- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Sunday, 19 January 2020 20:43
- Hits: 1169
อว.สนับสนุนเครือข่าย UNINET เพื่อการพัฒนาเครือข่ายการศึกษาและการวิจัย : เพิ่มพลังในการพัฒนาประเทศ
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การดำเนินกิจกรรมบนระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา ครั้งที่ 40” (WUNCA 40th) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
ในการนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวต้อนรับในนามของชาวจังหวัดกาญจนบุรี จากนั้น ดร.ณรงค์เดช รัตนานนท์เสถียร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี กล่าวต้อนรับในฐานะเจ้าภาพการจัดงาน และกล่าวรายงานโดย นางสาวจันทนา วงศ์เยาว์ฟ้า ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet) โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ ผู้สนใจและผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมจำนวนกว่า 900 คน
ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีเป้าหมายที่จะปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยเชื่อมโยงงานด้านการอุดมศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมและด้านการวิจัย มารวมไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างผลกระทบในทางบวกต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาคนไทย ให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงงานทุกๆ ด้านเข้าด้วยกัน สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้ตระหนักถึงทิศทางดังกล่าว จึงได้ดำเนินการวางรากฐานเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา หรือที่เราเรียกกันว่า เครือข่ายยูนิเน็ต (University Network) ขึ้น เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักด้านระบบเครือข่ายสำหรับสถาบันอุดมศึกษา ที่สามารถรองรับการใช้งานด้านการศึกษาวิจัยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
“ปัจจุบันกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับบริการเครือข่ายจาก UniNet จะได้รับบริการสื่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นช่องทางเฉพาะเพื่อการศึกษาวิจัยที่มีขนาดความเร็วขั้นต่ำ 1 กิกะบิตต่อวินาที จนถึงที่ขนาดความเร็ว 10 กิกะบิตต่อวินาที รวมถึงการให้บริการฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการศึกษาและการวิจัย จำนวน 11 ฐานข้อมูล ให้บริการแก่สถาบันอุดมศึกษา จำนวน 78 แห่ง ซึ่งมีความพร้อมในหลายด้านแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญที่มาจากสถาบันอุดมศึกษา รวมถึงเครื่องมือสนับสนุนในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการจัดการศึกษาและการวิจัยในระดับอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัด แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องช่วยกันหาคำตอบว่าจะนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้ขับเคลื่อนอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เกิดการบูรณาการและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ลดความซ้ำซ้อน และประหยัดงบประมาณ สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาร่วมกันคิดและร่วมกันพัฒนาให้เป็นเครือข่ายสำหรับการศึกษาและการวิจัยของประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต”ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวในตอนท้าย
รมว.อว. ประชุมคณะกรรมการอำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 1/2563
(15 มกราคม 2563) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) จัดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 1/2563 โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, ดร.กิติพงศ์ พร้อมวงศ์ ผู้อำนวยการ สอวช., คณะผู้บริหาร กรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุม
ดร.กิติพงศ์ ผอ.สอวช. กล่าวชี้แจงถึงระเบียบวาระ เรื่องเพื่อทราบต่อที่ประชุมในวันนี้ว่า มีดังนี้
- เรื่อง แนะนำสภานโยบาย และ สอวช.
- เรื่อง บทบาทของคณะกรรมการอำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
- เรื่อง การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของ สอวช.
ดร.กิติพงศ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สอวช. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนระบบ อววน. 2 เรื่อง คือ 1. การจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พ.ศ. 2563 - 2570 และการจัดทำกรอบงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยออกแบบให้มีการจัดสรรงบประมาณแบบ Platform Management ดังนี้ แพลตฟอร์มที่ 1 การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ แพลตฟอร์มที่ 2 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม แพลตฟอร์มที่ 3 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และแพลตฟอร์มที่ 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกัน สอวช. ยังได้ริเริ่มการวิจัยเชิงระบบ เพื่อให้เห็นภาพใหญ่ของประเทศว่าตอนนี้ประเทศอยู่จุดไหน ต้องเดินต่อไปอย่างไร ซึ่งจะทำให้สามารถรู้ทิศทางในการขับเคลื่อนประเทศและสามารถกำหนดนโยบายได้อย่างตอบโจทย์และชัดเจน ซึ่งการวิจัยเชิงระบบจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างมาก
ด้าน ดร.สุวิทย์ รมว.อว. กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มุ่งผลักดันในเรื่องของ “BCG Model” การพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม โมเดลดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน กระจายรายได้ โอกาส และความมั่งคั่งแบบทั่วถึง
BCG จะเป็นกลไกขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมของ Thailand 4.0 และการปฏิรูปประเทศ นอกจากนั้น ยังมีกลไกขับเคลื่อนประเทศในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ คือ Earth-Space System ระบบโลกและอวกาศ ซึ่งเป็นการสร้างจุดเปลี่ยนสําคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและความสามารถในการแข่งขันที่เหมาะสม เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีที่เป็นโจทย์ท้าทายของโลก สร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนจากภาคเอกชนและนำไปสู่การเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและผู้ส่งออกเทคโนโลยี รวมถึงการเพิ่มศักยภาพบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการรับมือภัยคุกคามอันเกิดจากพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ล้ำยุค การพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ การเฝ้าระวังและเตือนภัยล่วงหน้าจากภัยพิบัติธรรมชาติ ผลกระทบจากมลพิษในดิน น้ำและอากาศ และเสริมสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในการป้องกันประเทศ รวมถึงการผลักดันเรื่อง AI Intelligent System อีกด้วย
นอกจากนั้น การประชุมในครั้งนี้ มีระเบียบวาระเสนอต่อที่ประชุม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ดังนี้
- เรื่อง ระเบียบ กอวช. ว่าด้วยผู้ขับเคลื่อนพันธกิจเฉพาะเรื่อง พ.ศ. ...
- เรื่อง การกำหนดเครื่องหมายของเครื่องแบบผู้อำนวยการ สอวช. และพนักงาน สอวช.
รวมไปถึงข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อการป้องกัน และแก้ไขข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web