- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Sunday, 13 May 2018 21:36
- Hits: 2184
ปรับการศึกษา 0.4 สู่ 4.0 ด้วย 4 แนวทาง อนาคตใหม่การปฏิรูปการศึกษาไทย
‘Reform Showcase: การศึกษา 0.4 ทำไงดีให้เป็น 4.0’ งานเสวนา สานพลังเดินหน้าผ่าทางตันวิกฤติการศึกษา โดย 4 องค์กรขับเคลื่อนการศึกษาไทย ร่วมเสนอ 4 แนวทางใหม่ของการปฏิรูปด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพิ่มขีดความสามารถเด็กไทยปรับตัวเข้ากับโลกอนาคต
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute :TDRI) ร่วมกับภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership:TEP) จัดเสวนา ‘Reform Showcase : การศึกษา 0.4 ทำไงดีให้เป็น 4.0’ โดยมี คุณมีชัย วีระไวทยะ ประธานมูลนิธิชัย วีระไวทยะ ทพ. กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ตัวแทนจากเครือข่ายภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) คุณเรืองโรจน์ พูนผล ผู้ก่อตั้ง Disrupt Thailand และกองทุน 500 Tuk Tuks และ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นวิทยากรในการเสวนา เสนอนโยบายและการเคลื่อนไหวทางสังคม ให้ผู้ร่วมงานได้ร่วมตั้งคำถาม แลกเปลี่ยนความเห็นพร้อมให้ข้อเสนอ เพื่อมีส่วนช่วยผ่าทางตันวิกฤติการศึกษาไทยร่วมกัน อีกทั้ง การจัดงานในครั้งนี้ยังมีเป้าหมายสื่อสารไปยังสาธารณะเพื่อสร้างการรับรู้ถึงพลังและความสามารถจากทุกภาคส่วนในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยไปด้วยกัน
ในศตวรรษที่ 21 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการสื่อสารผ่านสื่อดิจิทัลที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคลอบคลุมหลายมิติ ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต่างตระหนักว่ารูปแบบการศึกษาที่ใช้วิธีการแบบก่อนศตวรรษที่ 21 นั้นด้อยประสิทธิภาพ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนของโลกได้อีกต่อไป
เช่นเดียวกับในสังคมไทยที่กำลังเรียกร้องการจัดการศึกษารูปแบบใหม่เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สำคัญต่อการอยู่รอดในยุคโลกาภิวัฒน์ ได้แก่ ทัศนคติใฝ่การเรียนรู้ ทักษะการคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารและการทำงานเป็นทีม รวมถึงความรู้พื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปีที่ผ่านมาได้มีความพยายามของภาครัฐ ภาคประชาสังคม มูลนิธิ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และภาคเอกชนจำนวนหนึ่ง ที่ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงคุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษาแก่เด็กไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยหมดหวังกับการปฏิรูปการศึกษา ประเทศไทยจึงต้องการแนวทางปฏิรูปในรูปแบบใหม่ๆ ด้วยหลักคิดที่ต่างไปจากเดิมและเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน
คุณมีชัย วีระไวทยะ ประธานมูลนิธิชัย วีระไวทยะ นำเสนอ นโยบาย Public School นโยบายใหม่ที่ให้อิสระโรงเรียนในการบริหารจัดการและคัดเลือกบุคลากรได้เอง ด้วยการสร้าง Partnership School เพื่อให้การปฏิรูประบบการศึกษา ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
Partnership School เป็นนโยบายเพื่อปรับรูปแบบบริหารจัดการสถานศึกษาให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัวและเป็นอิสระมากขึ้น โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมนอกเหนือจากภาครัฐ โดยเฉพาะภาคเอกชน สถานประกอบการ และหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่ต้องการมีส่วนเริ่มพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อปลดล็อคกฎระเบียบเกี่ยวกับการบริหารจัดการ การจัดสรรงบประมาณ การบริหารงานบุคลากรและหลักสูตรวิชาการ และได้กำหนดแนวทางในการคัดเลือกสถานศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นโรงเรียนต้นแบบ รวมถึงคัดเลือกภาคเอกชนหรือองค์กรอื่นๆ เข้าร่วมสนับสนุนโรงเรียนต้นแบบเหล่านั้น โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา มุ่งสนับสนุนให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต และเกิดส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
ทพ. กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ตัวแทนเครือข่ายภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) นำเสนอแนวทางปฏิรูปการศึกษา ด้วย Social Movement เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาภาคประชาชน เพราะเห็นว่า ที่ผ่านมามีความพยายามในการปฏิรูปการศึกษามากว่า 20 ปีแต่ยังไม่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ การปฏิรูปส่วนใหญ่เป็น ‘การขับเคลื่อนจากบนลงล่าง (Top-down approach)’ หรือการออกนโยบายจากส่วนกลางให้ปฏิบัติตาม แต่มักไม่สอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพในแต่ละพื้นที่ ถึงแม้ว่าจะมีความพยายาม ‘ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน (Bottom-up approach)’ ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้เกิดการปฏิรูประบบการศึกษาไทยดังที่คาดหวัง จึงมีความเชื่อมั่นว่าการผสานพลังผู้ขับเคลื่อนด้านการศึกษา รวมถึงการทำให้ภาคประชาสังคมตระหนักรู้ถึงพลังและความสามารถในการร่วมเปลี่ยนแปลงการศึกษา จะทำให้’การขับเคลื่อนจากล่างขึ้นบน’ สัมฤทธิ์ผล และกระตุ้นให้เกิดความสอดคล้องกับ ‘การขับเคลื่อนจากบนลงล่าง’ ได้ในที่สุด
จึงนำมาสู่การก่อตั้งภาคีเพื่อการศึกษาไทย หรือ Thailand Education Partnership (TEP) ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันขององค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และบุคคลที่มีความเชื่อเดียวกันว่าระบบการศึกษาที่ดีเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกคนในสังคม เกิดเป็นการสร้างเครือข่ายและพื้นที่การทำงานร่วมกันด้วยการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางสังคม ให้คนทั่วไปตระหนักรู้ถึงพลังและความสามารถในการร่วมเปลี่ยนแปลงการศึกษาจากจุดที่ตนอยู่ ท้ายที่สุด เชื่อว่าพลังนี้จะสามารถสร้างแรงกดดันจนระบบการศึกษาไทยเกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นระบบการศึกษาเพื่อตอบโจทย์คนไทยอย่างแท้จริง
คุณเรืองโรจน์ พูนผล ผู้ก่อตั้ง Disrupt Thailand และกองทุน 500 Tuk Tuks นำเสนอความเคลื่อนไหวทางสังคมในโครงการ Education Disruption & EdTech Hackathon ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักเทคโนโลยีและนักการศึกษาเพื่อ disrupt การศึกษาไทย โดยเห็นว่า ในศตวรรษที่ 21 กำลังถูกถาโถมด้วยสึนามิแห่งการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยี ตัวอย่างกำลังเกิดขึ้นและเห็นได้อย่างชัดเจนคือ การทดแทนแรงงานมนุษย์ด้วยหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมเกือบทุกด้าน การศึกษาที่ยังสร้างคนเพื่อป้อนเข้าระบบโรงงาน จะทำให้สังคมมนุษย์ล้มเหลว
ในอนาคตระบบการศึกษาจะต้องดึงความเป็นคนให้กลับมา โดยต้องสร้างทักษะที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้ เช่น การแก้ปัญหาซับซ้อน การคิดเชิงวิเคราะห์และการคิดสร้างสรรค์ ห้องเรียนในอนาคตจะต้องเน้นพัฒนาศักยภาพของปัจเจกบุคคล และควรถูกกำหนดโดยนักเรียนที่จะเป็นคนอยู่ต่อไปในอนาคต เพื่อจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแนวคิดเช่นนี้ จึงเกิดเป็นกิจกรรม Education Disruption Conference และ EdTech Hackathon เมื่อช่วงมีนาคมที่ผ่านมาที่ทำให้เกิดการรวมตัวกันของนักเทคโนโลยี นักการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญและคนรุ่นใหม่ ร่วมกันสร้างเทคโนโลยีทางการศึกษาและโมเดลธุรกิจที่จะต่อยอดเพื่อเป็นสตาร์ทอัพด้านการศึกษา กิจกรรมดังกล่าวใช้ระยะเวลาเพียง 2 วัน แต่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ที่น่าสนใจทั้งในแง่ธุรกิจและสังคมได้มากมายหลายตัวอย่าง ทำให้เห็นพลังจากการร่วมมือกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นำเสนอ นโยบายเขตการศึกษาพิเศษ เพื่อขยายผลโรงเรียนดีและสร้างนวัตกรรมใหม่ด้านการศึกษาในพื้นที่จริง โดยระบุว่า สถานการณ์และระบบการศึกษาไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูประดับพื้นที่ เนื่องจากในพื้นที่ที่มีการขยายผลของการคิดค้นนวัตกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียน มีความต้องการปรับเปลี่ยนนโยบาย กฎระเบียบที่แตกต่างจากระบบการศึกษาเดิม พร้อมทั้งต้องการให้มีการประเมินผลกระทบ เพื่อหานโยบายที่เหมาะสมสำหรับประเทศ จึงเกิดเป็นข้อเสนอให้มีการจัดตั้ง ‘พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา’หรือ ‘Education Reform Sandbox’ขึ้น
ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานี้ โรงเรียนจะมีอิสระด้านการบริหารและได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ และต่อยอดนวัตกรรมการสอนต่างๆ ตามบริบทของตน และจะไม่มีภาระการดำเนินโครงการพัฒนาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขยายผลนวัตกรรม
ฝ่ายบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสามารถปรับกฎระเบียบและนโยบายได้อย่างคล่องตัวและสอดคล้องกันทั้งด้านหลักสูตร สื่อการสอน บุคลากร การเงิน การสอบ การประเมินผล และอื่นๆ ซึ่งความสอดคล้องนี้เป็นปัจจัยสำคัญในปรับเปลี่ยนสู่ระบบการศึกษาใหม่ ทั้งนี้มีความคาดหวังว่าบทเรียนจากการวิจัยและพัฒนาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะเป็นปัจจัยในการปฏิรูประบบการศึกษาระดับชาติได้สำเร็จ