- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Monday, 05 April 2021 18:13
- Hits: 1334
คณบดี คณะวิศวะมหิดล เผยแนวทางการสร้างนวัตกรรมการแพทย์ เพื่อยกระดับศักยภาพสาธารณสุขไทย
การแพทย์และสาธารณสุขของไทย ได้รับการยกย่องจากมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ ให้เป็นอันดับต้นของโลก และในฐานะประเทศที่ฟื้นตัวและรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีที่สุด จากข้อมูลดัชนีโควิด-19 ระดับโลก (GCI) เมื่อปี 2563 รวมถึงได้รับการยอมรับจากผู้รักสุขภาพที่เดินทางจากหลายประเทศมารักษาทางการแพทย์ ขณะเดียวกันประเทศไทยต้องเร่งเครื่องพัฒนานวัตกรรมและอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ให้เติบโตเข้มแข็งเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่ความมั่นคงทางสุขภาพและสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ
ในงานสัมมนาเทคโนโลยีการแพทย์และสาธารณสุข ไทยทำ ไทยใช้ ไทยรอด จัดโดย คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ณ หอประชุมเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นายกสมาคมคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และว่าที่ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้รับเชิญเป็นวิทยากร ในหัวข้อเรื่อง “แนวทางการสร้างนวัตกรรมการแพทย์ เพื่อยกระดับศักยภาพด้านสาธารณสุขไทย”
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล,นายกสมาคมคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และว่าที่ประธานสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยไทยแต่ละแห่งนั้นต่างมีความรู้ความสามารถและจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ปัจจุบันมหาวิทยาลัยในประเทศไทย พัฒนาความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและเทคนิคทางการวิจัยอย่างมาก รวมถึงองค์ความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ ที่นำมาพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงและต่อยอดให้ยกระดับขึ้นไป สามารถเทียบชั้นหรือแข่งขันกับนานาประเทศทั่วโลกได้ โดยเฉพาะในคนรุ่นใหม่ที่มีความพร้อมทั้งความรู้และความสามารถในการลงมือทำ เพียงแค่ต้องการกำลังสนับสนุน ทั้งทางด้านระบบนิเวศ Eco-System การระดมเงินทุน การผลิตในภาคอุตสาหกรรม การทดสอบ (Testing) และสอดคล้องกับกฎข้อบังคับทางการค้าและอุตสาหกรรมนั้นๆ (Regulatory) ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสกว้างให้ได้แสดงศักยภาพคนไทยได้อย่างเต็มที่ เรียกได้ว่าเป็นช่วง “นาทีทอง” ของมหาวิทยาลัยไทยที่จะร่วมกันพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์เพื่อยกระดับสาธารณสุขไทยและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสำหรับตลาดในประเทศและส่งออก
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังพึ่งพาการนำเข้าเครื่องมือแพทย์มูลค่าปีละหลายแสนล้านบาท โดยเฉพาะในช่วงการเกิดโรคระบาดโควิด-19 แต่ละประเทศต่างมีความต้องการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้นมาก ทำให้ราคาสูงเพิ่มขึ้นไปด้วย นับเป็นปัญหาของประเทศไทยที่ยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศอยู่ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล เรามีความสามารถทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ และวิศวกรรมหลายสาขา โดยมีบุคลากร นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศไทยพร้อมที่จะต่อยอดสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อร่วมขับเคลื่อนยกระดับสาธารณสุขไทย ประชาชนได้รับสิทธิรักษาทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยและภูมืภาคโลกให้ดียิ่งขึ้น
ปัจจุบันคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จำกัดการเปิดรับนักศึกษาปริญญาตรีไว้ปีละจำนวน 400 คน เพื่อบ่มเพาะ วิศวกรแห่งอนาคต มุ่งเน้นพัฒนาต่อยอดในระดับปริญญาโท - ปริญญาเอก ให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ก้าวสู่การเป็นวิศวกรระดับโลก (Global Engineers)...เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพและทักษะปฏิบัติที่ตอบโจทย์การทำงานบนแพลตฟอร์มใหม่ของเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจหมุนเวียนและเทคโนโลยีดิสรัพชั่นท่ามกลางความท้าทายของโรคระบาดและความผันผวนทางเศรษฐกิจ
A4160
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ