- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Monday, 31 January 2022 23:37
- Hits: 2746
มจธ. ปิดโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการฯ รุ่นที่ 8 พัฒนาศักยภาพคนพิการ
มุ่งสร้างคุณค่าให้ตัวเอง สู่สังคมแห่งโอกาส
โครงการ “ฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ” เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 โดยดำเนินตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 35 ปัจจุบันเป็นปีที่ 8 โดยในปีนี้ได้เริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2564 รวม 6 เดือน และได้รับการสนับสนุนโครงการจากสถานประกอบการซึ่งดำเนินตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 35 จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท ดานิลี่ จำกัด บริษัท ศรีไทยมิยากาว่า จำกัด บริษัท เสถียรอุตสาหกรรม จำกัด บริษัท มาราธอน (ประเทศไทย) จำกัด และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยเป็นการฝึกอบรมในรูปแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting และมีระบบ Moodle ในรูปแบบ e-learning มาใช้เพื่อการเรียนรู้ควบคู่กัน ในหลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน และหลักสูตรการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ดิจิทัล และจัดอบรมในพื้นที่ชุมชนในหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น ล่าสุด ได้มีการจัดพิธีปิดโครงการฯ โดยมี รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวแสดงความยินดี และมอบเกียรติบัตรให้กับคนพิการที่เข้าร่วมฝึกอบรมในโครงการฯ ทั้งสิ้น 55 คน ผ่านระบบ Zoom เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565
รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า การดำเนินโครงการนี้มีการพัฒนา และมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะเห็นบรรยากาศของสังคมใน มจธ. มีความสมบูรณ์ขึ้นในแง่ของบริบทของคนที่หลากหลายเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัยแล้ว ยังทำให้นักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยมองเห็นสังคมที่รอบด้านและการมีจิตสาธารณะมากขึ้น ขณะเดียวกัน โครงการนี้ยังได้พัฒนาหลักสูตร “การพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น” และขยายงานด้านฝึกอาชีพคนพิการ จากการฝึกอบรมภายใน มจธ. ไปสู่พื้นที่ชุมชนเป้าหมายห่างไกล ณ ศูนย์การเรียนรู้บ้านนางอย โพนปลาโหล อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปีแรกและได้รับผลลัพธ์ที่น่าพอใจ มีการสร้างรายได้และอาชีพให้กับคนพิการจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการให้ดีขึ้น
อาจารย์สุเมธ ท่านเจริญ ประธานโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการขับเคลื่อนเพื่อให้คนพิการได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพด้านการประกอบอาชีพที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ มีทักษะ ความรู้ ที่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน และเพื่อเป็นทางเลือกให้สถานประกอบการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมาตรา 35 โดยการฝึกอบรมจะเน้นทักษะเรียนรู้ ฝึกพื้นฐานการใช้ชีวิต ปฏิบัติ และลงมือจริง
สำหรับในปีนี้มี 3 หลักสูตร ได้แก่ 1.หลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน หลักสูตรนี้จะเน้นการฝึกทักษะให้กับคนพิการเข้าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมเหมาะกับคนพิการทุกประเภท ซึ่งมีผู้เข้าอบรม 20 คน 2.หลักสูตรการผลิตสื่อ/สิ่งพิมพ์ดิจิทัล เป็นหลักสูตรที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 เน้นการฝึกทักษะให้กับคนพิการที่ไม่สะดวกในการเคลื่อนไหว หรือไม่สะดวกในการที่จะเข้าสู่สถานประกอบการ แต่ต้องการทำอาชีพอิสระหรือเป็นผู้ประกอบการทำงานเองที่บ้านได้ ผู้เรียนหลักสูตรนี้จะต้องมีพื้นฐานความรู้เดิมด้านคอมพิวเตอร์ มีผู้เข้าอบรมหลักสูตรนี้ 17 คน และ 3.หลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น เป็นหลักสูตรที่จัดทำขึ้นเป็นปีแรก เป็นการฝึกทักษะงานหัตถกรรมเพื่อสร้างรายได้และอาชีพให้กับคนพิการในชุมชน และถือเป็นครั้งแรกของโครงการในการออกไปฝึกอบรมนอกพื้นที่มหาวิทยาลัย โดยได้มีการนำร่องที่ชุมชนบ้านเต่างอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร มีคนพิการเข้าอบรม จำนวน 18 คน รวมคนพิการที่เข้าร่วมอบรมในโครงการฯ รุ่นที่ 8 ทั้งสิ้น 55 คน
ประธานโครงการส่งเสริมฯ กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การจัดฝึกอบรมปีนี้เป็นการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์สำหรับหลักสูตรที่ 1 และ 2 แต่จากข้อจำกัดของการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ทำให้คณะทำงานต้องปรับเปลี่ยนเนื้อหาเพื่อให้มีความเหมาะสม ทั้งด้านกระบวนการอบรม เครื่องมือที่ใช้เพื่อการเรียนรู้ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งนี้ คนพิการที่เข้าร่วมโครงการยังคงได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกับการเดินทางมาฝึกอบรมในมหาวิทยาลัย เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร นอกจากนี้โครงการยังมีแท็บเล็ตให้ยืม เพื่อใช้ในการเรียนรู้ตลอดระยะเวลาของการฝึกอบรม-ฝึกงานฯ
“ในปีนี้แม้ว่าจะเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ทางทีมคณะทำงานได้ปรับเปลี่ยนการทำงานเพื่อให้เข้าถึงและลดทุกข้อจำกัด เป็นโครงการที่เข้าใจคุณค่าของคนพิการ โดยเรามองเรื่องสังคมมากกว่าเรื่องรายได้ เพื่อให้คนพิการและสังคมได้มองเห็นศักยภาพและคุณค่า ของคนพิการที่สามารถพัฒนาให้เป็นที่ปรากฏได้มีพลังในการใช้ชีวิตในสังคม และขณะเดียวกันเราอยากขับเคลื่อนให้สังคมเห็นคุณค่าของพวกเขาด้วย”
ด้านนายกสิน เกิดกรุง (พีท) อายุ 21 ปี ผู้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ รุ่นที่ 8 ในหลักสูตร เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน เล่าว่า เดิมร่างกายก็ปกติ แต่จู่ๆ เกิดภาวะขาอ่อนแรงเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่กำลังศึกษาต่อปริญญาตรี ทำให้ต้องเลิกเรียนกลางคัน เนื่องจากไม่สะดวกในการเดินทาง พอทราบว่ามีโครงการฝึกอบรมฝึกงานคนพิการเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการและกำลังเปิดรับสมัคร จึงสนใจสมัครเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ ซึ่งการเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ได้เรียนรู้โปรแกรมต่างๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้รู้จักเพื่อนใหม่จากในชั้นเรียน มีการเรียนการสอนตามหลักสูตรปกติ คือเข้าเรียนออนไลน์ตั้งแต่วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00-16.00 น. โดยทางมหาวิทยาลัยได้ให้ยืมอุปกรณ์แท็บเล็ตมาใช้ตลอดระยะเวลาโครงการ และมีค่าอินเทอร์เน็ตให้เดือนละ 600 บาท นอกเหนือจากค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหารและค่าบ้าน ซึ่งการได้มาเข้าร่วมอบรมในโครงการนี้ ทำให้ตนเองมีเป้าหมายในการใช้ชีวิตและยกระดับความสามารถของคนพิการในการสมัครงานมากขึ้น
“ที่เลือกเรียนหลักสูตรนี้ เนื่องจากผมสนใจการใช้โปรแกรมต่างๆ ในสำนักงาน เช่น การส่งอีเมล การใช้ google drive โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาแม้จะเป็นช่วงโควิด แต่มีการเรียนผ่านการออนไลน์ทุกวัน สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะโปรแกรมที่เราคิดว่ายากพอมาเรียนก็ทำได้ ทำให้ได้ความรู้มากกว่าเดิม ตอนนี้ได้ไปฝึกงานกับทาง มจธ. ทำหน้าที่สรุปแบบประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการ คิดว่าเมื่อจบคอร์สแล้วจะนำความรู้ไปใช้วางแผนสมัครงาน โดยมีพี่กลุ่มที่เรียนซึ่งเป็นแอดมินได้แนะนำ ผมมองว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ทำให้คนพิการที่จับทางไม่ถูก ไม่มีเส้นทางในการดำเนินชีวิตว่าจะไปทางไหนต่อ เพราะอาจารย์ที่สอนช่วยแนะแนวและให้กำลังใจถึงแนวทางการใช้ชีวิตให้มีคุณค่า” พีท กล่าว
เช่นเดียวกับนางสาวชุติกานต์ สุขนิล (น้อยหน่า) อายุ 26 ปี พิการขาขวา ผู้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ รุ่นที่ 8 ในหลักสูตรการผลิตสื่อ/สิ่งพิมพ์ดิจิทัล เล่าว่า หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ก็ได้งานทำซึ่งอยู่ไกลจากบ้านแต่เป็นงานที่ไม่ตรงสาย ทำไปสักพักจึงลาออก จนกระทั่งเห็นข่าวการเปิดรับสมัครทางเพจเฟซบุ๊กของ มจธ. จึงลองสมัครดู พร้อมให้เหตุผลที่เลือกอบรมในหลักสูตรนี้ว่า เป็นหลักสูตรที่น่าสนใจและตรงกับสาขาที่เคยเรียนมาและสามารถนำมาต่อยอดเพื่อใช้ประกอบอาชีพที่บ้านได้
“หลักสูตรที่อาจารย์สอนจะเป็นแบบครบวงจร ทั้งการถ่ายรูป การวาดภาพ การตัดต่อวิดีโอ โดยเป็นการเรียนผ่านซูมตลอดเช่นเดียวกับเพื่อนๆ ในคอร์สนี้ที่มีด้วยกัน 16 คน นอกจากนี้ยังสอนการขายออนไลน์ โดยอาจารย์ได้ให้ออกแบบเป็นกิฟท์เซ็ทของขวัญในหัวข้อ “ความสุขของแต่ละคนคืออะไร” โดยให้แต่ละคนตีโจทย์ความสุขของแต่ละคนมาว่ามีอะไรบ้าง เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ขายของที่ระลึก โดยเอาลายที่ออกแบบไปผลิตเป็นกระเป๋า หมอนอิง ผ้าขนหนู ถ้วยกาแฟ เป็นต้น และโครงการยังได้จัดทำเฟซบุ๊กสำหรับใช้เป็นช่องทางในการขายลักษณะคล้ายบริษัทเล็กๆ โดยมีอาจารย์คอยป้อนงานเข้ามาให้และเพื่อนๆ ในห้องซูมก็จะมาแบ่งหน้าที่กันว่าจะทำอะไรบ้างใครสะดวกทำอะไรภายใต้ความเข้าใจในข้อจำกัดของเพื่อนคอยช่วยเหลือกัน มีอาจารย์คอยดูแลให้คำปรึกษาโดยไม่ปิดกั้นความคิด ทำให้เรามีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานออกมา
อยากขอบคุณโครงการนี้ ถือเป็นโครงการที่ดีมาก และอยากให้จัดแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะเหมือนเป็นแรงผลักดัน และจุดประกายเป้าหมายให้กับคนพิการได้มีกำลังใจสู้และยังได้รับมิตรภาพดีๆ จากเพื่อนคนพิการอีกด้วย ตอนนี้กำลังออกแบบลายสติกเกอร์ขาย และคิดไว้ว่าหลังจบหลักสูตรแล้วก็เตรียมสมัครงานในสายที่เรียนมา”
ผศ. ดร.ศิริก้อย ชุตาทวีสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการฯ หลักสูตรการผลิตสื่อ/สิ่งพิมพ์ดิจิทัล กล่าวว่า ในปีนี้หลักสูตรมีการเพิ่มเรื่องของ Social Media Marketing เข้ามา จึงมีเรื่องของการสร้างเพจ มีการให้ความรู้เรื่องการตลาด การทำ content marketing มีการทำภาพเคลื่อนไหวและวิดีโอเกือบครบวงจรต่างจากปีที่แล้ว โดยในส่วนการทำเพจเฟซบุ๊ก “ทำ” เพราะคิดว่ากลุ่มคนพิการมีศักยภาพสามารถที่จะสร้างแบรนด์ของตัวเองได้และลุกขึ้นมาทำอะไรที่ทำให้เขาได้เห็นคุณค่าในตัวเอง ในปีนี้จึงทดลองให้กลุ่มคนพิการออกแบบสินค้าเพื่อใช้ทำสินค้าของกลุ่ม ภายใต้แรนด์ “ทำ” ซึ่งเกิดจากแนวคิดว่า คนพิการ “อยากทำ ได้ทำ และทำได้” พอมีสินค้า ก็ต้องมีช่องทางการขาย จึงเป็นที่มาของเพจ เพื่อฝึกให้เขาเป็นผู้ประกอบการ
“มองว่าในอนาคตถ้าเราอยากเห็นกลุ่มคนพิการสามารถไปสู่การทำบริษัทเองได้ เราจึงใช้เพจนี้เป็นรูปแบบของบริษัทจำลองให้เขาได้ฝึก โดยที่เรายังคอยดูแลไปก่อนในเบื้องต้น ซึ่งการฝึกนั้นมีทั้งโจทย์ม็อกอัพ ซึ่งก็คือเพจ “ทำ” ถ้าเขาเป็นเจ้าของเพจเอง และถ้ามีสินค้าแล้วเขาจะขายอย่างไร และโจทย์จริง คือ รับงานจริง โดยเราไปหางานให้เขาและลองให้เขาทำ มีการรับโจทย์รับงานกับลูกค้าจริง มีการตรวจแก้ไขงานกับลูกค้าจริง และได้รับเงินจริง โดยเราจะเลือกตัวแทน 1 คนในทีมร่วมบรีฟงานกับลูกค้า เพื่อให้เขาเห็นขั้นตอนจริง และนำกลับมาสรุปให้กับเพื่อนในกลุ่มพร้อมกับแบ่งหน้าที่ในทีมว่าใครทำอะไรได้บ้าง
และจากการฝึกอบรมที่ผ่านมากว่า 6 เดือน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนใหม่เป็นรูปแบบออนไลน์ มีการเพิ่มอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านเข้าไปสอนมากขึ้น แต่เราก็ได้เห็นความตั้งใจทำงานของกลุ่มคนพิการ เพราะเขาอยากได้งานทำกันมาก รวมถึงงานด้านกราฟิกดีไซน์ที่มีอยู่ในหลักสูตร อาจารย์ได้มีงานป้อนให้กับคนพิการได้ฝึกฝนในเบื้องต้น ซึ่งในภาพรวมคนพิการทำได้ค่อนข้างดี”
ปัจจุบันทางโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการฯ รุ่นที่ 8 มีผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกมากมาย พร้อมทั้งมีกิฟท์เซ็ทชุดของขวัญตามเทศกาลต่างๆ โดยผู้สนใจสามารถสนับสนุนผลงานเลือกซื้อสินค้าหรือให้กำลังใจพวกเขาได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “ทำ” (https://www.facebook.com/tambrand.kmutt)
A1783