- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Thursday, 03 December 2020 17:50
- Hits: 1542
นักวิจัย ม.อ. ค้นพบแมลงหางดีดถ้ำและแมงกุ้งถ้ำ สกุลใหม่ของโลก ที่ภาคใต้
ชี้ระบบนิเวศน์สมบูรณ์ ‘ดิน’ เหมาะแก่การเพาะปลูก ต่อยอดสู่การอนุรักษ์
นักวิจัย ม.สงขลานครินทร์ ร่วมกับนักวิจัยจากประเทศฝรั่งเศสและนักวิชาการของไทย ค้นพบแมลงหางดีดถ้ำและแมงกุ้งถ้ำชนิดใหม่ของโลก จำนวน 2 สกุล รวม 4 ชนิด ในเขตถ้ำของพื้นที่ภาคใต้ และแมงกุ้งถ้ำชนิดใหม่ในสกุล Theosbaena เพิ่มเติมอีก 1 ชนิด ซึ่งเป็นสัตว์ที่เข้าข่ายใกล้สูญพันธุ์ เผยแมลงหางดีดเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพของดิน ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงการปนเปื้อนโลหะหนักและมลพิษในดิน สะท้อนดินภาคใต้อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก
ผศ.ดร.โสภาค จันทฤทธิ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. และนักวิจัยจากพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พร้อมนักศึกษาจากประเทศไทย ได้ร่วมศึกษาระบบชีววิทยาทางภาคใต้ นำความรู้ไปต่อยอดและเป็นประโยชน์ในระบบนิเวศตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจากการศึกษาทำให้ค้นพบแมลงหางดีดถ้ำชนิดใหม่ของโลกที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก จำนวน 2 สกุล รวม 4 ชนิด โดยจัดเป็นกลุ่มแมลงถ้ำที่มีความจำเพาะกับถิ่นอาศัย (endemic) ที่เจอเฉพาะในถ้ำเขตภาคใต้ของไทย คือ แมลงหางดีดในสกุล Alloscopus จำนวน 2 ชนิด ได้แก่
(จากซ้าย) ผศ.ดร.โสภาค จันทฤทธิ์ และ นางสาวแคทลียา สุระคำแหง (ค้นพบสกุล Troglopedetes),
นายธาวิน สังข์ศิริ (ค้นพบชนิด Alloscopus), Dr. Louis Deharveng (ค้นพบสกุล Troglopedetes)
Dr. Anthony John Whitten (ค้นพบชนิด Alloscopus)
นักธรรมชาติวิทยาและเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แมลงหางดีดถ้ำชนิด Alloscopus namtip Jantarit & Sangsiri, 2020 โดยค้นพบที่ถ้ำน้ำทิพย์ จังหวัดสุราษฏ์ธานี และ แมลงหางดีดถ้ำชนิด Alloscopus whitteni Jantarit & Sangsiri, 2020 ถูกค้นพบที่ถ้ำตาปาน จังหวัดพังงา โดย Dr. Anthony John Whitten นักธรรมชาติวิทยาและเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนายธาวิน สังข์ศิริ นักศึกษาจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. เป็นผู้ค้นพบ โดยแมลงดังกล่าวเป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศเทือกเขาหินปูนและถ้ำ (Karst and cave) มีลักษณะเด่นคือ หนวดปล้องที่ 1 แบ่งเป็น 2 ปล้องย่อย ขณะที่หนวดปล้องที่ 4 แบ่งเป็นปล้องย่อยๆ จำนวนมาก ลำตัวยาวเรียว ปลายหางมีลักษณะงอ อาจมีหรือไม่มีเม็ดสีก็ได้ ทำให้ปัจจุบัน มีแมลงหางดีดในสกุล Alloscopus ทั่วโลก 12 ชนิด โดยมีรายงานการค้นพบในประเทศไทยแล้วอย่างน้อย 4 ชนิด
นอกจากนี้ ม.อ. ยังได้ศึกษาร่วมกับกับนางสาวแคทลียา สุระคำแหง และ Dr. Louis Deharveng จากพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ค้นพบแมลงหางดีดถ้ำชนิดใหม่ในสกุล Troglopedetes (แมลงหางดีดหางหนามเหนือ) เพิ่มเติมอีก 2 ชนิด ได้แก่ แมลงหางดีดหางหนามเหนือถ้ำ ชนิด Troglopedetes meridionalis Jantarit, Surakhamhaeng & Deharveng, 2020 ที่ค้นพบ ณ ถ้ำดอนนนท์ จังหวัดชุมพร โดยเป็นแมลงหางดีดสกุล Troglopedetes ชนิดแรกนี้ เป็นการค้นพบครั้งแรก (new record) ในภาคใต้ของประเทศไทย และ แมลงหางดีดหางหนามเหนือถ้ำ ชนิด Troglopedetes kae Jantarit, Surakhamhaeng & Deharveng, 2020 ที่ค้นพบ ณ ถ้ำเข้ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานธรณีโลก จังหวัดสตูล โดยมีลักษณะเด่นคือ ลำตัวเรียวยาว หนวดปล้องที่ 4 สามารถแบ่งได้เป็น 2 ปล้องย่อย บริเวณปลายหางตั้งตรง และมีหนามขึ้นเป็น 2 แถว จึงเป็นที่มาของชื่อ มีการแพร่กระจายส่วนใหญ่อยู่เหนือคอคอดกระขึ้นไปเท่านั้น
แมลงหางดีดชนิด Alloscopus whitteni และแมลงหางดีดชนิด Troglopedetes meridionalis
“แมลงหางดีด จัดเป็นแมลงโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งทั่วโลกมีแมลงหางดีดสกุล Troglopedetes ทั่วโลก มี 33 ชนิด และไทยเป็นประเทศที่มีแมลงหางดีดสกุลนี้มากที่สุดในโลก จำนวน 14 ชนิด โดยทั้งหมดถูกค้นพบในถ้ำของประเทศไทย และเป็นกลุ่มที่มีความจำเพาะกับถ้ำทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของระบบนิเวศถ้ำในบ้านเราในการรองรับความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในทางวิทยาศาสตร์ (Species new to science)” ผศ.ดร.โสภาค กล่าว
ทั้งนี้การค้นพบแมลงหางดีด สะท้อนว่าระบบนิเวศน์ทางภาคใต้มีความสมบูรณ์ เหมาะสำหรับการเพาะปลูกเนื่องจากสัตว์ที่มีขนาดเล็ก มีบทบาทในการย่อยสลายซากอินทรีย์สารต่างๆ ทั้งพืชและสัตว์ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารต่างๆ และยังช่วยปรับโครงสร้างของดิน และยังมีความสำคัญต่อระบบห่วงโซ่และสายใยอาหาร เพราะแมลงหางดีดเป็นได้ทั้งผู้ล่า จึงสามารถควบคุมการแพร่กระจายของสัตว์/พืชอาหารขนาดเล็กต่างๆ เช่นโปรโตซัว หนอนตัวเล็ก โรติเฟอร์ แบคทีเรีย รา และสาหร่าย และยังสามารถใช้เป็นดัชนีวัดคุณภาพของดิน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศการปนเปื้อนของโลหะหนักและมลพิษในดินได้ด้วย
แมงกุ้งถ้ำ สกุล Theosbaena loko
นอกจากนี้ ยังค้นพบแมงกุ้งถ้ำชนิดใหม่ในสกุล Theosbaena เพิ่มเติมอีก 1 ชนิด ได้แก่ แมงกุ้งถ้ำลอกอ ชนิด Theosbaena loko Jantarit, Promdam & Wongkamhaeng, 2020 ณ ถ้ำลอกอ จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความจำเพาะกับระบบนิเวศถ้ำ โดยเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered species) ตามสถานะการอนุรักษ์ของ IUCN ลักษณะเด่นของแมงกุ้งถ้ำ คือ มีลักษณะคล้ายกับตัวกุ้ง ลำตัวเรียวยาว ทรงกระบอก ตัวสีขาวใส ตาบอด ความยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ซึ่งทั่วโลกมีรายงานเพียง 2 ชนิดเท่านั้น ทำให้ปัจจุบัน มีแมงกุ้งถ้ำในสกุล Theosbaena ทั่วโลกเพียง 3 ชนิด และพบได้ในถ้ำของประเทศไทยและประเทศกัมพูชาเท่านั้น
A12093
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ