- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Tuesday, 24 September 2019 16:57
- Hits: 3845
พัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการญี่ปุ่น ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)
สอศ.ร่วมกับสถานประกอบการญี่ปุ่นสัมมนาจัดทำฐานข้อมูลกำลังคนรองรับอุตสาหกรรมญี่ปุ่น
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสัมมนาจัดทำฐานข้อมูลกำลังคนด้านอุตสาหกรรมของสถานประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทย ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) อ.พานทอง จ.ชลบุรี โดยผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนา 200 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากสถานประกอบการ 40 แห่ง และผู้แทนจากสถานศึกษาในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) 20 แห่ง
ประเด็นสำคัญที่ รมว.ศธ.ให้นโยบาย
– สถานศึกษาอาชีวะต้องเร่งผลิตพัฒนาผู้เรียนตอบสนองความต้องการภาคอุตสาหกรรม 3 ด้าน คือ ระเบียบวินัย การสื่อสารภาษาอังกฤษ และทักษะที่ตรงกับสายงาน
– ขอให้เร่งบริหารจัดการครูที่มีความรู้ความสามารถที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
– นำฐานข้อมูลความต้องการกำลังคน มาใช้พัฒนากำลังคน
– การเพิ่มจำนวนผู้เรียน ต้องให้เด็กได้เห็น-สัมผัสเทคโนโลยีที่ทันสมัย กระตุ้นให้อยากมาเรียน
– หลักสูตรทวิภาคี ให้สถานศึกษาหารือกับผู้ประกอบการแต่ละราย เพราะความต้องการแตกต่างกัน
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การประชุมสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลความต้องการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการญี่ปุ่น ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) อันจะนำไปสู่การวางแผนการผลิตกำลังคนให้มีคุณภาพ ตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการอย่างแท้จริง และขอความร่วมมือกับสถานประกอบการเพื่อใช้เป็นฐานในการเรียนและการฝึกงานของนักศึกษาในรูปแบบ Work Integrated Learning (WIL) แบบเข้มข้น ตลอดจนประชาสัมพันธ์การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตรต่อเนื่อง 5 ปี ตามมาตรฐานโคเซ็น ซึ่งเป็นหลักสูตรตามความร่วมมือกับ KOSEN NationaI Institute of Technology ประเทศญี่ปุ่น โดยได้จัดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 ณ วิทยาลัยเทคนิคสุรนารีจังหวัดนครราชสีมา และวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) แห่งนี้
นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า จังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่ EEC มีที่ราบชายฝั่งทะเลที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ มีเกาะต่าง ๆ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลังงาน และยานยนต์ มีเขตนิคมอุตสาหกรรมที่มีสถานประกอบการในหลาย ๆ ประเทศเข้ามาลงทุนกว่า 4,000 บริษัท โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่มีการสร้างการลงทุนและสร้างอุตสาหกรรมในระดับต้น ๆ ของประเทศ
ทั้งนี้ จังหวัดชลบุรีมีสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวน 8 แห่ง สถานศึกษาอาชีวะเอกชนอีก 25 แห่ง จัดการเรียนการสอนให้แก่เยาวชนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง พัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ รองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้พูดคุยกันอย่างชัดเจนแล้วว่า เรื่องสำคัญที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการมี 3 เรื่องหลักด้วยกัน คือ 1) ระเบียบวินัย 2) ความสามารถด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ 3) ทักษะที่ตรงกับสายงาน โดยเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งสถานศึกษาต้องเพิ่มความเข้มงวดในประเด็นดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องภาษาเป็นข้อจำกัดที่ต้องมุ่งมั่นแก้ปัญหา จะรอเวลาไม่ได้ โดยต้องฝึกหัดเด็กตั้งแต่ชั้น ม.1 ให้เข้มข้นในระยะเวลา 2-3 ปี เชื่อมั่นว่าเด็กจะสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีในระดับหนึ่ง ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ สอศ. ต้องร่วมกันปรับการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสม
ขณะเดียวกัน ต้องวางแผนระยะยาวถึงการบริหารจัดการครูที่มีความรู้ความสามารถ แต่กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ โดยอาจจะต้องจัดหมวดหมู่ธุรกิจเดียวกันแล้วเปิดสอนหลักสูตรในวิทยาลัยอย่างเข้มข้น เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด ทั้งนี้ สอศ.ต้องไปหาแนวทางบูรณาการหลักสูตรให้ตรงความต้องการตลาดและตรงความสามารถผู้เรียน เพื่อนำแรงงานเข้าสู่ตลาดให้ได้ ซึ่งความต้องการแรงงานของตลาดปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 400,000 คน แต่การผลิตกำลังคนสายอาชีพที่ตรงกับงานอยู่ที่หลักหมื่นต้น ๆ เท่านั้น ศธ.ต้องเร่งสร้างแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดตั้งแต่วันนี้ รวมถึงหลักสูตรต่าง ๆ ต้องใช้ให้ได้ภายในเทอมหน้า มิเช่นนั้นจะผลิตกำลังคนไม่ทัน ส่งผลให้การลงทุนจากต่างประเทศจะหายไป ทั้งหมดนี้เป็นการนำนโยบายของรัฐบาลด้านการศึกษามาสานต่อให้เกิดผลเชิงประจักษ์
นอกจากนี้ 'ฐานข้อมูลความต้องการกำลังคน' เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ ศธ. นำมาเป็นแนวทางในการพัฒนากำลังคน ทั้งการพัฒนาในรูปแบบการอบรมระยะสั้นและการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรในสายอาชีพ ซึ่งรัฐบาลมุ่งมั่นผลักดัน EEC ให้สามารถเติบโตทันกับธุรกิจที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ได้กำลังคนที่มีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการที่จะมาขยายการลงทุน ส่งผลให้ประเทศไทยและญี่ปุ่นเดินหน้าไปด้วยกันอย่างต่อเนื่อง
ในประเด็น 'การเพิ่มจำนวนผู้เรียน' ต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์มาช่วยส่งเสริมให้เด็กได้เห็น ได้สัมผัสเทคโนโลยีที่ทันสมัย กระตุ้นให้เด็กอยากมาเรียน โดยเฉพาะเด็กที่มีความถนัดทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ให้สนใจมาเรียนสายอาชีพมากขึ้น ส่วนการจัดหลักสูตรทวิภาคี ต้องการให้สถานศึกษาปรึกษากับผู้ประกอบการเป็นราย ๆ ไป เพื่อให้ทราบความต้องการที่แท้จริง เนื่องจากแต่ละกลุ่มจะมีความต้องการที่แตกต่างกัน
Mr.Kuba Masaharu เลขานุการเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวขอบคุณ ศธ. ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการญี่ปุ่น ซึ่งที่ผ่่านมาประเทศไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นทั้งในระดับวัฒนธรรม การศึกษา จนถึงระดับเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือให้สถาบันโคเซ็นได้ร่วมวางระบบการศึกษา รวมถึงความร่วมมือด้านอื่น ๆ จากภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งวันนี้ถือเป็นก้าวใหญ่ในการพัฒนาการศึกษา โดยประเทศญี่ปุ่นยินดีสนับสนุนการศึกษาของประเทศไทยอย่างเต็มที่
โอกาสนี้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้เป็นประธานพิธีเปิดห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ณ อาคารเรียนแผนกช่างอุตสาหกรรมฐานวิทยาศาสตร์ และเยี่ยมชมนิทรรศการสถานประกอบการ ณ อาคารอเนกประสงค์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) ซึ่งนำนิทรรศการความก้าวหน้าการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาของสถานประกอบการและสถานศึกษา จำนวน 60 แห่ง มาจัดแสดงด้วย
Click Donate Support Web