- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Friday, 12 June 2020 21:22
- Hits: 1319
สอวช. คาดการณ์ความเปลี่ยนแปลง หลังโควิดคลี่คลาย ชี้การศึกษาไทยจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มหาวิทยาลัยปรับตัวเปิดสาขาใหม่เพิ่มมากขึ้น นักศึกษาลงช่วยพัฒนาชุมชน เกิดสตาร์ทอัพแนวใหม่จำนวนมาก สถาบันการศึกษาก้าวเข้าสู่ ‘โรงเรียนนิวนอร์มัล’
ตามที่ ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มอบนโยบายในการนำเอาขีดความสามารถและองค์ความรู้ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) มาใช้แก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 และสร้างความเข้มแข็งทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในช่วงหลังโควิด-19 โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะหน่วยงานในกำกับของกระทรวง อว. ได้จัดทำรายงานการศึกษาวิจัย มาตรการด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อรองรับการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งหนึ่งในมาตรการสำคัญที่มีการปรับตัวกันมากคือ ด้านสุขภาพและการศึกษา
ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในทุกมิติ โดยมิติหนึ่งที่สำคัญมากคือ ด้านการศึกษา ซึ่งเป็นภาวะความปกติใหม่ของประเทศไทยที่ต้องเผชิญ หลังจากสถานศึกษากลับมาเปิดการเรียนการสอน ก็จะมีมาตรการการป้องกัน ผสมผสานการเรียนทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ส่งผลให้เกิดสตาร์ทอัพด้านการเรียนการสอนขึ้นจำนวนมาก มหาวิทยาลัยมีการเปิดหลักสูตรพัฒนาทักษะสำหรับกลุ่มอาชีพมากขึ้น ในขณะที่นักเรียนและนักศึกษาเริ่มหันไปสนใจการเรียนสาขาใหม่ๆ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องเร่งปรับหลักสูตร นักศึกษาทั้งที่เรียนอยู่และจบใหม่จะมีบทบาทเข้าไปช่วยพัฒนาชุมชนมากขึ้น เกิดเป็น local startup และ social enterprise จำนวนมาก
“การแข่งขันการระหว่างมหาวิทยาลัยมีสูงขึ้น เกิดการลดขนาดและแบ่งตลาดกันอย่างชัดเจน หลักสูตรมีการผสมผสานระหว่างการเรียนออนไลน์และออฟไลน์ สถานศึกษาบางแห่งที่ไม่สามารถตอบโจทย์ตลาดใหม่ได้ต้องปิดตัวลง การเรียนการสอนเน้นไปที่การพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากขึ้น” ดร.กิติพงค์ กล่าว
สำหรับมาตรการฟื้นฟู เป้าหมายสำคัญ คือ ปรับเปลี่ยนรูปแบบของการศึกษาและการเรียนรู้ของสถาบันการศึกษาให้ก้าวเข้าสู่ความเป็น “new normal schools” สามารถจัดการศึกษาและการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพ คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งจะทำให้นักเรียน นักศึกษา หรือผู้เรียนทุกช่วงวัยสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา แม้ในภาวะวิกฤต
สำหรับประเด็นด้าน อววน. ที่สำคัญเพื่อรองรับการฟื้นฟู และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านการศึกษา คือ การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย มาตรการที่จำเป็นสำหรับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย คือ สถานศึกษา มีการพัฒนานวัตกรรมและระบบบริหารจัดการอาคารสถานที่ การจัดการเรียนกลุ่มเล็กในสถานศึกษา เพื่อทำให้ผู้เรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถรักษาระยะห่างทางสังคม และลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในสถานศึกษา, มีการพัฒนาและใช้โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่จำเป็นต่อการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคในสถานศึกษา, การพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อรองรับการเรียนผ่านสื่อผสมผสานเพื่อการเรียนออนไลน์และออฟไลน์ มีการยกระดับทักษะและความรู้พื้นฐานด้านดิจิทัล ครู บุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน และพัฒนาสื่อการสอน เพื่อทดแทนหรือเสริมการเรียนในระบบปกติได้ รวมถึงเพื่อให้บุคลากรสนับสนุนมีทักษะด้านดิจิทัลเพียงพอต่อการสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษาของสถานศึกษา, การพัฒนาทักษะการสอนและเนื้อหาการสอนที่เหมาะสมกับการเรียนผ่านระบบดิจิทัล และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน รวมถึงให้ความรู้ด้าน health education กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ในส่วนของนักเรียนและผู้ปกครอง หากมีความจำเป็นต้องเรียนจากที่บ้าน ก็ต้องมีความรู้พื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อจะได้เข้าใจถึงการใช้อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนทางไกล เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ซิมการ์ดสำหรับเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งทางสถานศึกษาควรพิจารณาสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนทางไกลให้แก่ผู้เรียน โดยการอุดหนุนค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ หรือจัดหาอุปกรณ์ให้นักเรียนสามารถยืมเรียนได้
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้เอสเอ็มอี พัฒนานวัตกรรมสำหรับใช้ในสถานศึกษาที่กลับมาเปิดการเรียนการสอน เช่น นวัตกรรมสำหรับตรวจคัดกรอง การสืบเสาะ และการติดตามผู้ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อในสถานศึกษา นวัตกรรมสื่อการสอนที่ใช้ทดแทนหรือเสริมการเรียนปฏิบัติการ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ระยะไกล เช่น การติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในโรงเรียนหรือแหล่งเรียนรู้ชุมชน การพัฒนาแพลตฟอร์มกลางที่บรรจุบทเรียนออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่ายและทันสมัย เป็นต้น
Download : รายงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมาตรการด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อรองรับการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/Covid-19Recovery
AO6238
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web