- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Wednesday, 07 March 2018 18:27
- Hits: 3276
ทปอ. ไม่หวั่นหุ่นยนต์ ไม่หวั่นเทคโนโลยี 'ดิสรัปชั่น' ชูแนวคิดปรับทิศทางมหาวิทยาลัยในอนาคต 5 ข้อ ปั้นบัณฑิต สู่ตลาดแรงงาน
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เดินหน้าภารกิจพลิกโฉมประเทศไทยสู่ ‘การศึกษา 4.0’พร้อมปรับทิศทางมหาวิทยาลัยในอนาคตได้แก่ 1. มหาวิทยาลัยต้องเป็นแหล่งเรียนรู้รอบด้าน จะต้องเน้นการสร้างทักษะ จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริง 2. ต้องเตรียมบุคลากรสำหรับตลาดงานที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในอนาคต 3. การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ฝึกให้นักศึกษาคิด และถาม เพื่อนำความรู้ที่ได้เป็นฐานความคิดสร้างสิ่งใหม่ ๆ 4. หลักสูตรต้องยืดหยุ่นสามารถตอบโจทย์เฉพาะบุคคลได้ และ 5.ควรร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันระดับโลกเพื่อแข่งขันในเวทีโลก และมุ่งเน้นสร้างคนคุณภาพในด้านนวัตกรรม และเน้นให้ความสำคัญกับการศึกษาแบบ STEMs เป็นพิเศษ
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวแก้ปัญหาบัณฑิตในอนาคตที่จะถูกแทนที่ด้วย Automation (ภาวะอัตโนมัติ) และ AI (ปัญญาประดิษฐ์) อย่างรวดเร็ว หรือที่เรียว่าการ "ดิสรัปชั่น" เพราะการเรียนการสอนแบบเดิมจะไม่สามารถผลิตบุคลากรที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของสภาวการณ์ของโลกได้อย่างทันท่วงทีอีกต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ในยุคที่เศรษฐกิจโลกกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นความท้าทายของสังคมในศตวรรษที่ 21 ประเทศไทยมีความเสี่ยงของแรงงานที่จะถูก Automation (ภาวะอัตโนมัติ) และ AI หรือ Artificial Intelligence (ปัญญาประดิษฐ์) เข้ามาแทนที่ หรือแนวโน้มเทคโนโลยี "ดิสรัปชั่น" เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเต็มรูปแบบ ซึ่งประเทศไทยและโลกปัจจุบันเข้าอยู่ในยุคการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบหักศอก (Rapidly Change) แต่หากเราไม่ปรับตัว หรือปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ก็ไม่จะไม่สามารถแข่งขันกับผู้อื่นหรือประเทศอื่นๆ ได้ ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันหลักในการผลิตบุคคลากรป้อนสู่ตลาดแรงงาน จึงต้องปรับเปลี่ยนทิศทางการศึกษา เพื่อรองรับกระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ซึ่งได้แก่
1 มหาวิทยาลัยไม่ใช่สถานที่สอนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นแหล่งเรียนรู้รอบด้าน จะต้องเน้นการสร้างทักษะ จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริง
2 มหาวิทยาลัยต้องมีวิสัยทัศน์เตรียมบุคลากรสำหรับตลาดงานที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในอนาคต นั่นคือการปฏิรูปและปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
3 เน้นการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Demand-side) กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้และอยากเป็น (Passion-Driven) ด้วยตนเอง ฝึกให้นักศึกษาคิด และถาม เพื่อนำความรู้ที่ได้เป็นฐานความคิดสร้างสิ่งใหม่ ๆ
4 หลักสูตรต้องยืดหยุ่นสามารถตอบโจทย์เฉพาะบุคคลได้ (Personalized) ในอนาคตการศึกษามีทางเลือกมากมาย ทำให้คนมุ่งเรียนในสิ่งที่อยากรู้ อยากเรียน และอยากเป็นได้ทันทีและทำในสิ่งนั้นได้ดีที่สุด
5 มหาวิทยาลัยไทยควรร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันระดับโลก เช่น สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ฯลฯ เพื่อยกระดับคุณภาพสถาบันศึกษาให้มีศักยภาพในระดับนานาชาติและสามารถแข่งขันในเวทีโลก
ทั้งนี้ นโยบายก้าวต่อไปด้านหลักสูตรการศึกษา ของ ทปอ. คือ จะต้องมุ่งเน้นในเรื่องของ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์(Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) หรือ STEMs เพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานในภาคธุรกิจที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งในอนาคตงานในลักษณะที่ทำประจำซ้ำได้ (Routine) กำลังจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัติโนมัติ นอกจากนี้หากคนมีความรู้ทางคณิตศาสตร์ไม่ดีพอ ก็อาจจะมีปัญหาในการเรียนรู้และขาดทักษะที่จำเป็นในการแข่งขันในตลาดที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ด้วยเหตุนี้ ทปอ.จึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นสร้างคนคุณภาพในด้านนวัตกรรมให้มาก และเน้นให้ความสำคัญกับการศึกษาแบบ STEMs เป็นพิเศษ ตลอดจนการพัฒนาในเชิงโครงสร้าง โดยเปลี่ยนจากความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศ ทั้งเชิงชีวภาพ และเชิงวัฒนธรรม ไปสู่ความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน และเปลี่ยนจากโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแบบเพิ่มมูลค่า (Value Added) เป็นการสร้างมูลค่า(High Value) แทน เพื่อพัฒนาอนาคตใหม่ของประเทศไทยให้ ก้าวข้ามประเทศรายได้ปานกลางให้ได้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน มีบทบาทในการสร้างบุคลากรของชาติซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ให้เตรียมพร้อมสู่ตลาดแรงงาน จึงต้องเป็นสถาบันหลักในการสร้างคนคุณภาพเพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางให้ได้ โดยขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมสอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 “การศึกษา 4.0 :ผู้เรียนสร้างนวัตกรรมได้” เพราะคนคือหัวใจของการพัฒนาศักยภาพของประเทศ ซึ่งแนวทางที่ ทปอ. ยึดถือร่วมกัน ประกอบไปด้วยวิสัยทัศน์ ดังนี้ 1. การทลายความไม่เสมอภาคทางการศึกษา (Equity) 2. คุณภาพการศึกษา (Quality) 3. การก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคม (Relevance) และ 4. การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรม (Demand Research and Innovation) ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับ ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนประชาสัมพันธ์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) หมายเลขโทรศัพท์ 02-354-5150-2 หรือเข้าไปที่ https://www.facebook.com/cuptthailand/