- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Wednesday, 29 December 2021 15:50
- Hits: 1630
ม.มหิดล เชื่อมั่นพลานุภาพแห่ง ‘ดนตรี’ สามารถขับเคลื่อนสังคมสู่การบรรลุ ‘ความหวัง’ ของวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
เมื่อ “กายป่วย” หาหมอกินยาก็คงรักษาหาย แต่ถ้า “ใจป่วย” ยาขนานเอกที่จะคอยรักษาใจได้โดยไร้พรมแดนของภาษาและวัฒนธรรมคือ “ดนตรี”
หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี (Pre-College Young Artists Music Program International Music Boarding School; YAMP) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหลักสูตรซึ่งมีภารกิจบ่มเพาะเยาวชนดนตรีสู่มาตรฐานระดับโลก จนปัจจุบันได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นโรงเรียนดนตรีกินนอนนานาชาติ (International Music Boarding School) แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชีย ที่ผลิตเยาวชนดนตรีคุณภาพสู่เวทีนานาชาติมากว่า 2 ทศวรรษ ด้วยความเชื่อมั่นถึงพลานุภาพแห่ง “ดนตรี” ว่า จะสามารถขับเคลื่อนสังคมสู่การบรรลุ “ความหวัง” ของวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
อาจารย์ริชาร์ด ราล์ฟ (Mr.Richard Ralphs) อาจารย์ใหญ่หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี (Pre-College Young Artists Music Program International Music Boarding School; YAMP) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อาจารย์ริชาร์ด ราล์ฟ (Mr.Richard Ralphs) ผู้ทำหน้าที่อาจารย์ใหญ่หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี (YAMP) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาเกือบ 15 ปี นับจากที่ได้เป็นผู้คร่ำหวอดบริหารโรงเรียนนานาชาติ ณ สหราชอาณาจักร มาก่อนเกือบ 3 ทศวรรษ กล่าวว่า “ดนตรี” นอกจากจะช่วยเยียวยาจิตใจแล้ว ยัง “เชื่อมต่อ” ผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน เหตุผลสำคัญที่ได้เข้ามารับหน้าที่บริหารหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี (YAMP) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล คือ ต้องการที่จะสร้างเยาวชนไทยให้เป็นนักดนตรีมืออาชีพมาตรฐานสากลที่ให้อะไรแก่สังคมไทย และโลกใบนี้ด้วย
ข้อดีของโรงเรียนดนตรีกินนอน คือ การเอื้ออำนวยให้นักเรียนสามารถฝึกซ้อมดนตรีได้อย่างเต็มที่ และได้ฝึกให้นักเรียนเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมรอบข้างอย่างอิสระ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีของการเป็น “ผู้นำ” ในอนาคต ภายใต้บรรยากาศของโลกดนตรีศึกษาที่ได้มาตรฐานในระดับนานาชาติอย่างแท้จริง
ผลงานที่น่าภาคภูมิใจล่าสุดจากการแข่งขันกีตาร์คลาสสิกครั้งใหญ่ระดับเอเชีย ในงาน Asia International Guitar Festival & Competition 2021 คือการได้มีศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าของหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี (YAMP) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล คว้ารางวัลจากงานดังกล่าว
ศิษย์ปัจจุบัน ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 คือ ‘ภควัต ธำรงค์อนันต์สกุล’ ได้รับรางวัลชนะเลิศรุ่น Junior และศิษย์เก่าซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือ ‘เปศล น่วมขยัน’ ได้รับรางวัลอันดับสอง
อาจารย์นลิน โกเมนตระการ อาจารย์ประจำสาขาวิชากีตาร์คลาสสิก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะอาจารย์สอนกีตาร์คลาสสิกของ ‘ภควัต ธำรงค์อนันต์สกุล’ ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศรุ่น Junior จากการแข่งขัน Asia International Guitar Festival & Competition 2021 ถึงการติวเข้มนักเรียนของหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี (YAMP) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้พร้อมในเวทีว่า เกิดจากการจัดให้นักเรียนได้ฝึกการแสดงออกในรูปแบบคอนเสิร์ต เช่น PC Concert และ Showcase Concert และการแสดงในชั้นเรียน (Studio Class) โดยให้ความสำคัญของการฝึกซ้อม และแนะนำการเลือกเพลงที่จะใช้ในการแข่งขันให้เหมาะสม
นายภควัต ธำรงค์อนันต์สกุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี
(Pre-College Young Artists Music Program International Music Boarding School; YAMP) วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลชนะเลิศรุ่น Junior งาน Asia International Guitar Festival & Competition 2021
ด้าน ‘ภควัต ธำรงค์อนันต์สกุล’ ได้เล่าถึงเคล็ดลับที่ใช้ในการแข่งขัน Asia International Guitar Festival & Competition 2021 จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศรุ่น Junior ว่า ได้ใช้หลักที่ได้จากการเรียนกับ ‘อาจารย์เบิร์ด’เอกชัย เจียรกุล ศิษย์เก่าวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เคยคว้าแชมป์กีตาร์คลาสสิกโลกมาก่อนเช่นกันว่าจะต้องฝึกซ้อมอย่างมีเป้าหมาย และมีคุณภาพ เพื่อการบริหารจัดการเวลาซ้อมอย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งการแข่งขันคือการทำให้ได้ฝึกซ้อมอย่างมีเป้าหมาย เพื่อการพัฒนาทักษะ และเพิ่มพูนประสบการณ์ทางดนตรีให้ดียิ่งขึ้นไป ไม่ได้สำคัญที่ว่าจะได้รางวัลหรือไม่
อาจารย์ ดร.รัฐนัย บำเพ็ญอยู่ หัวหน้าสาขาวิชากีตาร์คลาสสิก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของ ‘เปศล น่วมขยัน’ ผู้สามารถคว้ารางวัลอันดับสองจากการแข่งขัน Asia International Guitar Festival & Competition 2021 กล่าวว่า หนึ่งในวิธีการฝึกซ้อมที่ดีที่สุด คือ เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราต้องมั่นใจในเสียงของตัวเอง ถ่ายทอดออกมาอย่างมั่นใจ และบรรลุเป้าหมายในแบบของเรา ซึ่งสาขาวิชากีตาร์คลาสสิก วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่ได้สร้างแต่ “นักกีตาร์คลาสสิกมืออาชีพ” แต่มุ่งสร้าง “คนคุณภาพ” ให้กับสังคมด้วย
นายเปศล น่วมขยัน นักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 3 วิทยาลัดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รางวัลอันดับสองงาน Asia International Guitar Festival & Competition 2021
ทิ้งท้ายด้วย ‘เปศล น่วมขยัน’ ผู้คว้ารางวัลอันดับสองจากการแข่งขัน Asia International Guitar Festival & Competition 2021 ได้เล่าถึงเคล็ดลับการฝึกซ้อมด้วยว่าก่อนเล่นกีตาร์คลาสสิกจะ “วอร์มนิ้ว” เพื่อการเตรียมพร้อมกล้ามเนื้อมือ เหมือนก่อนออกกำลังกายทั่วไป ในอนาคตอยากเป็น “Concert Artist” ที่ออกตระเวนเล่นคอนเสิร์ตตามที่ต่างๆ โดยครั้งหนึ่งในชีวิตอยากได้ไปเยือนยุโรป เพื่อเดินตามรอยนักดนตรีคลาสสิกระดับโลก เมื่อใดที่รู้สึกท้อจะพยายามสู้โดยนึกย้อนไปถึงวันแรกที่อยากเล่นดนตรี
ในวันที่ 15 มกราคม 2565 ขอเชิญนักเรียนที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่สนใจเข้าร่วม “YAMP Open House” เพื่อศึกษาข้อมูลก่อนการสมัครเข้าเรียนกับหลักสูตรฯ ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวได้ตั้งแต่บัดนี้ - 10 มกราคม 2565 ก่อนการเปิดสมัครในรอบที่ 3 ทางออนไลน์ภายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 และในรอบที่ 4 ซึ่งเป็นรอบสุดท้าย ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 ทางFacebook : YAMP - Young Artists Music Program และ https://www.music.mahidol.ac.th/yamp
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
A121009