- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Friday, 06 September 2019 16:32
- Hits: 3000
อว. จัดโครงการปั้นดาว เฟ้นหาสุดยอดงานวิจัยและนวัตกรรมในมหาวิทยาลัยผ่านศูนย์ความเป็นเลิศ
อว. จัดโครงการปั้นดาว เฟ้นหาสุดยอดงานวิจัยและนวัตกรรมในมหาวิทยาลัย ผ่านศูนย์ความเป็นเลิศ 11 ศูนย์ระดมผู้รู้คัดงานวิจัยที่มีแววจับคู่กับกูรูด้านการสร้างนวัตกรรม พร้อมจัดงบประมาณสนับสนุนกว่า 80 ล้านบาท
สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการและแสดงนิทรรศการ เรื่อง “การจับคู่วิจัยโครงการปั้นดาว” และปาฐกถาพิเศษ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วนวิจัยและนวัตกรรม” ณ ศูนย์นวัตกรรมและความรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ชั้น 7 ศูนย์การค้าบางซื่อจังชั่น จตุจักร (ตึก DD Mall) ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “จากห้องปฏิบัติการวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์” เพื่อเฟ้นหาสุดยอดงานวิจัยและนวัตกรรมจากศูนย์ความเป็นเลิศ 11 ศูนย์ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สบว.) สป.อว. โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงฯ นักวิจัย ผู้แทนหน่วยสร้างนวัตกรรมและผู้แทนภาคอุตสาหกรรม เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สบว.) สป.อว.ด้านการอุดมศึกษา (สกอ.เดิม) ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทั้ง 11 ศูนย์จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ และหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการผลักดันงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพานิชย์ของประเทศ ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ KX Consulting Enterprise Co., Ltd. มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี จัดโครงการ “การสร้างมูลค่างานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพานิชย์ (ปั้นดาว)” ขึ้น เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการนำผลงานวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศและนักวิจัยอิสระที่มีความพร้อมและศักยภาพสูงไปพัฒนาต่อยอดให้สามารถส่งมอบเทคโนโลยีให้กับภาคการผลิต สามารถนำไปสร้างนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ในรูปของสินค้า/บริการได้ โดยมีงบประมาณสนับสนุนจำนวน 80 ล้านบาท
โครงการ 'ปั้นดาว' ถือเป็นมิติใหม่และเป็นนวัตกรรมใหม่ของการเฟ้นหาและทำงานวิจัย โดยรัฐจะสนับสนุนโครงการวิจัยศักยภาพสูงและสอดคล้องกับความต้องการทางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพานิชย์ได้ในระยะสั้น ผ่านกระบวนการคัดกรองอย่างเข้มข้นถึง 4 ขั้นตอน เพื่อให้ได้โครงการวิจัยที่มีความโดดเด่นและมีศักยภาพสูงสุด ประกอบด้วย
รอบแรกรอบ Proposing Round : ศูนย์ความเป็นเลิศคัดเลือกผลงานวิจัยของศูนย์ที่มีความโดดเด่นและมีศักยภาพสำหรับจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยเบื้องต้น จำนวน 60 โครงการ
รอบที่ 2 รอบคัดเลือก (Selection Round) : ผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะทำงานด้านวิชาการพิจารณาโครงการวิจัย ระยะ พิจารณาคัดเลือกโครงการวิจัยที่มีศักภาพสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ จำนวน 27 โครงการ
รอบที่ 3 รอบจับคู่วิจัย (Pitching and Matching Round) : คณะที่ปรึกษา (Coach) คัดเลือกโครงการศักยภาพสูง สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิตและสามารถพัฒนาต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ต่อในเชิงพานิชย์ได้ โดยการคัดเลือกจับคู่เพื่อทำงานวิจัยร่วมกันระหว่างเจ้าของโครงการวิจัยกับทีมคณะที่ปรึกษา พร้อมจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยทั้ง 27 โครงการที่เข้าร่วมในการคัดเลือก แก่ผู้ร่วมงานและสื่อมวลชน
รอบที่ 4 รอบตัดสิน (Final Round) : ที่ปรึกษาและนักวิจัยที่ได้รับการคัดเลือกจับคู่ ร่วมกันพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยฉบับสมบูรณ์ (Full Proposal) นำเสนอให้คณะทำงานฯ พิจารณาตัดสินคัดเลือกโครงการวิจัยที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพสูงสุด ไม่เกิน 12 โครงการ เพื่อเข้ากระบวนการ “ปั้นดาว”ต่อไป
ในครั้งนี้เป็นการคัดเลือกงานวิจัยจาก 27 โครงการ โดยจะคัดเลือกโครงการศักยภาพสูงสอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิตที่สามารถพัฒนาต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ต่อในเชิงพานิชย์ได้ ให้เหลือเพียง 10-12 โครงการ เพื่อจับคู่ทำงานวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิจัย (Pitching and Matching Round) กับคณะที่ปรึกษา (Coach) ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนทั้งด้านทุนวิจัยและระบบการ coaching จาก อว. เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาสินค้าและบริการ ในกรอบระยะเวลา 1 ปี “ปั้นดาว” จึงถือเป็นนวัตกรรมตัวอย่างในการทำงานวิจัยที่เด่นชัดเพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยกับ ความต้องการทางยุทธศาสตร์ของประเทศและเสริมภาคการผลิตอุตสาหกรรมให้เข้มแข็ง เพื่อเพิ่มระระดับความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศด้วยการวิจัยและนวัตกรรม.
Click Donate Support Web