้ การสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ที่จะเข้ามาร่วมขยายพื้นที่การทำงานในการสร้างโอกาสทางการศึกษา สุดท้ายสิ่งที่เราจะทำร่วมกันก็คือ แต่ละจังหวัดมีแผนบูรณาการระดับจังหวัดว่า เราจะรับมือ เราจะให้โอกาสช่วยเหลือ เด็กกลุ่มนี้ได้อย่างไร ซึ่งแผนบูรณาการระดับจังหวัดนี้ก็จะกลายเป็น ‘เข็มทิศ’ นำทางในการช่วยเหลือเด็กเยาวชนยากจนคนด้อยโอกาสในระยะยาว
หลากแนวคิดลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่
อย่างไรก็ตามในการประชุมดังกล่าวยังเปิดให้มีเวทีเสาวนาของภาคีร่วมดำเนินงานทั้ง 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น ปัตตานี พะเยา พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน ระยอง ลำปาง สงขลา สมุทรสงคราม สุโขทัย สุราษฎร์ธานี และสุรินทร์
● บูรณาการทำงาน ‘กลไก’ ลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่
ขณะที่นางสาวสุภัคกมล ชินวงค์ ศึกษาธิการจังหวัดแม่ฮ่องสอนกล่าวว่า ศึกษาธิการจังหวัดแม่ฮ่องสอนขออาสาเป็น ‘ข้อกลาง’ ในการประสานทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นภาคีเครือข่ายร่วมดำเนินงาน โดยเน้นทำงานกับกลุ่มเด็กที่ด้อยโอกาสที่พ่อแม่มีฐานะยากจนและเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบ ส่วนเด็กที่ต้องการอยู่นอกระบบก็จะจัดการศึกษาตามความสนใจและศักยภาพของเด็กและครอบครัว เช่น หลักสูตรระยะสั้นเพื่อพัฒนาทักษะวิชาชีพ ทักษะชีวิต เพื่อให้เขาก้าวพ้นจากเส้นความยากจน เป็นที่พึ่งของตนเองและครอบครัวต่อไป
● ฐานข้อมูลจังหวัดต้องใช้ได้จริง-บูรณาการได้
ด้าน ผศ.ดร.วิยดา เหล่มตระกูล คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้วที่สมัชชาการศึกษานครจังหวัดลำปางปีร่วมเป็นภาคีจังหวัดจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพราะเชื่อว่า ‘อนาคตของเด็กคืออนาคตของลำปาง’ โดยได้ตั้งเป้าหมายการทำงานไว้ 3 ระยะ คือ 1. ในระยะยาว (อีก3-4 ปีข้างหน้า) ลำปางจะต้องเกิดการยกระดับสมัชชาการศึกษานครลำปาง ให้เป็นองค์กรเชิงโครงสร้าง มีบทบาทในการระดมทุน ระดมสมอง และระดมทรัพยากรจัดตั้งเป็น ‘กองทุนการศึกษา’ 2. ระยะกลาง กลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสหรือเด็กเสี่ยงและเด็กหลุดจากระบบการศึกษาสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ในรูปแบบต่างๆ ตามความสนใจ ส่วนเด็กที่อยู่ในระบบจะต้องมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น และ 3.ระยะแรกจังหวัดลำปางต้องเกิดการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเป็นของตัวเอง ใช้ได้จริง และบูรณาการได้กับทุกภาคส่วน
● สร้างกลไกปกป้อง คุ้มครอง เยียวยา รักษา ส่งเสริมและสนับสนุน
นายคำรณ นิ่มอนงค์ บริษัท สร้างสรรค์ปัญญา จำกัด ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจและเป็นโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ กล่าวว่า แนวคิดการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของจังหวัดสมุทรสงครามคือ การสร้างกลไกปกป้อง คุ้มครอง เยียวยา รักษา ส่งเสริมและสนับสนุนเด็กและเยาวชนในจังหวัด โดยบริษัทฯ จะทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงกลไกภาครัฐ ภาคเอกชน วัด และภาคประชาสังคมให้เข้ามาบูรณาการการทำงานร่วมกัน ภายใต้แนวคิดการทำงานแบบ 3 ชั้น ได้แก่ 1. ชั้น Nano เป็นการเคลื่อนงานของกลไกระดับแนวราบทุกตำบล 2. ชั้น Micro เป็นการทำงานขับเคลื่อนโดยกลุ่ม ครอบครัว ชุมชน สถานศึกษาในระดับพื้นที่ และเครือข่ายเด็กเยาวชนเพื่อเคลื่อนงานกับเด็กในในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กลุ่มเด็กและเยาวชนที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา กลุ่มเด็กเยาวชนนอกระบบ 3. ชั้น Meso เป็นการทำงานชั้นผสมผสานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานในระดับอำเภอและท้องถิ่นเข้ามาเป็นแกนกลาง ที่ต้องทำงานประสานและเชื่อมโยงกันในทุกระดับชั้น โดยชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 เป็นกลไกหลักทำหน้าที่ดูภาพรวมการทำงานทั้งหมด มีคณะอำนวยการระดับจังหวัดที่มีศึกษาธิการจังหวัดมาเป็นกลไกหลักร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม
“การทำงานของคนทำงานทั้ง 3 ชั้นจะก่อให้เกิดระบบ ‘นิเวศการเรียนรู้’ ที่มีเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบเข้ามามีส่วนร่วมทำงานร่วมกับผู้ใหญ่จากทุกภาคส่วน โดยบริษัทจะทำหน้าที่ ‘เชื่อมประสาน’ นอกจากนี้ยังมีการทำระบบข้อมูลสองส่วน หนึ่งคือ การทบทวนข้อมูลเดิม สองคือทำข้อมูลใหม่ผ่านข้อมูลแอปพลิเคชันเพื่อให้คนในพื้นที่เกิดการตระหนักรู้แทนการทำข้อมูลเพื่อจัดเก็บ ในปีแรกเราอยากให้เกิดโมเดลการทำงานของทั้งเด็กในระบบและนอกระบบใน 3 อำเภอ 6 ตำบล เพื่อสร้างนวัตกรรมในการดูแลปกป้อง คุ้มครอง เยียวยา รักษา ส่งเสริมและสนับสนุน ส่วนแผนระยะยาวคือ อยากให้เกิดกองทุนเพื่อการศึกษาของจังหวัดเอง”
A8571