- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Thursday, 17 February 2022 19:43
- Hits: 2620
บพข. มุ่งหน้าปั้นงานวิจัย Future Mobility สู่การผลิตในเชิงพาณิชย์
รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ผลักดันงานวิจัยกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต รองรับการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่จะพลิกไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยเน้นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน เชื่อมโยงการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษาชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ สนับสนุนเป้าหมายให้ไทยไปสู่การมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2065
ดร.สิรี กล่าวว่าเพื่อสนองนโยบายรัฐบาลล่าสุด ด้านการตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2065 รวมถึงการวางตำแหน่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน (ASEAN EV HUB) โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการผลักดันให้มีมาตรการสนับสนุนผลักดันให้เกิดการผลิตในประเทศ การพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง บพข. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมเล็งเห็นความต้องการและศักยภาพของประเทศในการสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมระบบคมนาคมแห่งอนาคต (Future Mobility) จึงตั้งแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคตขึ้น โดยเน้นการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากต่างประเทศ ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมระบบราง และอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ เป็นต้น
รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้ให้การสนับสนุนโครงการที่ผู้เข้าร่วมโครงการมีศักยภาพและมีโอกาสต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมายสำคัญไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยการนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาต่อยอดให้เหมาะกับการใช้งานในประเทศไทย (Technology Localization) ผ่านทางการสร้างความร่วมมือระหว่าง บริษัทเอกชน สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา กลุ่มต่างๆ ทั้งจากในประเทศและจากต่างประเทศ โดยในส่วนของแผนงานกลุ่ม Future Mobility ในภาพรวมมีการพัฒนาโครงการที่มีขนาดใหญ่และเล็กให้เกิดขึ้นไปด้วยพร้อมๆ กัน โดยเน้นให้เกิดการสร้างและพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ ดังต่อไปนี้ กลุ่มยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automoive) เช่น 1. รถบัสโดยสารไฟฟ้า 2. รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า 3. รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 4. เรือไฟฟ้า 5. การพัฒนาชิ้นส่วนสำคัญของรถไฟฟ้า 6. รถกระบะไฟฟ้าดัดแปลง 7. แบตเตอรี่ 8. สถานีอัดประจุไฟฟ้า 9. รถขับเคลื่อนอัตโนมัติ กลุ่มระบบราง (Railway System) เช่น 1. รถไฟรางเบา 2. รถไฟโดยสาร 3. การพัฒนาชิ้นส่วนของรถไฟ และกลุ่มการบินและอวกาศ (Drone and Aviation) เช่น 1. ระบบอากาศยานไร้คนขับ มีการออกแบบระบบการจัดการการขนส่งและโลจิสติกส์สำหรับอากาศยานไร้คนขับอัฉริยะเพื่อการขนส่ง เป็นต้น
ดร.สิรี กล่าวต่อว่า บพข. สนับสนุนทุนวิจัยในการผลักดันอุตสาหกรรมกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต เพื่อผลักดันภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งระบบให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าไปด้วยกันและเน้นให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดผลกระทบสูงในวงกว้าง โดยในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ จะเน้นให้มีการพัฒนา Cutting edge technology เทคโนโลยีที่มีต่อยอดหรือรับการถ่ายทอดจากต่างประเทศและมีความพร้อมในการลงทุนในเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก จะเน้นสร้างความเข้มแข็งด้านการพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็น และกลุ่มที่เป็น Startup จะเน้นการยกระดับความรู้โดยการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่มีโอกาสเติบโตสูงและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยมองว่าบริษัทขนาดใหญ่มีศักยภาพที่จะช่วยบริษัทที่อยู่ในซัพพลายเชนให้ยกระดับความสามารถขึ้นมาได้ด้วย เนื่องจากหากไม่มีการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง Ecosystem และ Supply Chain ไปด้วย อุตสาหกรรมก็จะไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากไม่มีใครทำทุกอย่างได้เองทั้งหมดทุกส่วน ต้องมีการจัดว่าเรื่องไหนใครที่เก่งด้านใดควรทำอะไร รัฐควรจะนำหรือตามภาคเอกชนในเรื่องอะไร และดำเนินการร่วมกัน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย เลขานุการร่วมคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมไทยควรจะมีการพัฒนาไปควบคู่กันและพึ่งพาอาศัยกัน โจทย์ที่ท้าทายในตอนนี้ไม่ใช่เพียงแต่เร่งเครื่องในการพัฒนาและผลักดันกลุ่มผู้ประกอบการที่เก่งอยู่แล้วให้เก่งมากขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องรักษาและช่วยกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่มีทุนและความสามารถที่น้อยกว่าให้มีความสามารถที่เพิ่มขึ้นและอยู่รอดได้ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ไปพร้อมๆ กัน ตัวอย่าง โครงการที่ บพข. ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อยไปพร้อมๆ กัน เช่น การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงไปสู่อุตสาหกรรม (EV Conversion Industrialization) โดยให้ทุนวิจัยไปกับ 5 โครงการที่นำโดย 5 มหาวิทยาลัย ที่จะจัดทำต้นแบบรถไฟฟ้าดัดแปลง ประเภทรถกระบะขนส่งในเชิงพาณิชย์ รวมจำนวนทั้งหมด 11 คัน ซึ่งจะมีการทดสอบการใช้งานจริง เพื่อมาจัดทำ Best Practice และ Guideline ด้านการออกแบบและการทดสอบด้านคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัย และจะมีการเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ชุดนี้ให้กับผู้ประกอบการที่มีความสนใจทั่วประเทศ
A2466