- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Saturday, 10 March 2018 21:47
- Hits: 2531
'พีไอเอ็ม' ผ่าเทรนด์ทักษะยุค Disruptive Technology เดินหน้าต่อยอดปั้นเด็ก 'Ready to Work'
บรรยากาศความสำเร็จของเหล่าบัณฑิตในพิธีประสาทปริญญาบัตรของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คือหนึ่งในเครื่องยืนยันความสำเร็จตลอดระยะเวลา 11 ปี ในการเดินหน้าผลิตบัณฑิตให้มีทักษะพร้อมทำงานทันที หรือ Ready to work การผลิตบัณฑิตให้มีทักษะดังกล่าวได้ มาจากการมองเห็นบริบทความเปลี่ยนแปลงของสังคม และปรับแผนการผลิตบัณฑิตให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งรวมถึงความเปลี่ยนแปลงในยุค “Disruptive Technology”
รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) เปิดเผยว่า ยุค Disruptive Technology ทำให้ตลาดงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในอนาคตตำแหน่งงานจำนวนมากมีโอกาสถูกเครื่องจักรอัตโนมัติ (Automation) เข้ามาแทนที่ ดังนั้น การจะผลิตบัณฑิตให้มีทักษะ Ready to work ได้นั้น ต้องผลิตให้มี 4 คุณลักษณะที่เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้ อันได้แก่ 1.ความมุ่งมั่น (Determination) 2.แรงบันดาลใจ (Inspiration) 3.จินตนาการ (Imaginary) 4.วิสัยทัศน์ (Visionary)
“สิ่งที่มนุษย์มี แต่หุ่นยนต์ไม่มี คือจิตวิญญาณ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ มุมมอง ดังนั้น นอกเหนือจากความรู้เรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่แล้ว การจะผลิตบัณฑิตไม่ว่าคณะใดก็ตามของพีไอเอ็ม จึงพยายามให้บัณฑิตทุกคน รวมถึงผู้สำเร็จการศึกษาทุกระดับชั้นปีนี้ 1,812 คน มี 4 คุณลักษณะข้างต้น เพื่อให้หุ่นยนต์ไม่สามารถมาแทนที่ได้”รศ.ดร.สมภพ กล่าว
ขณะเดียวกัน พีไอเอ็มยังให้ความสำคัญกับเรื่อง 'ความยืดหยุ่น'หรือ Flexibility ให้คณะต่างๆ ได้ผนึกกำลังกันทางวิชาการ ให้เกิดการรวมหมู่ (Synergy) เช่น ให้เกิดการเรียนร่วมกันระหว่างด้านวิศวกรรมกับเกษตรกรรม วิศวกรรมกับบริหารธุรกิจ แม้กระทั่งเทรนด์จากต่างประเทศเองก็จะเห็นได้ชัดว่า มีการยุบรวมคณะมากขึ้น แทนที่จะเป็นการแยกคณะ
“ในยุค Disruptive Technology จะเป็นยุคที่สาขาวิชาต่างๆ พร่ามัวมาก เพราะโลกยุคถัดจากนี้ ถ้าเชี่ยวชาญแค่ด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ก็จะทำให้ขาดความยืดหยุ่น ไม่สามารถผนึกศาสตร์ความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกันได้ ดังนั้น เวลาเราผลิตคณะต่างๆ เราจึงมองด้วยว่าเรียนศาสตร์นี้เพื่อไปทำอะไรต่อ เช่น เรียนภาษา เราไม่ได้เรียนเพื่อแค่ใช้ภาษานั้นเฉยๆ จึงต้องมีสาขาที่เกี่ยวกับภาษาเพื่อธุรกิจ บุคลากร คณาจารย์ของเราต้องประชุมกันเป็นประจำ เพื่อผลิตบัณฑิตที่เป็นที่ปรารถนาของทั้งองค์กร สังคม และประเทศชาติ” รศ.ดร.สมภพ กล่าว
ทั้งนี้ กลไกสำคัญของพีไอเอ็มในการผลิตบัณฑิตให้ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของยุค มาจาก 2 ส่วน ได้แก่ 1.การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งองค์กรธุรกิจ (Corporate University) 2.การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างเครือข่าย (Networking University) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ควบคู่กับการปฏิบัติจริง โดยปัจจุบันแต่ละหลักสูตรของคณะจะมีภาคทฤษฎีประมาณ 50-60% ของหลักสูตร และภาคปฏิบัติอีก 40-50% ของหลักสูตร ซึ่งแต่ละหลักสูตรได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายพันธมิตรจากทั่วโลก นักศึกษาจึงได้มีโอกาสเข้าไปทำงานภายในองค์กรต่างๆ ระหว่างที่ศึกษาอยู่ จนเกิดเป็นประสบการณ์จริง เข้าใจความต้องการของผู้ประกอบการ ทำให้บัณฑิตที่จบจากสถาบันมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจ
อาจารย์มนตรี คงตระกูลเทียน คณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าปัญหาหนึ่งของการผลิตบัณฑิตภาคการเกษตรไทยคือ ผลิตโดยให้รู้แต่เรื่องต้นน้ำ ทำให้บัณฑิตที่จบออกมาขาดศักยภาพ ขาดทักษะการเชื่อมโยง ผลิตพืชผลทางการเกษตรออกมามากกว่าความต้องการตลาด ผลิตแล้วขาดคุณภาพ การจะผลิตบัณฑิตด้านการเกษตรให้ประสบความสำเร็จ จึงต้องผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ครบเครื่อง เข้าใจทั้งเรื่องต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
“เรานำ 3 เรื่องมาบูรณาการกัน ทั้งนวัตกรรม การจัดการ และเกษตรกรรม ด้านนวัตกรรมก็ต้องเข้าใจทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change ต้องเข้าใจเรื่องการอ่านแผนที่ดาวเทียม เพื่อให้ประเมินได้ว่าควรจะทำการผลิตช่วงไหน ด้านการจัดการก็ไม่ใช่แค่การจัดการเรื่องการเกษตร แต่รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการที่เป็นเชิงธุรกิจด้วย เราจึงมีการจับมือกับพันธมิตร เช่น สำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ศาสตร์ที่จำเป็นและทันต่อความเปลี่ยนแปลง” อาจารย์มนตรี กล่าว
สำหรับ คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร ก่อตั้งขึ้นในปี 2556 โดยมีบัณฑิตสำเร็จการศึกษารุ่นแรกคือบัณฑิตรุ่นจบปีการศึกษา 2559 ปัจจุบัน บัณฑิตล้วนมีงานทำอยู่ในบริษัทและองค์กรชั้นนำ เช่น บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด
ด้านอาจารย์ทิพวรรณ อภิวันท์วรรัตน์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ พีไอเอ็ม กล่าวว่า จากการสำรวจความต้องการของสถานประกอบการที่ต้องการบุคลากรด้านภาษา พบว่า สถานประกอบการต้องการบัณฑิตที่มีทักษะใช้ภาษาได้แบบ 100% รู้และเข้าใจในงานที่ทำ เช่น บัณฑิตภาษาญี่ปุ่น ต้องรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่น คณะจึงให้ความสำคัญกับการผลิตบัณฑิตที่ทั้งรู้ภาษาและเข้าใจวัฒนธรรมการทำงาน วัฒนธรรมทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของภาษานั้นๆ
“นอกเหนือจากแนวทางผลิตบัณฑิตของสถาบันแล้ว ปรัชญาหลักของคณะคือต้องผลิตบัณฑิตที่ คิดเป็น ทำงานเป็น ใช้ชีวิตเป็น เด่นภาษาและนวัตกรรม ปัจจุบัน บัณฑิตของเราจบออกไปแล้วประสบความสำเร็จ มีงานทำในตำแหน่งดีๆ องค์กรดีๆ บางคนเรียนจบไปแล้วมีเงินเดือนถึงราว 50,000 บาทต่อเดือน เพราะมีคุณลักษณะตรงตามความต้องการขององค์กร”คณบดีคณะศิลปศาสตร์ กล่าว
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ได้รับการรับรองวิทยฐานะจากกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 2550 ปัจจุบัน เปิดสอนในระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก ปริญญาตรี 10 คณะ ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ คณะการจัดการโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง คณะการจัดการธุรกิจอาหาร คณะศิลปศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ คณะนิเทศศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอุตสาหกรรมเกษตร และคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร ปริญญาโท 4 สาขาวิชา ปริญญาเอก 1 สาขาวิชา และ 2 วิทยาลัยนานาชาติ มีวิสัยทัศน์ในการเป็น Corporate University ชั้นนำของอาเซียน มีองค์กรเครือข่ายที่ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกันเป็นพันธมิตร มากกว่า 125 แห่ง อาทิ บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) TCEB บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด