- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Tuesday, 22 December 2020 09:58
- Hits: 1984
นักวิจัย มข. ร่วมกับ FAO แห่งสหประชาชาติ เปิดตัวหนังสือ ‘คู่มือแนวปฏิบัติที่ดีในการทำฟาร์มจิ้งหรีดอย่างยั่งยืน สำหรับเกษตรกรและผู้ประเมินฟาร์ม’ ผ่านการประชุมสัมนาออนไลน์ระดับนานาชาติ
เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ Food and Agriculture Organization of United Nations (FAO) ได้แถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ เรื่อง “คู่มือแนวการปฏิบัติที่ดีในการทำฟาร์มจิ้งหรีดอย่างยั่งยืน สำหรับเกษตรกรและผู้ประเมินฟาร์ม” หรือ “Guidance on sustainable cricket Farming : A practical manual for farmers and inspectors” ของ FAO โดยมี Mr. Sven Walter, Team Leader of Forest Products and Statistics Team ของ FAO เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ณ สำนักใหญ่ กรุงโรม ซึ่งเป็นการประชุม online Webinar ของ FAO ภูมิภาค Asia-Pacific ซึ่งหนังสือดังกล่าวนำทีมเขียนโดย ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง หัวหน้าภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นที่ปรึกษาด้านแมลงกินได้ ของ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ และ Mr. Patrick Durst (Former senior Forestry Officer in FAO)
ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง ในฐานะผู้เขียนหลักของหนังสือของ FAO คู่มือ “Guidance on sustainable cricket Farming : A practical manual for farmers and inspectors” กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของหนังสือคู่มือการปฎิบัติที่ดีทางการทำฟาร์มจิ้งหรีดนี้ ได้รวบรวมองค์ความรู้จากประสบการณ์การทำฟาร์มเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดในประเทศไทยมากกว่า 25 ปี ที่ริเริ่มจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่ง FAO และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมมือกันพัฒนาและส่งเสริมเรื่องแมลงกินได้เพื่อเป็นส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหาร (food security) และความปลอดภัยด้านการใช้แมลงเป็นอาหาร (food safety) ของโลก ดังนั้นคู่มือนี้ จะใช้เป็นต้นแบบให้ภาครัฐและผู้สนใจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกใช้เป็นแนวปฏิบัติของเกษตรกรในการทำฟาร์มจิ้งหรีด อย่างปลอดภัยและยั่งยืนต่อผู้บริโภค พร้อมทั้งสามารถต่อยอดธุรกิจและการตลาด เพื่อเพิ่มผลผลิตการเกษตรให้มีมูลค่ามากขึ้น และเพื่อใช้เป็นมาตรฐานและมีคำแนะนำสำหรับใช้ของผู้ประเมินฟาร์มจิ้งหรีดเพื่อรับรองมาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ในการสัมมนาออนไลน์นี้ มีผู้สนใจทั่วโลกมากกว่า 120 คน จากทวีปต่างๆ เข้าร่วมรับฟังและมีการซักถามข้อมูลของคู่มือนี้ และอยากให้มีการแปลหนังสือคู่มือนี้เป็นภาษาต่างๆ อีกด้วย ซึ่งทาง FAO ได้เปิดให้ ผู้สนใจทั่วโลกสามารถ download คู่มือเล่มนี้ได้ที่ http://www.fao.org/3/cb2446en/cb2446en.pdf
ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง กล่าวด้วยว่า เมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่น นับเป็นแห่งแรกที่เริ่ม การวิจัย และริเริ่มพัฒนาการทำฟาร์มจิ้งหรีดขึ้นมาและถ่ายทอดสู่เกษตรกรทั่วประเทศจนในปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการทำฟาร์มจิ้งหรีดที่ทันสมัยและมีการส่งออกจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์ เป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท ต่อปี แต่เดิมที่คนทางภาคอีสานเราคุ้นเคยกับการกินแมลง เป็นอาหารแต่แมลงได้มาจากการจับจากป่า ไม่รู้จักวิธีการเพาะเลี้ยงเป็นฟาร์ม ในช่วงเวลานั้นเอง พ.ศ. 2540 ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการทางเศรษฐกิจ หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงส่งผลให้คนตกงาน ไม่มีงานทำ เกิดภาวะขาดแคลนรายได้ ในการซื้ออาหาร ดังนั้น จึงเกิดความคิดและได้ตั้งคำถามว่า “ทำอย่างไร คนจะมีอาหารทาน” จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงแมลง จิ้งหรีด หรือ แมงสะดิ้ง เพื่อใช้บริโภค และเพื่อรายได้ครัวเรือน ร่วมกับ อาจารย์ทัศนีย์ แจ่มจรรยา คณะเกษตรฯ มข. หลังจากนั้นทาง FAO ซึ่งเป็นองค์การดูแลเรื่องนโยบายอาหารของโลก เห็นความสำคัญของการใช้แมลงเป็นอาหารโปรตีนและต้องการนำองค์ความรู้เรื่องการทำฟาร์มแมลงกินได้ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อใช้เป็นต้นแบบช่วยประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ขาดแคลนอาหารโปรตีนและสร้างรายได้ จึงได้ให้ตนเองเป็นผู้นำทีมถ่ายทอดความรู้การทำฟาร์มแมลงกินได้แก่ประเทศต่างๆ เช่น สปป.ลาว ประเทศเคนย่า อูกานดา ในทวีปอัฟริกา เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปี 2556 เมื่อ FAO มีการแถลงข่าวและตีพิมพ์หนังสือที่เขียน โดย ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง และคณะ เรื่อง ปศุสัตว์หกขา การทำฟาร์มแมลงกินได้ของประเทศไทย หรือ “Six-legged livestock: Edible insect farming, collection and marketing in Thailand” ทำให้เกิดมีธุรกิจการทำฟาร์มแมลงกินได้ โดยเฉพาะจิ้งหรีดไปทั่วโลก และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่าทางธุรกิจของแมลงกินได้ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก จึงเป็นสาเหตุที่ FAO และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล็งเห็นถึงการที่ต้องมีคู่มือและข้อแนะนำที่ถูกต้องที่ให้การผลิตจิ้งหรีดที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและการประเมินความปลอดภัยในการผลิตฟาร์มแมลงกินได้นี้
ศ.ดร.ยุพา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันมีการนำจิ้งหรีดมาพัฒนาเป็นอาหารแปรรูปชนิดต่างๆ เช่น ในรูปแบบผง (เหมาะกับชาวต่างชาติ) หรือเป็นซอง ที่กินง่าย ปลอดภัย ซึ่งมีการพัฒนาร่วมกับกับคณาจารย์ มข. หลายคณะ เช่น คณะเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนาการทำฟาร์มจิ้งหรีดแบบ smart farm คณะวิทยาการจัดการ เรื่องการตลาด ตลอดจนสถาบันยุทธศาสตร์เพื่อการวิจัยและพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ส่งเสริมเรื่องการปฏิบัติที่ดีของการทำฟาร์มจิ้งหรีดให้เกษตรกร เพื่อช่วยให้เกษตรกร และผู้ประกอบด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ มีการทำฟาร์มจิ้งหรีดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการผลิตที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค และสามารถแข่งขันและส่งออกต่างประเทศได้
นอกจากนี้ ทางจังหวัดขอนแก่นและมหาวิทยาลัยขอนแก่นตระหนักถึงจุดเริ่มต้นที่ของฟาร์มแมลงจิ้งหรีดในประเทศไทยและต้นแบบด้านแมลงกินได้ของโลกที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นและเป็นผู้สร้างองค์ความรู้เรื่องการใช้แมลงสำหรับเป็นอาหารคนและกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาการใช้แมลงสำหรับเป็นอาหารสัตว์จนเป็นที่ยอมรับของนานาชาติโดยเฉพาะ มข. เป็นผู้มีส่วนร่วมในนโยบายการใช้แมลงเพื่อเป็นอาหารโลกของ FAO จึงพยายามผลักดันให้จังหวัดขอนแก่น เป็น “Edible Insect HUB” และมีแผนการที่จะจัดงาน “จิ้งหรีดโลก” ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นครัวโลกด้านแมลงกินได้อย่างแท้จริงและในอนาคต และอยากให้นักวิจัยรุ่นใหม่ของประเทศไทยร่วมกันศึกษาต่อยอดทางด้านแมลงเพื่อใช้สำหรับเป็นยารักษาโรคต่อไป
A12651
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ