- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Sunday, 18 October 2020 11:59
- Hits: 1348
กสศ.-ชวน 6 รร.นานาชาติ ชั้นนำของไทย และเครือข่ายโรงเรียนทุนเสมอภาค 9 จังหวัด
สร้าง ‘นวัตกรรมทางสังคม’ เล็งขยายผลเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาสู่ระดับอาเซียน
หลังเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ มั่นใจเข้าร่วมโครงการรุ่น 2 ทวีคูณ 6 แห่ง นร.ไทย-นานาชาติ
ร่วมลงพื้นที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ จากท้องถิ่นสู่การขายออนไลน์สู่ตลาดโลก ผ่านเครือข่าย JD CENTRAL
อัพคุณค่าสร้างรายได้ยั่งยืน ต้นแบบสังคมเสมอภาคจากฝีมือเยาวชน
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่ และบริษัท JD CENTRAL จัดโครงการพัฒนานวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Partnership’s School Network) รุ่น 2 โดยมีครูและนักเรียนจากโรงเรียนสัดกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 11 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนทาเหนือวิทยา โรงเรียนบ้านขุนแปะ โรงเรียนอนุบาลเกาะคา โรงเรียนบ้านห้วยต้มชัยยะวงษาอุปถัมภ์ โรงเรียนบ้านดงหม้อทอง โรงเรียนสมาคมพยาบาลไทย โรงเรียนบ้านเจริญสุข โรงเรียนเสนศิริอนุสรณ์ โรงเรียนวัดท่ายาง โรงเรียนบ้านชัฏฝาง และโรงเรียนบ้านห้วยเปล้า และโรงเรียนนานาชาติ 6 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่ (Shrewsbury International School) โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย (Bangkok Christian College)โรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา (Bangkok Patana School) โรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ (Bangkok Prep) โรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา (Bangkok Patana School) และโรงเรียนนานาชาติฮาร์โรว์ (Harrow International School) เข้าร่วมกิจกรรม
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการฯ รุ่นที่ 1 เมื่อปีการศึกษา 2562 ที่ผ่านมา โดยให้นักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติได้ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของโรงเรียนในต่างจังหวัดให้ตอบสนองความต้องการของตลาดโลกออนไลน์ในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าในตลาดออนไลน์ผ่านช่องทาง JD CENTRAL พบว่าโครงการดังกล่าวมีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด ผลิตภัณฑ์ของโรงเรียนจากต่างจังหวัด เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสินค้าที่จำหน่ายอยู่เพียงในชุมชน เมื่อเด็กทั้ง 2 ฝ่ายทำงานร่วมกันสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์ให้ทันสมัย สวยงาม และจำหน่ายในตลาดออนไลน์ได้กว้างขวาง สร้างยอดขายและกำไรได้มากขึ้น จนเกิดเป็นโครงการฯ รุ่นที่ 2 ขึ้น โดยมีเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติเข้าร่วมเพิ่มขึ้นเป็น 6 แห่ง เพราะมีความมั่นใจ และต้องการทำงานร่วมกับโรงเรียนไทยในระยะยาวเพื่อช่วยพัฒนาสังคม โดยเบื้องต้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นกลไกในการสร้างความร่วมมือระหว่างเด็กนักเรียนโรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนจากต่างจังหวัด แต่เป้าหมายสำคัญคือการให้เด็กทั้ง 2 กลุ่ม ได้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคมรองรับการขยายผลเพื่อสร้างประโยชน์แก่โรงเรียนในพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต
“จากการดำเนินโครงการรุ่น 1 เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายที่เกิดขึ้น เป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ช่วยสร้างความร่วมมือ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ และสามารถสร้างรายได้ให้กับนักเรียนอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งจากการหารือร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่ เห็นตรงกันว่าหากโครงการรุ่นที่ 2 ประสบความสำเร็จและสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น อาจจะขยายความร่วมมือไปในระดับภูมิภาค โดยเชิญโรงเรียนนานาชาติในภูมิภาคอาเซียนเข้ามาร่วมด้วย นอกจากนี้ ภาคเอกชนบางแห่งก็แสดงความสนใจที่จะเข้ามาร่วมในโครงการนี้ด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันสิ่งที่นับว่าเป็นผลสำเร็จที่น่าภูมิใจ คือได้เห็นว่าเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลล้วนมีใจสู้ มีความมุ่งมั่นในการเรียนรู้ มองหาประสบการณ์ใหม่ๆ จากเพื่อนใหม่ทั้งเพื่อนต่างชาติและเพื่อนคนไทยเพื่อพัฒนาตนเอง ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่เด็กในศตวรรษที่ 21 ต้องมี นอกจากนั้นเยาวชนจากโรงเรียนนานาชาติล้วนต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โครงการพัฒนานวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จึงเป็นการสร้างนวัตกรรมทางสังคมที่มีประโยชน์ และสามารถขยายผลออกไปได้จนเป็นที่ยอมรับ ในสังคมไทยมีคนใจดีจำนวนมากที่พร้อมให้การช่วยเหลือ และมีคนที่ต้องการความช่วยเหลือจำนวนมาก แต่คนสองคนนี้หากันไม่เจอ กสศ.เป็นสะพานเชื่อมให้เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติสองกลุ่มนี้ได้พบกัน ซึ่งจะช่วยให้สังคมไทยเกิดการพัฒนา และสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้ด้วยฝีมือของเยาวชนไทย-นานาชาติ” รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าว
Mr.Greg Threlfall ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่องค์ความรู้ (Director of Outreach) โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่ กล่าวว่า โรงเรียนเข้าร่วมโครงการฯ ในรุ่นที่ 2 โดยนำเป้าหมายการการพัฒนาที่ยั่งยืนของ sustainable development goals (SDGs) ซึ่งจะเน้นการพัฒนาใน 5 เรื่อง คือ 1.No Poverty การขจัดความยากจนทุกรูปแบบ 2.Quality Education การศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน 3.Reduced Inequalities การลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ 4.Responsible Consumption and Production การรับรองแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และ 5.Partnerships for the Goals คือการสร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยทุกเรื่องจะนำไปสู่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ความแตกต่างจากในห้องเรียน เกิดการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างนักเรียนทั้ง 2 ฝ่าย เน้นให้เกิดการใช้ความคิดนอกกรอบและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถหาได้จากประสบการณ์นอกห้องเรียน และการดำเนินโครงการเพื่อนำไปสู่ความเสมอภาคของการศึกษาที่ยั่งยืน
นางนาถฤดี หมายมั่น อาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการนวัตกรรมเครือข่ายฯ โรงเรียนบ้านดงหม้อทอง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ของโรงเรียนคือผ้าย้อมครามที่จะนำมาพัฒนาเป็นสินค้าจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งการได้ร่วมโครงการครั้งนี้สร้างประโยชน์ให้กับทั้งนักเรียน ชุมชน และคนในชุมชน โดยเด็กๆ จะได้รับการพัฒนาทักษะด้านอาชีพเพิ่มขึ้น ขณะที่ภูมิปัญญาของชุมชนถูกนำมาสืบสานและต่อยอด ส่วนคนในชุมชนจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการจำหน่ายสินค้าด้วย การที่ กสศ.จัดโครงการนวัตกรรมเครือข่ายฯ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กโรงเรียนนานาชาติและเด็กนักเรียนจากต่างจังหวัดได้พบกัน นักเรียนจากต่างจังหวัดมีโอกาสได้สร้างมิตรภาพใหม่ๆ ได้เรียนรู้เรื่องการตลาด การวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ และได้ทำงานร่วมกับพี่ๆ ซึ่งความรู้และทักษะที่ได้รับ เด็กๆ สามารถนำไปต่อยอดเพื่อประกอบอาชีพได้ในอนาคต ขณะเดียวกันนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติก็มีโอกาสได้รับความรู้เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นจากชุมชนของโรงเรียน และหากผลิตภัณฑ์ได้รับการพัฒนาสามารถจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่องในอนาคตก็จะช่วยสร้างรายได้และโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กๆ ในโรงเรียนได้ด้วย ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างยั่งยืน
น้องหลิว ดญ.วริศรา ธารารื่นฤดี นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนบ้านห้วยต้มชัยยะวงษาอุปถัมภ์ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ผลิตภัณฑ์ตั้งต้นผ้าทอกี่เอวย่าม กล่าวว่า การได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ มีความสุขสนุกมาก สิ่งสำคัญการได้มาเรียนรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากที่เราทำผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเดิมๆ ที่เคยทำต่อๆ กันมา ซึ่งก็ขายได้ในชุมชนและตลาด แต่เมื่อได้มาเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และการได้แนวความคิดจากพี่ๆ โรงเรียนนานาชาติ ก็เกิดการสร้างสรรค์ปรับรูปแบบกระเป๋าย่ามของเราให้มีความทันสมัย และเหมาะสมกับการนำไปใช้ในชีวิตได้ง่ายขึ้น
“ประทับใจมาก สิ่งแรกที่จะกลับไปต่อยอดความรู้ให้กับตนเองคือเรื่องของภาษาอังกฤษ ที่เราเคยมองว่ายาก แต่ได้กำลังใจจากพี่ๆ ว่าถ้าเราเปิดใจ มีความกล้า ก็ไม่มีอะไรที่จะทำไม่ได้ และก่อนมาร่วมกิจกรรมก็รับรู้ว่าจะต้องมาทำงานร่วมกับรุ่นพี่มัธยมปลายโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งพูดภาษาอังกฤษเป็นหลัก เราก็มีความกลัวในการสื่อสารและมองว่าตัวเราไม่เก่ง แต่ในความจริงพี่ทุกคนน่ารักและบอกว่าทุกคนก็มีความเก่งในตัวเอง ก็ได้กำลังใจและกล้าที่จะทำมากขึ้น” ดญ.วริศรา กล่าว
A10439
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ