- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Monday, 03 May 2021 12:58
- Hits: 1939
ผลงานเยี่ยม! มข.ครอง อันดับ 1 ของไทย อันดับ 78 ของโลก
SDGs 4 Quality Education จาก THE Impact Rankings 2021
“Times Higher Education” หรือ “THE” สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ประเทศอังกฤษ ได้ประกาศผลอันดับมหาวิทยาลัย “THE Impact Rankings 2021” โดยประเมินการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย 1,115 แห่ง จาก 94 ประเทศทั่วโลก ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ของสหประชาชาติ ทั้ง 17 ด้าน โดยในปีนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นครองอันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทย อันดับที่ 78 ของโลก ในด้าน SDGs 4 Quality Education คุณภาพการจัดการเรียนการสอนและการเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียม โดยทำคะแนนได้ถึง 72.7 / 100 คะแนน ความสำเร็จครั้งนี้ส่งผลให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครองอันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทย ในด้านการส่งเสริมการจัดการศึกษา
ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยเกี่ยวกับผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัย THE Impact Rankings 2021 ว่า การประเมินของสถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกใช้หลักเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ทั้งหมด 17 ด้าน โดยจะเลือก 4 ด้าน ที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ ทำคะแนนได้สูงสุดและนำมาจัดอันดับ ที่ผ่านมาแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีความโดดเด่นและได้คะแนนแต่ละด้านแตกต่างกัน โดยปีนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่น อยู่ในอันดับที่ 201–300 จากมหาวิทยาลัย 1,115 แห่งทั่วโลก ที่ส่งผลงานเข้าร่วมการประเมิน ซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเกณฑ์ของสหประชาชาติที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความโดดเด่น 4 ด้าน ตามลำดับ คือ SDGs 1 : การขจัดความยากจน SDGs 3: การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDGs 17: ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ SDGs 4: การศึกษาที่เท่าเทียม ซึ่งด้านนี้ เราครองอันดับ 1 ต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 3 ปีแล้ว
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รักษาอันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทยในด้าน SDGs 4 Quality Education ได้อย่างต่อเนื่อง มองว่า มิติแรกเป็นเรื่องของการวิจัยด้านการศึกษา มิติที่ 2 การสนับสนุนนักศึกษา คุณภาพของหลักสูตร และ มิติที่ 3 การปรับหลักสูตรที่สอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
“ผลงานวิจัยของเราเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ ลำดับคะแนนค่อนข้างดี เนื่องจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีการทำวิจัยหรือการสนับสนุนชุมชนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนนักศึกษาด้วยการให้ทุน ส่วนหนึ่งมาจากนักศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน มีฐานะยากจนทำให้สัดส่วนนักศึกษายากจนของมหาวิทยาลัยขอนแก่นน่าจะมีเยอะที่สุด
นอกจากนี้ค่าเทอม ค่าหน่วยกิต ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ค่อนข้างที่จะถูกเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น รวมทั้งหมดแล้ว อยู่ที่ประมาณ 12,000 – 18,000 บาท ซึ่งเป็นทางอ้อมที่เราสนับสนุนให้เยาวชนสามารถเข้าถึงการศึกษาไปโดยปริยาย เพราะฉะนั้นการที่เราต้องดูแลประชากรนักศึกษาที่ยากจน จึงเป็นสิ่งที่เราทำมาตลอด และเป็นจุดแข็งที่ทำให้เราได้คะแนนตรงนี้เยอะ ส่วนด้านการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลายหลักสูตร เช่น หลักสูตรวิศวสิ่งแวดล้อม หลักสูตรด้านพลังงานสะอาด รวมไปถึงผลักดันให้ทุกหลักสูตรสนับสนุนการแก้ปัญหาของชุมชน โดยเราเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาลงพื้นที่การทำวิจัยหรือการสนับสนุนชุมชน หรือการวิจัยชุมชนเยอะที่สุด เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่มีปัญหาในเรื่องของความยากจน ด้านอาชีพ เพราะฉะนั้นหลักสูตรต่างๆ ก็จะเชื่อมโยงกับการลงพื้นที่เป็นจำนวนมาก” ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ กล่าว
นอกจากนี้ ผศ.นพ.ธรา ยังกล่าวเสริมว่า การรักษาอันดับ 1 ได้ในด้าน SDGs 4 Quality Education เป็นไปตามกลยุทธ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 เรื่อง Academic Service Transformation ที่เน้นการเชื่อมโยงองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปสู่ชุมชน เพื่อสร้างความยั่งยืนและสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เกี่ยวโยงกับปัญหาชุมชนจริงๆ
“การที่เราเข้าการจัดอันดับ THE Impact Rankings ติดอันดับ 1 ของประเทศไทย ในปี 2020 และ ด้าน SDGs 4 Quality Education การศึกษาที่เท่าเทียมที่ติดอันดับ 1 ต่อเนื่องมา 2 ปี ตั้งแต่ 2020 – 2021 นับเป็นกำลังใจ และ เป็นการยืนยันว่ากระบวนการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เชื่อมโยงกับชุมชนและนำปัญหาของชุมชนมาเป็นประเด็นหรือหัวข้อในการวิจัย การเรียนการสอนเป็นสิ่งที่เราทำมาถูกทาง ซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับ สะท้อนว่า จุดแข็งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ เรื่องการจัดการเรียนการสอน การบริการองค์ความรู้สู่ชุมชนซึ่งเราจะยังคงสนับสนุนประเด็นยุทธศาสตร์นี้ต่อไป” ผศ.นพ.ธรา กล่าว
รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต่อไปว่า “เป้าหมายในปีหน้ามีการวางแผนที่จะนำ SDGs ทั้งหมดมาดู และพิจารณาว่าใน SDGs ข้อใด ที่เรายังต้องพัฒนา หรือยังทำโครงการไม่เพียงพอ เช่น SDGs 6: การจัดการน้ำและสุขาภิบาล SDGs 7: พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ SDGs 8: การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDGs 9: อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐานมหาวิทยาลัยอาจจะต้องให้ความสำคัญในด้านดังกล่าวมากขึ้น ส่วน SDGs อื่นที่เราทำอยู่แล้วก็จะต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป และอาจจะต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านต่างๆ ที่ทำมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทำได้ดี เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน” ผศ.นพ.ธรา กล่าวปิดท้าย
ทั้งนี้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ของสหประชาชาติ ทั้ง 17 ด้าน ประกอบด้วย SDGs 1 : ขจัดความยากจน SDGs 2: ขจัดความหิวโหย SDGs 3: การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDGs 4: การศึกษาที่เท่าเทียม SDGs 5: ความเท่าเทียมทางเพศ SDGs 6: การจัดการน้ำและสุขาภิบาล SDGs 7: พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ SDGs 8: การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDGs 9: อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน SDGs 10: ลดความเหลื่อมล้ำ SDGs 11: เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน SDGs 12: แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน SDGs 13: การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ SDGs 14: การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล SDGs 15: การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก และ SDGs 16: สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก SDGs 17: ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
A5052
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ