- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Wednesday, 16 June 2021 14:44
- Hits: 165
มข. ครองอันดับมหาวิทยาลัยแนวหน้า ติด 1 ใน 10 มหาวิทยาลัยไทย จาก QS World University Rankings 2022 สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก
มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ติด 1 ใน 10 มหาวิทยาลัยของไทย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก 'QS World University Rankings 2022' สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยจากประเทศอังกฤษที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยในปี 2022 นี้ มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก้าวสู่ความภาคภูมิใจเป็นอันดับที่ 5 ของมหาวิทยาลัยไทย โดยขยับสูงขึ้นจากปี 2021 ที่ผ่านมา !
ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยเกี่ยวกับการครองอันดับมหาวิทยาลัยแนวหน้าของประเทศครั้งนี้ว่า ในปี 2022 นี้มีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมการจัดอันดับ QS World University Rankings กว่า 1,673 แห่งจากทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 145 แห่ง มีมหาวิทยาลัยที่ถูกจัดอันดับเป็น World rankings ประมาณ 1,300 มหาวิทยาลัยจากทั่วโลก ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น อยู่ในอันดับ 801-1,000 ของโลก เป็นอันดับที่ 5 ของมหาวิทยาลัยไทย
“ตั้งแต่มีการจัดอันดับโดย QS World University Rankings อันดับของมหาวิทยาลัยขอนแก่นดีขึ้นมาโดยตลอด จนปัจจุบันถือเป็นลำดับของการจัดอันดับโดยการอิงกลุ่มของ QS World University Rankings สูงที่สุดตั้งแต่ตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมา ลำดับตามเปอร์เซ็นไทล์เมื่อย้อนไป 10 ปีก่อน เราอยู่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 81.3 หมายความว่าหากมี 100 มหาวิทยาลัย เราอยู่อันดับที่ 80 กว่า เมื่อมี 1,000 มหาวิทยาลัย เข้าร่วมการจัดอันดับ เราอยู่ในอันดับที่ 800 และจากผลการจัดอันดับโดย QS World University Rankings ปี 2021 เราอยู่ลำดับเปอร์เซ็นไทล์ที่ 67.5 ปี 2022 นี้ เราอยู่อันดับเปอร์เซ็นไทล์ที่ 61.6 หมายความว่า ถ้า 1,300 มหาวิทยาลัย คิดเป็น 100% เราจะอยู่อันดับที่ 61.6 ซึ่งเป็นอันดับที่สูงขึ้น” ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ กล่าว
ทั้งนี้ การขยับอันดับที่สูงขึ้นของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จาก QS World University Rankings 2022 นี้อยู่ภายใต้การพิจารณาที่เข้มข้นจากตัวชี้วัด 6 ประกอบด้วย Academic reputation ความมีชื่อเสียงด้านวิชาการ 40% Employer reputation การเป็นที่ยอมรับบัณฑิตจากนายจ้าง 10% Student-to-faculty ratio สัดส่วนของอาจารย์ต่อนักศึกษา 20% Citations per faculty สัดส่วนจำนวนการอ้างอิงต่อผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ 20% International faculty ratio สัดส่วนของอาจารย์ชาวต่างชาติ 5% international student ratio สัดส่วนของนักศึกษาชาวต่างชาติ 5% รวมเป็น 100 คะแนน จากสัดส่วนการพิจารณาคะแนน สังเกตได้ว่าการจัดอันดับดังกล่าว ให้ความสำคัญกับ ความเป็นที่รู้จัก และการยอมรับในอัตราส่วนที่สูงมาก
ผศ.นพ.ธรา กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า การที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไต่อันดับที่สูงขึ้น สืบเนื่องจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีคะแนนในด้านชื่อเสียงและการยอมรับที่สูงขึ้น
“การจัดอันดับของ QS World University Rankings จะต่างจากเกณฑ์ ของการจัดอันดับอื่นๆซึ่งจะใช้ reputation หรือ ความเป็นที่รู้จัก และ การยอมรับ เป็นเกณฑ์การพิจารณาคะแนนเยอะ เกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ หากมหาวิทยาลัยก่อตั้งมานาน มีผลงานวิจัย และบริการวิชาการที่หลากหลาย มีการทำความร่วมมือกับต่างประเทศ จะได้คะแนนตรงนี้ค่อนข้างที่จะสูง ซึ่งการวัดชื่อเสียงและการยอมรับจะสำรวจคิดเห็นจากตัวแทนนักวิชาการ มหาวิทยาลัยกว่า 2 ล้านคน ทั่วโลก ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษากว่า 450,000 คนทั่วโลก ทางอีเมลล์ โดยถามว่าหากกล่าวถึงทวีปเอเชียท่านรู้จักมหาวิทยาลัยใด ถ้ากล่าวถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ท่านนึกถึงมหาวิทยาลัยใด ถ้าพูดถึงประเทศไทยท่านรู้จักมหาวิทยาลัยใด หากเราเป็นที่รู้จักของนักวิชาการ หน่วยงานที่จ้างบุคลากรนานาชาติ จึงจะได้คะแนนตรงนี้สูง”
แม้ว่า การครองอันดับที่ 5 ของมหาวิทยาลัยไทยจากสถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก ในปี 2022 นับเป็นความภาคภูมิใจ สะท้อนการก้าวเดินกว่า 50 ปี ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่สิ่งที่มุ่งหวังกว่านั้น คือ การขยับสู่อันดับที่สูงขึ้นในปีถัดไป ซึ่งรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มองว่ากุญแจดอกสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้น คือ การสร้างชื่อเสียง และการยอมรับ ในระดับนานาชาติให้มากขึ้น
ผศ.นพ.ธรา กล่าวว่า ปีถัดไปมีเป้าหมายที่จะอยู่ในอันดับที่ 4 เพราะการดำเนินการลักษณะนี้เป็นเหมือนการวิ่งมาราธอน เราวิ่งแบบสปรินเตอร์ เพิ่มความเร็วทันทีไม่ได้ ทุกคนจะเหนื่อยมาก การดำเนินการในลักษณะนี้ต้องมั่นคง ยั่งยืน เป็นระยะยาว มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีอายุประมาณ 50 ปี เพราะฉะนั้นเรื่อง reputation การสร้างชื่อเสียง และการยอมรับ รวมถึงผลงานด้านการวิจัยและบริการวิชาการ เป็นสิ่งที่จะต้องสะสม ฉะนั้นทิศทางในอนาคตเราจะเน้นเรื่องการสร้างผลงานวิจัย บริการวิชาการ และ reputation เป็นหลัก เราจะต้องหาวิธีการ หรือ แนวทางในการเพิ่ม การรู้จัก การได้รับการยอมรับ ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มโดย การทำความร่วมมือ ทั้งทางด้านการเรียน การสอน การวิจัย ทำโครงการต่าง ๆ ร่วมกับต่างประเทศ พยายามสนับสนุนให้นักวิจัยทำผลงานวิจัย มีคุณภาพเยอะขึ้น จะต้องเป็นงานวิจัยที่มีความร่วมมือกับนานาชาติเยอะขึ้น”
“ความจริงมีมหาวิทยาลัยของประเทศที่เกิดใหม่เข้ามาเยอะมาก อย่างปีนี้มีมหาวิทยาลัยเข้ามาสู่การจัดอันดับมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 145 มหาวิทยาลัย ซึ่งสะท้อนว่า ไม่ว่าจะเป็น ตะวันออกกลาง หรือ ประเทศจีน ที่ทางภาครัฐให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัย สามารถที่จะทุ่มเทสรรพกำลังเข้ามาสร้างผลงานวิจัยและบริการวิชาการ หากเราวิ่งช้ากว่าเขาอันดับก็จะตกลงไปเรื่อยๆ จุดไหนที่เราอ่อนแอเราก็จะต้องทำ แล้วจะค่อยๆเกิดผลเอง เหมือนวิ่งมาราธอน ที่ต้องสม่ำเสมอ ฉะนั้นในปีถัดไปการนำพามหาวิทยาลัยไปสู่เป้าหมายที่สูงขึ้น จากการจัดอันดับของ “QS World University Rankings ในอันดับที่ 4 แม้จะไม่ใช่เป้าหมายของตัวเลขที่ก้าวกระโดด แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการก้าวอย่างมั่นคงในระยะยาวนั่นเอง” ผศ.นพ.ธรา กล่าวทิ้งท้าย
ข่าว : รวิพร สายแสนทอง
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ