WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaa27องคกร

27 องค์กรรวมพลังจัดงานมหกรรมการอ่านแห่งชาติ : 'มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย'งานระดับชาติเพื่อก้าวข้ามวิกฤตพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็ก 0-6 ปี

    สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ร่วมกับ แผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560 – 2564 : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน เห็นความสำคัญของวิกฤตพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กปฐมวัย (0 – 6 ปี) จึงได้ร่วมมือนำการอ่านเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาและยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ โดยจะได้จัดงานมหกรรมการอ่านแห่งชาติ : 'มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย'ขึ้น

      ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า “จากวิกฤตพัฒนาการของเด็กปฐมวัย (0 – 6 ปี)  ที่สำรวจโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าพัฒนาการล่าช้าโดยรวมร้อยละ 30 และพัฒนาการทางด้านภาษาล่าช้าสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดปี 2557 เฉลี่ยร้อยละ 38.2 ส่งผลเสียต่อการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ อาทิ การสื่อสาร การพัฒนาด้านอารมณ์ สังคม จากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า การสร้างพฤติกรรมการอ่านจนกลายเป็นวิถีและวัฒนธรรมมาจากการวางรากฐานอย่างเหมาะสมตั้งแต่ปฐมวัย เพราะนอกจากการอ่านจะเป็นเครื่องมือพื้นฐานสำคัญในการแสวงหาความรู้ เสริมสร้างจินตนาการและความคิด เพิ่มขีดความสามารถทำให้เกิดองค์ความรู้แล้ว ความสุขจากการอ่านยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่และลูก รวมถึงบุคคลในครอบครัว เสริมศักยภาพการเรียนรู้ตลอดชีวิตของมนุษย์”  

       คุณพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรรมการและเลขานุการร่วมคณะกรรมการบูรณาการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ กล่าวเสริมว่า “การส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้อ่านหนังสือที่ดีและมีประโยชน์ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เป็นนโยบายหลักที่ทางกรมฯคำนึงถึง การขาดสถานที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน ขาดหนังสือที่ดีและมีประโยชน์เหมาะสมกับกลุ่มคนในแต่ละวัย รวมถึงการขาดแคลนงบประมาณของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข ยิ่งเป็นเด็กเล็ก หรือเด็กระดับก่อนเข้าเรียน ยิ่งต้องส่งเสริมพื้นฐานการอ่าน ไม่ต้องรอจนเด็กเข้าโรงเรียน เพราะหนังสือที่เหมาะสำหรับเด็กจะมีรูปแบบเฉพาะ ไม่ต้องเน้นให้อ่านออก เพียงสร้างความสนุก ส่งเสริมพัฒนาการ จะทำให้การเรียนรู้ในระดับชั้นต่าง ๆ เป็นไปด้วยดี' ทางกรมฯและเครือข่าย จึงขับเคลื่อนให้เกิดแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ.2560-2564 เพื่อสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

      คุณชลธิชา อัศวาณิชย์ (แม่แอม) พิธีกร และคุณแม่อดีตนางงามผู้เลี้ยงลูกด้วยหนังสือ ชี้แจงว่า “ตนเองเลี้ยงลูกด้วยหนังสือเป็นหลัก จากการทำงานเป็นพิธีกร ผู้ประกาศ ทำให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าทักษะความเข้าใจ การเรียนรู้ต่อยอด ล้วนมีพื้นฐานมาจากการอ่าน หากมีวิธีอ่านที่ดี จะก่อให้เกิดการวิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างเหมาะสม หนังสือที่ให้ลูกดูหรืออ่านให้ลูกฟัง เช่น หนังสือภาพที่มีรูปภาพใหญ่ๆ สีสันสดใส เป็นสิ่งที่จะเรียกความสนใจจากลูกได้เป็นอย่างดี หนังสือที่มีเสียงเพลง ทำให้สนุกไปกับการอ่านมากขึ้น หนังสือเป็นสิ่งสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างเราและลูกได้อย่างมาก ได้นอนอ่านหนังสือกับลูกหรือกอดลูกไว้ขณะอ่านหนังสือทำให้ลูกได้รับความอบอุ่นจากเรา” 

       ภายในงานมีโซนจัดแสดงงานที่น่าสนใจ ประกอบด้วย โซนเวทีมหัศจรรย์การอ่าน พบคนดลใจร่วมสร้างมหัศจรรย์แห่งการอ่าน, โซนนวัตกรรมชุมชนอ่านยกกำลังสุข โดยเครือข่ายศูนย์ประสานงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในชุนท้องถิ่น (SMARTReading) พบนวัตกรรม ‘บ้านอ่านยกกำลังสุข’ และโมเดลบ้านสร้างสุขด้วยการอ่านจาก 15 พื้นที่ต้นแบบนำร่องทุกภูมิภาค, โซน Reading in Wonderland : ดินแดนมหัศจรรย์ด้วยนิทานหลากจินตนาการ ผ่านประตูวิเศษ แห่งดินแดนโลกหนังสือ, โซนตลาดนัดนักอ่านสำนักพิมพ์, โซนสานพลังองค์กรร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน จัดกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ นิทรรศการและกิจกรรมหนังสือดีเพื่อพัฒนา EF (Executive Functions) การขับเคลื่อนจังหวัดแห่งการอ่าน กิจกรรมบ้าน นักเขียน หนังสือเด็ก กิจกรรมหนังสือออกแบบได้ กิจกรรมReading Volunteers การระดมจิตอาสามาร่วมอ่านหนังสือเสียงให้กับน้องๆ ผู้พิการทางสายตา ฯลฯ  งานมหกรรมการอ่านแห่งชาติ : ‘มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย’ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 9.00 น.- 16.00 น. ณ แอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ มักกะสัน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!