- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Tuesday, 06 March 2018 18:48
- Hits: 2771
ธ.ก.ส.จับมือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนาความร่วมมือวิชาการ
ธ.ก.ส. ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนางานวิจัย สร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม โดยใช้ข้อมูลทางด้านสินเชื่อของเกษตรกร นำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ในการวิเคราะห์ข้อมูลด้านเครดิต การประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ที่สอดคล้องกับ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในภาคชนบท รวมถึงนโยบายรัฐบาล
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และ ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ โดยส่งเสริมและประสานความร่วมมือในการจัดทำวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล โดยใช้ข้อมูลทางด้านสินเชื่อของเกษตรกร มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับวิเคราะห์ข้อมูลด้านเครดิต (Platform for credit data analytics) การใช้เทคโนโลยี Geographic Information System (GIS) มาพัฒนาระบบประกันความเสียหายของพืชผลทางการเกษตร ที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด ณ ห้องรับรอง อาคารจามจุรี 4 ชั้น 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายอภิรมย์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการผลิใบต้นกล้าการเกษตร เพื่อกระตุ้นและสร้างความมั่นใจให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถ มาร่วมพัฒนาภาคเกษตรกรรมในรูปของทุนการศึกษา 56 ทุน ทุนสนับสนุนการฝึกงานและการศึกษาดูงาน 20 โครงการ และสนับสนุนเงินทุนเพื่อเสริมสร้างทักษะตามแผนธุรกิจ 50 โครงการ รวมเป็นเงินกว่า 23 ล้านบาท สำหรับความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ เป็นการนำจุดเด่นด้านองค์ความรู้ ด้านวิชาการ นวัตกรรม การวิจัยรวมถึงการใช้เทคโนโลยี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเชื่อมโยงกับ ธ.ก.ส.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการสินเชื่อทางการเกษตร และมีความใกล้ชิดกับเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาด้านการเกษตรมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลโดยเฉพาะปัญหาภาวการณ์เปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของโลก ที่ถือเป็นภัยคุกคามทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรมากที่สุด
ดังนั้น ทุกประเทศต้องแสวงหาเทคโนโลยีรวมถึงเครื่องมือมารองรับและป้องกันความเสี่ยงให้กับเกษตรกร เช่น การพัฒนาระบบประกันภัยพืชผล ระบบฐานข้อมูลด้านการผลิต ด้านเครดิต โดยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ประกอบการตัดสินใจ รวมทั้งมีการกระจายองค์ความรู้ด้านวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงและได้รับประโยชน์ ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน นับเป็นก้าวสำคัญที่จะขับเคลื่อนภาคการเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งและมั่นคง รวมถึงเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น.