- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Monday, 24 January 2022 11:57
- Hits: 2587
วิศวะฯ มธ. เปิดมุมมอง 2 ปี ‘โควิด 19’ ชวนคนรุ่นใหม่ตั้งเป้าหมาย
มองหาโอกาสใหม่ด้านวิศวกรรมท่ามกลางวิกฤติ
TSE ลุยปรับการเรียนการสอนรับเทรนด์คนรุ่นใหม่ เติมเต็มชีวิตชีวาในห้องเรียน Online
ปฐมบทยุคใหม่ของการศึกษาไทย ก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง
การเปลี่ยนแปลงของโลกตลอด 2 ปี ท่ามกลางการระบาดของโควิด 19 เรียกได้ว่าเป็น ‘การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ’ ที่กระทบชีวิตประจำวันของผู้คน รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทั่วโลก ทำให้ต้องปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์ที่ควบคุมได้ยากและส่งผลกระทบอย่างยาวนาน และไม่เว้นกิจกรรมด้านการศึกษา ที่ท้าทายการบริหารจัดการของภาครัฐและเอกชนทั้งระบบ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering หรือ TSE) ได้เชิญผู้บริหารและอาจารย์ของ TSE นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering หรือ TSE) พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.ชนะชัย ทองโฉม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร อาจารย์ ดร.เวโรนิก้า วิโนโต้ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี และอาจารย์ ดร.ภีม เหนือคลอง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา มาร่วมเปิดมุมมองด้านการศึกษาในงานเสวนา “ทิศทางการเรียนการสอนวิศวกรรมในประเทศไทยและการปรับตัวของภาคเอกชน จากสถานการณ์ COVID-19” ซึ่งได้ตกผลึกภาพรวมสิ่งที่ระบบการศึกษาไทยต้องเผชิญมาตลอด 2 ปี พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมกันแบ่งปันทางรอดและก้าวต่อไปของภารกิจด้านวิศวกรรมของประเทศไทย ตั้งแต่มิติของผู้สอนไป โดยงานเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ TSE Co-Working Space โดยมีนักศึกษาและผู้ที่สนใจเข้ารับฟังการเสวนาจำนวนมาก
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับข่าวสารของ TSE สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.engr.tu.ac.th และ Facebook Fanpage ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT
‘โควิด 19’ ปฐมบทการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบการศึกษา
นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ภาพการเรียนการสอนในห้องเรียนออนไลน์เริ่มเด่นชัดขึ้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่ง รองศาสตราจารย์ ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering หรือ TSE) มองว่า การเรียนการสอนออนไลน์ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญและสามารถทำให้กิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับการศึกษาสามารถดำเนินต่อไปโดยไม่สะดุด แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเวลาที่ผู้สอนและผู้เรียนไม่สามารถเจอกันได้ตามปกติ ซึ่งจากประสบการณ์การสอนออนไลน์ของ TSE ในช่วง 2 ปีที่ผ่านนั้น พบว่า ในช่วงแรกถือว่าเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกะทันหัน โดย TSE ได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ ที่คอย Support ระบบ IT และส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าวเป็นอย่างดี ผลลัพธ์ที่ได้สะท้อนว่า TSE มีความพร้อมสูงที่สามารถปรับมาเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ได้ภายใน 1 สัปดาห์
ภายหลังการสอนแบบออนไลน์มาเกือบ 2 ปี อาจารย์ของ TSE มีเทคนิคการสอนที่หลายหลาย มีทั้งการใช้ PowerPoint ประกอบที่มีประสิทธิภาพ การเขียนผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น แทปเลต หรือ คอมพิวเตอร์ หรือมีการอัดคลิป VDO ให้นักศึกษาศึกษาก่อนเข้าห้องเรียน เพื่อชดเชยรูปแบบการสอนแบบ Onsite ให้ได้มากที่สุด และเพื่อให้นักศึกษาสามารถเข้าใจไปพร้อมกันได้มากขึ้น ซึ่งการเรียนการสอนแบบออนไลน์ มีปัญหาที่พบบ่อย คือ การสื่อสารของผู้สอนและผู้เรียน ซึ่งในขณะที่มีการเรียนแบบออนไลน์นั้น นักศึกษาส่วนใหญ่จะปิดกล้อง ทำให้อาจารย์ไม่สามารถเห็น Reaction ของผู้เรียนได้ว่าเข้าใจหรือไม่เข้าใจ การสื่อสารผ่าน Body Language หายไป
TSE มุ่งแก้ปัญหาห้องเรียนออนไลน์ เชื่อมโยงผู้สอนและผู้เรียน เติมเต็มชีวิตชีวา
TSE ตระหนักดีว่าเป็นปัญหานักศึกษาปิดกล้องจนผู้สอนไม่สามารถเห็น Reaction เกิดขึ้นได้ในทุกชั้นเรียน ซึ่งผู้สอนได้พยายามหาวิธีจูงใจให้นักศึกษาเปิดกล้องมาพบหน้ากันมาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเช็คชื่อในชั้นเรียน การทำ Quiz หรือ พิมพ์ผ่านทางแชท เพื่อให้ผู้สอนและผู้เรียนสามารถมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันมากขึ้น ซึ่งผลที่ได้คือ ทำให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีชีวิตชีวาเหมือนได้เรียนในห้องเรียนที่ผู้สอนและผู้เรียนได้เจอกันนั่นเอง โดยส่วนใหญ่แล้วอาจารย์จะใช้พลังงานในการสอนออนไลน์มากกว่าการสอนในห้องเรียน เนื่องจากอาจารย์เป็นผู้บรรยายตลอดซึ่งต่างจากการเรียนการสอนในห้องเรียนจริง เพราะต้องการให้นักศึกษาได้รับการถ่ายทอดความรู้ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์
TSE มีแผนเปิด Open Source รับเทรนด์การเรียนของคนรุ่นใหม่
ในอนาคตนั้น การกลับมาเรียน On-site อย่างเต็มรูปแบบจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เป็นคำถามที่ไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากสถานการณ์ของโควิด 19 นั้น เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การดำเนินนโยบายต่างๆ ของ TSE ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพของนักศึกษาเป็นอันดับแรก แต่จากระยะเวลาสองปีที่ได้เรียนออนไลน์กันมานั้น เชื่อมั่นว่าเด็กยุคใหม่คุ้นเคยกับการเรียนผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์แล้วแน่นอน ดังนั้น มีแนวโน้มเป็นอย่างมากว่าการเรียนการสอนในอนาคตจะพัฒนาเป็นแบบ Hybrid โดยผู้เรียนสามารถเรียนและหาความรู้ด้วยตัวเองนอกห้องเรียนได้ และมีอาจารย์ทำหน้าที่เป็น Consult คอยชี้แนะนักศึกษาให้มีความรู้ที่ถูกต้องตรงตามเนื้อหาของวิชานั้นๆ ในส่วนของการเรียนนั้นผู้สอนอาจประยุกต์เป็นการทำ Clip VDO เพื่อให้นักศึกษาสามารถศึกษาเองได้ ซึ่งในมหาวิทยาลัยชื่อดังของโลกหลายๆ แห่งก็ได้เริ่มทำกันแล้ว และเปิดเป็น Open Source อีกด้วย
“ต่อไปการเรียนที่ไม่จำกัดในห้องเรียนเราจะเห็นกันมากขึ้น ทั้งนี้ตัวผู้เรียนก็มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการมีความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ให้ได้ดังเป้าหมายที่ตั้งไว้เนื่องจากการเรียนนอกห้องเรียนนั้นมีอิสระเต็มที่ ในอนาคตอาจเป็นไปได้ว่าชั่วโมงการเรียนในชั้นเรียนนั้นอาจน้อยลง แต่ไปเพิ่มเวลาหาความรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น ทั้งนี้ความรับผิดชอบของผู้เรียนก็ต้องมากขึ้นเช่นเดียวกัน” รองศาสตราจารย์ ดร.ธีร กล่าวเสริม
ลดการประเมินแบบเก่า TSE ปรับการวัดผลให้สอดคล้องกับการสอนรูปแบบใหม่
บางท่านอาจมีคำถามว่าเมื่อมีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์แล้วนั้น การวัดผลยังจำเป็นอยู่ไหม จริงๆแล้วการวัดผลนั้นจำเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นการประเมินว่าผู้เรียนมีความเข้าใจในวิชาและบทเรียนนั้นๆ จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้มากแค่ไหน เพียงแต่สัดส่วนในการประเมินแบบ Paper อาจจะมีสัดส่วนน้อยลง แต่ในบางวิชายังจำเป็นอยู่ เช่นวิชาที่เกี่ยวกับการคำนวณ ในส่วนการประเมินผลการเข้าใจนั้นผู้สอนอาจใช้เทคนิคอื่นในการประเมินผู้เรียนได้ เช่น การให้งานกลุ่มเป็นโครงงานขนาดย่อม หรือการสอบแบบ Oral Presentation ทั้งนี้การให้งานกลุ่มผู้สอนอาจต้องมี Trick ในการ Motivate ผู้เรียนให้มีการกระจายงานกันทำทั้งกลุ่มเพื่อสร้างความเข้าใจในบทเรียนกันทั่วทุกคน
แค่ปรับวิธีการสอนยังไม่พอ TSE ยังให้ความสำคัญกับทักษะที่จำเป็นในอนาคตอีกด้วย
เมื่อมองออกจากในส่วนของห้องเรียนออกไปยังภาคส่วนของธุรกิจและอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ที่จะเป็นพื้นที่ในการประกอบอาชีพของบัณฑิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ต่อไปนั้น ทางคณาจารย์ของ TSE มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจ และสถานการณ์ในปัจจุบันนั้นผู้ประกอบการล้วนแต่ต้องปรับตัวในการลดต้นทุนเพื่อให้อยู่รอดมากขึ้น เนื่องจากการขึ้นราคานั้นเป็นไปได้ยาก ซึ่งสิ่งที่จะมามีบทบาทในการลดต้นทุนอย่างมากคือเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นด้าน AI Software หรือนวัตกรรมต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทในการผลิตที่สามารถลดจำนวนคนลงได้ หรือทำให้ระบบการบริหารจัดการรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะถูกนำมาใช้มากยิ่งขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อลดต้นทุนทางด้านบุคลากรและเวลา
TSE มุ่งพัฒนาคนที่จะไปพัฒนาเมือง ที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นโจทย์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ประเด็นสำคัญที่ TSE เน้นในทุกหลักสูตร คือเรื่อง Carbon Credit ซึ่งเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ต้นไม้ และพืชหลากหลายชนิด ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ หรือห่วงโซ่อาหาร ดังนั้นการประเมินปริมาณคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศจากกิจกรรม หรือกระบวนการผลิตในภาคการเกษตร หรือ อุตสาหกรรมก็จะเป็นแนวทางที่จำเป็นและสำคัญในอนาคต การประเมิน Carbon Footprint ของแต่ละผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการจนถึงการได้ผลิตภัณฑ์ ก็จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอุตสาหกรรมหลายๆ ประเภท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมส่งออก การตั้งกำแพงภาษี Carbon Credit ในสหภาพยุโรป หรือ ประเทศอื่นๆ ในอนาคต ก็จะส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นด้วย
“สุดท้ายการทำ Carbon trading ภายในประเทศ โดยเป็นการซื้อขายระหว่างผู้ผลิตสินค้าหรือดำเนินกิจกรรมที่ปล่อยปริมาณคาร์บอนสูงกับผู้ที่ดำเนินกิจกรรมในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน เช่น การใช้พลังงานสะอาด การปลูกป่า การลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า เกษตรกรรมหลายๆ ประเภทที่เน้นการประหยัดพลังงานหรือดูดซับปริมาณสารประกอบคาร์บอนในอากาศ เป็นต้น ดังนั้นผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการอาจจะต้องเริ่มคิด และวางแผนในเรื่องของ Carbon Credit ซึ่งจะช่วยทั้งการส่งออกและลดต้นทุนได้ในอนาคต” รองศาสตราจารย์ ดร.ธีร กล่าวเสริมในตอนท้าย
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับข่าวสารของ TSE สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.engr.tu.ac.th และ Facebook Fanpage ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT
A1562