- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Saturday, 05 January 2019 12:31
- Hits: 5117
สจล. ตั้งศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ติดตามความเคลื่อนไหวของพายุ แนะประชาชน เกาะติดอิทธิพลของพายุปาบึก ด้วยแอปฯ WMApp และ ThailandRain
พร้อมเตือน 15 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังฝนตกหนัก ลมแรง
· สจล. เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยจากพายุปาบึก รองรับได้ 500 คน
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ตั้งศูนย์ติดตามความเคลื่อนไหวของพายุ (Data center) เผยผลการติดตามทิศทางการเคลื่อนของพายุปาปึก ด้วยระบบพยากรณ์อากาศและแอพพลิเคชั่น’WMApp’ ที่มีความแม่นยำและความละเอียดสูงที่สุด รายเขตปกครองในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ ‘อาเซียน’ ตลอดจนได้เผยข้อมูลเตือน 15 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม พร้อมเปิดศูนย์ประสานงานและที่พักฉุกเฉินผู้ประสบภัยพายุโซนร้อนปาบึก ภายใน สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร แนะประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางการต่อเนื่อง จะช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น ไปจนถึงวางการแผนเตรียมความพร้อมในการรับมือในพื้นที่เสี่ยงภัย
ทั้งนี้ ผู้ประสบภัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ศูนย์ประสานงานและที่พักฉุกเฉินผู้ประสบภัยพายุโซนร้อนปาบึก ภายใน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้ที่เบอร์ ประสานงานทั่วไป 077-506-410 แจ้งเหตุฉุกเฉิน 083-066-5373 และ 088-757-4847 หรือเข้าไปที่ https://www.facebook.com/kmitlnews/
รองศาสตราจารย์ สุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรกายภาพและสิ่งแวดล้อม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล.ได้ระดมศักยภาพของบุคลากรและเตรียมความพร้อมรับมืออิทธิพลจากพายุปาบึก โดยได้จัดตั้ง ‘ศูนย์ประสานงานและที่พักฉุกเฉินผู้ประสบภัยพายุโซนร้อนปาบึก’ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2562
ภายใน สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ บริเวณชั้น 1-2-3 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ และเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบในทันที โดยศูนย์ดังกล่าวสามารถรองรับผู้อพยพได้ประมาณ 500 คน พร้อมอุปกรณ์ยังชีพที่จำเป็นต่างๆ ได้แก่ ฟูกสำหรับผู้พักพิงชั่วคราว ศูนย์พยาบาลและสถานที่พักพื้น เปิดครัวพร้อมปรุงอาหาร 3 มื้อ มีน้ำประปาและไฟฟ้าสำรองขณะที่ไฟดับน้ำไม่ไหลก็สามารถให้การช่วยเหลือได้ นอกจากนี้ ภายในศูนย์ดังกล่าวยังได้ตั้งศูนย์ติดตามความเคลื่อนไหวของพายุ (Data center) ตลอดจนการให้คำปรึกษาเพื่อเยียวยาผลกระทบทางจิตใจ โดย สจล.มีแผนฟื้นฟูและช่วยเหลือพื้นที่รับผลกระทบตามความเหมาะสมหลังจากพ้นภาวะวิกฤติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนชัย พงษ์นาค รองอธิการบดีวิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและที่พักฉุกเฉินผู้ประสบภัยพายุโซนร้อนปาบึก กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดชุมพรและพื้นที่ใกล้เคียง โดยตั้งแต่เริ่มประชาสัมพันธ์ข่าวสารไปยังประชาชนในพื้นที่ มีประชาชนเริ่มติดต่อเข้ามาเพื่อสอบถามข้อมูลรวมถึงการขอความช่วยเหลือแล้ว สะท้อนให้เห็นความตื่นตัวของประชาชนที่มีต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และการรับรู้ข่าวสารที่มีประสิทธิภาพในระดับท้องถิ่น โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่เป็นอย่างดี พร้อมแนะประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางการต่อเนื่อง จะช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น ไปจนถึงวางการแผนเตรียมความพร้อมในการรับมือในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยมีกลุ่มที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ คือ ผู้สูงอายุ เด็ก และคนพิการ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยใกล้ที่ลาดเชิงเขาและชายฝั่งทะเล ควรพิจารณาอพยพออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัยจนกว่าจะพ้นภาวะวิกฤติ
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม ‘WMApp’ และ “ThailandRain” เปิดเผยว่า จากการติดตามพายุปาบึก (Pabuk) ด้วยแอปพลิเคชันพยากรณ์อากาศความละเอียดสูงสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป ‘WMApp’ และแอปพลิเคชั่นประมาณค่าปริมาณฝนจากดาวเทียม ‘ThailandRain’พบว่าพายุนี้ได้ก่อตัวขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันก่อนจะพัฒนาเป็นพายุโซนร้อน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเวียดนาม โดยส่วนหน้าของ ‘พายุโซนร้อนปาบึก’ เคลื่อนที่เข้าฝั่งภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทย บริเวณจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช และบางส่วนของประเทศมาเลเซีย โดยอิทธิพลของพายุดังกล่าวส่งผลให้ 15 จังหวัดภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป จะมีฝนตกครอบคลุมทั่วภูมิภาค และตกหนักบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร และตอนล่างของประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันนี้ (4 มกราคม 2562) จนถึงวันที่ 5 มกราคม 2562 หลังจากนั้นพายุดังกล่าวจะเคลื่อนไปทางทิศตะวันตกสู่ทะเลอันดามัน ซึ่งจะทำให้สถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้น ฝนลดลงตามลำดับ โดยสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วง 1-2 วันนี้ คือ อันตรายจากฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่ม รวมถึงคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอ่าวไทย และลมกระโชกแรงซึงอาจสร้างความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่
สำหรับ ระบบพยากรณ์อากาศ WMApp จะสามารถพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ และมีความละเอียดสูง โดยเป็นครั้งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถพยากรณ์อย่างอากาศอย่างละเอียด สามารถระบุตำแหน่งและเวลาที่ฝนจะตกได้ เป็นรายเขตปกครอง และยังให้ผลพยากรณ์พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) ได้ล่วงหน้า 5.5 วัน ค่าประมาณฝนจากการสังเกตของดาวเทียมคลื่นมิลลิมิเตอร์เวฟแบบแพสซิฟ และดาวเทียมค้างฟ้าอินฟราเรดแบบแพสซิฟ โดยใช้อัลกอริทึม AMP และ JPP ซึ่งอัลกอริทึม AMP ถือเป็นอัลกอริทึมแรกของโลกและมีความถูกต้องแม่นยำดีที่สุดในปัจจุบัน ที่สามารถประมาณค่าหยาดน้ำฟ้าได้ครอบคลุมทั่วโลก รวมถึงพื้นที่ที่มีหิมะปกคลุมและทะเลน้ำแข็ง เช่น ขั้วโลกเหนือ และยังสามารถรายงานการเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกได้ด้วย ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากกับการวางแผนการรับมือกับการเกิดภัยพิบัติ เตรียมความพร้อมอพยพประชาชนไปสู่พื้นที่ปลอดภัย และช่วยลดความเสียหายทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และสำหรับแอปพลิเคชั่น’ThailandRain’ เป็นครั้งแรกของไทย ที่ให้ผลการประมาณค่าปริมาณฝนจากการสังเกตของดาวเทียมถึง 10 ดวง ให้ข้อมูลฝนครอบคลุมทุกจุดของประเทศ ทั้งฝนแบบเกือบทันทีทันใด ฝนรายชั่วโมง ฝนรายวัน ฝนรายเดือน และฝนรายปี โดยสามารถติดตามผลการพยากรณ์อากาศ ทั้งฝน ลม อุณหภูมิ และพายุ ได้อย่างละเอียดและเป็นปัจจุบันได้ทางเพจเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘สจล. พยากรณ์อากาศประเทศไทย’ ซึ่ง ผศ.ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี ได้โพสท์ผลการพยากรณ์เป็นประจำทุกวัน
ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ศูนย์ประสานงานและที่พักฉุกเฉินผู้ประสบภัยพายุโซนร้อนปาบึก ภายในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้ที่เบอร์ ประสานงานทั่วไป 077-506-410 แจ้งเหตุฉุกเฉิน 083-066-5373 และ 088-757-4847 หรือเข้าไปที่ https://www.facebook.com/kmitlnews/
Click Donate Support Web