- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Friday, 09 April 2021 19:06
- Hits: 1266
มูลนิธิโทเร ยกย่อง ‘ศาสตราจารย์’ นักวิจัย มจธ. รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2 ปีซ้อน
มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย มีมติเป็นเอกฉันท์ยกย่อง 2 ศาสตราจารย์นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นผู้ได้รับ “รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ประเภทบุคคล ประจำปี 2562 ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุทธยา และประจำปี 2563 ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ โดยมีพิธีมอบรางวัลและเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 26 และ 27 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2564 โดยมีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี
ศาสตราจารย์ ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. และเมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาวิศวกรรมอาหาร ประจำปี 2558 และ 2561 ซึ่งเป็นนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแปรรูปอาหาร ได้ศึกษากระบวนการเตรียมตัวอย่างและการอบแห้งวัสดุที่หลากหลาย จนเกิดเป็นองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสมบัติเชิงเคมี-กายภาพของวัสดุชนิดต่างๆ นำไปสู่ความสามารถในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาและศึกษากระบวนการอบแห้งแบบใหม่ ได้แก่ กระบวนการอบแห้งแบบใช้ไอน้ำร้อนยวดยิ่งที่สภาวะความดันต่ำ ซึ่งสามารถลดการเปลี่ยนแปลงหรือสูญเสียคุณลักษณะต่างๆ ที่สำคัญของอาหาร เช่น สี รูปร่าง เนื้อสัมผัส ตลอดจนสารอาหารที่สำคัญได้เป็นอย่างดี และได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตอาหารในการพัฒนาต่อยอดกระบวนการอบแห้งดังกล่าวเป็นเครื่องอบแห้งที่สามารถใช้ในการผลิตผักและผลไม้อบแห้งคุณภาพสูงในระดับอุตสาหกรรม ผลงานวิจัยที่สำคัญอีกงานหนึ่ง ได้แก่ การพัฒนาและศึกษากระบวนการแยกสารผ่านเยื่อด้วยไฟฟ้าสำหรับการขจัดแร่ธาตุออกจากสารละลาย โดยไม่ทำให้คุณลักษณะสำคัญของสารละลายนั้นเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เป็นที่ยอมรับ ทั้งนี้ เน้นการขจัดโซเดียมออกจากน้ำปลา เพื่อผลิตน้ำปลาโซเดียมต่ำที่ยังคงมีความเค็ม สี กลิ่น รส ฯลฯ เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค องค์ความรู้ที่ได้นำไปสู่ความสามารถในการพัฒนากระบวนการให้เหมาะสมกับการไปใช้กับน้ำปลา ซึ่งเป็นสารละลายที่มีปริมาณเกลือสูง และมีสารให้กลิ่น รสเป็นจำนวนมากได้เป็นครั้งแรก
ศาสตราจารย์ ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มจธ. และเมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาเทคโนโลยีพลังงาน ประจำปี 2559 และ 2562 นักวิจัยผู้มุ่งมั่นทำวิจัยในด้าน การบูรณาการกระบวนการแปรสภาพวัตถุดิบทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงควบคู่กับการผลิตสารเคมีมูลค่าสูง ที่เรียกว่า เทคโนโลยีอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ (biorefinery technology) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนากระบวนการแปรสภาพชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงและสารเคมีมูลค่าสูงจากซังข้าวโพด ชานอ้อย ฟางข้าว กะลาปาล์ม และเศษวัสดุเหลือจากการเกษตรหรือกากจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น แกลบ น้ำตาลทราย เศษไม้ เป็นต้น เทคโนโลยีดังกล่าวมีศักยภาพสำหรับประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีพื้นฐานทางเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอย่างครบวงจร ชีวมวลเหล่านี้มีสารประกอบหลัก 3 ชนิด คือ เซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส และลิกนิน งานวิจัยมุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการแยกส่วนและเพิ่มความบริสุทธิ์ใกล้เคียง 100% มากที่สุดของลิกนินและเฮมิเซลลูโลส เพื่อสามารถนำองค์ประกอบทั้งหมดไปใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาใหม่ๆ ที่เหมาะสมในการแปรสภาพเซลลูโลส ลิกนิน และเฮมิเซลลูโลส เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมเคมี ซึ่งกระบวนการวิจัยดำเนินการด้วยแนวคิด การสร้างกระบวนการการแปรสภาพชีวมวลแบบไร้ของเสียอย่างยั่งยืน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือทิ้งทางการเกษตร และสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศในการแข่งขันทางการค้าระดับสากลได้
A4334
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ