- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Friday, 17 October 2014 23:08
- Hits: 6340
น้องปราง สาวน้อยภาคใต้วัย 4 ปี &น้องพอดี สาวน้อยภาคเหนือวัย 6 ปี คว้าแชมป์หนูน้อยยอดนักเล่านิทานระดับประเทศ ปีที่ ๙ ก้าวสู่อาเซียน ได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
หลังจากสัญจรทั่วประเทศ โครงการ ลับสมอง ประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน ครั้งที่ ๙ ก้าวสู่อาเซียน ได้ตัวแทนหนูน้อยยอดนักเล่านิทานจากทั่วทุกภูมิภาค เพื่อเข้าร่วมการประกวดรอบชิงชนะเลิศ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การประกวดรอบชิงชนะเลิศ ของโครงการลับสมอง ประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน ครั้งที่ ๙ ก้าวสู่อาเซียน ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11–12 ตุลาคม 2557 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ภายใต้แนวคิด ‘เติมอาหารกาย เสริมอาหารใจ บำรุงอาหารสมอง’ โดยเด็กที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาสู่รอบชิงชนะเลิศเป็นตัวแทนหนูน้อยยอดนักเล่านิทานจากแต่ละภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออก ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสามารถด้านเล่านิทานอย่างเป็นธรรมชาติ สดใส สมวัย พร้อมด้วยปฏิภาณไหวพริบ และจินตนาการสุดสร้างสรรค์ในการถ่ายทอดเรื่องราวจากนิทาน
เด็กทุกคนมีลีลา ความสามารถเฉพาะตัว และหลายคนมีแววด้านการเป็นนักเล่านิทาน ฉายความสามารถออกมาอย่างน่าทึ่ง สร้างความประทับใจให้กับคณะกรรมการ และนักเล่านิทานมืออาชีพอย่างมาก
รศ. กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์ นักเล่านิทาน นักแต่งนิทาน หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการประกวดทั้งรอบคัดเลือกและรอบชิงชนะเลิศ กล่าวคำแนะนำสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากปั้นนักเล่านิทานตัวน้อย หรือสานฝันหนูน้อยยอดนักเล่านิทานให้ฉายแววชัดขึ้น
“ถ้าอยากให้ลูกได้แสดงความสามารถผ่านการเล่านิทาน เคล็ดลับที่ง่าย และทำได้ คือ เด็กควรเลือกนิทานที่ตัวเองชอบที่สุด เนื้อเรื่องไม่ยาวเกินไป อ่านนิทานให้เข้าใจว่า เป็นเรื่องแนวไหน แล้วเล่าด้วยความเป็นตัวของตัวเอง เป็นธรรมชาติให้มากที่สุด เสียงดังฟังชัด เน้นเสียงหนัก เสียงเบาบ้าง ให้มีชีวิตชีวาตามเนื้อเรื่อง ที่สำคัญต้องมองหน้าผู้ฟังด้วยค่ะ
ส่วนเทคนิคง่ายๆ สำหรับพ่อแม่ที่สามารถเก็บเกี่ยวเรื่องดีๆ จากการเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟัง...
“พ่อแม่สามารถเก็บเกี่ยวเรื่องดีๆ กับกิจกรรมที่ทำกับลูก ได้โดยให้เวลากับลูก ด้วยการเล่านิทาน อ่านหนังสือให้ฟังเป็นประจำ อ่านและเล่าอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ถนัด เป็นธรรมชาติ รู้จักเลือกหนังสือที่ดี สอดแทรกคุณธรรมอย่างแนบเนียน คือไม่สั่งสอนตรงๆ ซึ่งการเล่านิทาน อ่านหนังสือ ทำกิจกรรมต่างๆ กับลูกตั้งแต่เล็ก จะทำให้เด็กมีความสุข เติบโต เป็นคนดี และจะฉลาดอย่างคาดไม่ถึงจริงๆ”
ทางด้าน คุณพัลลภ สินธุ์เจริญ หรือ บัวไร นักเขียน นักเล่านิทาน และนักเขียนบทภาพยนตร์ กล่าวถึงความสำคัญของการอ่าน
การอ่านเป็นพื้นฐานที่ดี ซึ่งในสมัยเด็กผมอ่านหนังสือทุกประเภท ประจวบกับการทำงานที่มีโอกาสได้คิด ได้เขียนต่างๆ จนทำให้ผมเดินอยู่ในสายอาชีพนักเขียน เขียนบทภาพยนตร์ และเป็นคนเล่าเรื่อง (ที่ตัวเองแต่ง) ผลงานต่างๆ ที่ออกมาส่วนหนึ่งก็มาจากการอ่าน ซึ่งทุกวันนี้ผมก็ยังอ่านหนังสือ เลือกหนังสือดีๆ ให้ตัวเอง ในมุมมองการเล่า ผมรู้สึกว่าการได้เล่านิทานให้เด็กๆ ฟัง มีความสุขที่ได้เห็นเด็กๆ หัวเราะ มีรอยยิ้ม หรือเวลาที่ผมเล่านิทานให้หลานฟัง เขาจะเข้ามาหอมมากอด แค่นี้ก็ชื่นใจแล้วครับ
“ฉะนั้น เมื่อพ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟัง คิดว่าจะดีมากๆ เลย เล่าเถอะครับ เล่าตามความเข้าใจของคุณพ่อคุณแม่ ไม่ต้องเหมือนกูรูนักเล่าก็ได้ ขอแค่ให้ลูกมานั่งตัก แล้วพ่อแม่หยิบนิทานมาอ่านให้ฟัง ใส่จินตนาการเข้าไปด้วย เพื่อเพิ่มความสนุก ที่สำคัญคนเล่าต้องสนุก มีอารมณ์ร่วมด้วยครับ”
สิ่งที่พิเศษสุดสำหรับโครงการฯ ในปีนี้ นอกเหนือจากประสบการณ์ที่เด็กได้รับจากการเปิดโลกการอ่าน และจินตนาการแล้ว เด็กที่ผ่านการคัดเลือกในรอบชิงชนะเลิศ จำนวน 12 คน (ระดับอายุละ 6 คน) จะได้เป็นตัวแทนไป ทัศนศึกษา ณ ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2557 เพื่อเปิดโลกการอ่าน และเรียนรู้ประสบการณ์ในประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนอย่างประเทศสิงคโปร์ อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเด็กไทยต่อไป
การเฟ้นหา “แชมป์หนูน้อยยอดนักเล่านิทานระดับประเทศ” ในโครงการลับสมอง ประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน ครั้งที่ ๙ ก้าวสู่อาเซียน ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษากว่า 200,000 บาท จัดทั้งหมด 2 วัน คือ วันที่ 11 ตุลาคม 2557 เป็นการประกวดประเภทเดี่ยว ระดับอายุ 4-6 ปี และวันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม 2557 เป็นการประกวดประเภทเดี่ยว ระดับอายุ 6-9 ปี ณ อุทยานการเรียนรู้ (TK park) ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8 เวลา 12.00 – 17.00 น. ซึ่งผู้ชนะเลิศมีรายละเอียดดังนี้
ประเภทเดี่ยว อายุ 4-6 ปี
รางวัลชนะเลิศ ด.ญ.ปานรัตน ปานรงค์ (น้องปราง) อายุ 4 ปี 8 เดือน โรงเรียนอนุบาลเมฑัส จ.สุราษฎร์ธานี นิทานที่เล่าเรื่อง นากขี้กลัว
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด.ญ.ศิณัญญา ใบโพธิ์วงศ์ (น้องอิ่งอิ๊ง) อายุ 4 ปี 4 เดือน โรงเรียนนานาชาติคอนเคอร์เดียน จ.สมุทรปราการ นิทานที่เล่าเรื่อง ลูกหมู 3 ตัว
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ด.ญ.วิมฐ์วิภา เตชะสกุลเลิศ (น้องวิมฐ์) อายุ 5 ปี 5 เดือน โรงเรียนตันตรารักษ์ จ.ชลบุรี นิทานที่เล่าเรื่อง กุ๋งกิ๋งท้องผูก
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ด.ช.ภควพจน์ อิโตะ (น้องฮิโระ) อายุ 5 ปี 7 เดือน โรงเรียน เฮงฮั้ว จ.ชลบุรี นิทานที่เล่าเรื่อง เทวดากับชายตัดฟืน
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ด.ช.พีรวัชญ์ จันทรา (น้องนิวตั้น) อายุ 6 ปี 1 เดือน โรงเรียนโกวิทธำรงเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นิทานที่เล่าเรื่อง แกะน้อยนักอ่าน
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ด.ญ.เมธาพร อิ่มบำรุง (น้องข้าวฟ่าง) อายุ 6 ปี 1 เดือน โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง จ.กรุงเทพฯ นิทานที่เล่าเรื่อง จอมขอจ๋อๆ เจี๊ยกๆ
ประเภทเดี่ยว อายุ 6-9 ปี
รางวัลชนะเลิศ ด.ญ.วรปรียา ไทยสวัสดิ์ (น้องพอดี) อายุ 6 ปี 3 เดือน โรงเรียนปรินส์รอยเยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ นิทานที่เล่าเรื่อง แม่เต่าขี้ลืม
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด.ญ.กานต์พิชชา ชุนหะศรี (น้องลูกอิน) อายุ 6 ปี 7 เดือน โรงเรียนอนุบาลวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎ์ จ.ฉะเชิงเทรา นิทานที่เล่าเรื่อง กุ๋งกิ๋งรักเพื่อนบ้าน
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ด.ญ.อินท์นรี มิ่งขวัญ (น้องอิ๊นท์) อายุ 8 ปี 8 เดือน โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง จ.กรุงเทพฯ นิทานที่เล่าเรื่อง ซุปก้อนหิน
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ด.ญ.ซอนเนีย โรมักโนลิ (น้องซอนญ่า) อายุ 6 ปี 5 เดือน โรงเรียนอักษรพัทยา จ.ชลบุรี นิทานที่เล่าเรื่อง ครอบครัวแสนรัก
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ด.ญ.มิรา ลิมปิวรรณ (น้องแก้มบุ๋ม) อายุ 6 ปี 7 เดือน โรงเรียนวรรัตน์ศึกษา จ.กรุงเทพฯ นิทานที่เล่าเรื่อง กุ๋งกิ๋งท้องผูก
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ด.ญ.นริศศา เบิร์น (น้องเอมี่) อายุ 7 ปี 10 เดือน โรงเรียนดอนบอสโกวิทยา จ.อุดรธานี นิทานที่เล่าเรื่อง ปลาสายรุ้ง
พื้นที่สำหรับเด็กดีๆ กิจกรรมดีๆ แบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีหน่วยงานที่เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของการอ่านอย่าง สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park), มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม และนิตยสาร Mother&Care และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ