- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Saturday, 08 July 2017 00:20
- Hits: 7681
สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association: THBA) 6 เดือนแรกปี 2560 ชะลอตัว
ภาพรวมตลาดบ้านสร้างเอง
สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association: THBA) เปิดเผยว่า บ้านเดี่ยวสร้างเองทั่วประเทศในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา (เมย.-มิย. 60) พบว่าความต้องการของผู้บริโภคและประชาชนขยายตัวลดลง และส่งผลทำให้ปริมาณและมูลค่าตลาด ‘รับสร้างบ้าน’ ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2560 ชะลอตัวตาม (มค.-มิย. 60) เมื่อเปรียบเทียบกับครึ่งแรกปี 2559 จากมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านทั่วประเทศประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งประเมินว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยหลักๆ คือ 1.ผู้บริโภคยังกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ 2.การใช้จ่ายเรื่องบ้านหรือที่อย่อาศัยของผู้บริโภคปรับตัวลดลง และ 3.ช่วงเดือนเมย.-พค.เป็นช่วงโลว์ชีซั่นของธุรกิจรับสร้างบ้าน
ประการแรก ประเมินจากผู้บริโภคที่ติดต่อใช้บริการสร้างบ้านหลังใหม่ กับกลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านทั้งนอกและในสมาคมฯ ส่วนใหญ่มีความลังเลและใช้ระยะเวลาตัดสินใจนานขึ้น (6 เดือนขึ้นไป) เหตุเพราะยังไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ประการถัดมาพบว่า กลุ่มผู้บริโภคให้ความสนใจจะปลูกสร้างบ้านในปีนี้ กลุ่มใหญ่ที่สุดหรือร้อยละ 70 ตั้งงบประมาณค่าก่อสร้างบ้านไว้เฉลี่ยหน่วยละ 1.2 - 2 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าต่อหน่วยลดลงจากปีที่แล้วที่เฉลี่ยต่อหน่วย 2 ล้านบาทขึ้นไป - 3 ล้านบาทเศษ สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถของผู้บริโภค ในการใช้จ่ายเรื่องสร้างบ้านหรือที่อยู่อาศัยลดลง กอปรกับในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมของทุกปี ถือเป็นช่วงที่ผู้บริโภคให้ความสนใจเรื่องสร้างบ้านน้อยกว่าช่วงเดือนอื่นๆ เหตุเพราะเป็นช่วงที่มีเทศกาลสำคัญและมีวันหยุดยาวต่อเนื่อง รวมถึงเป็นช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ของบุตรหลาน ความสนใจและต้องการสร้างบ้านหลังใหม่จึงชะลอตัวในช่วงนี้
การแข่งขัน
สำหรับ ภาพรวมการแข่งขันตลาดรับสร้างบ้านในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มผู้ประกอบการชั้นนำมีการใช้อีเว้นท์มาร์เก็ตติ้ง ควบคู่กับการสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อจะเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กๆ หรือรายที่เข้ามาใหม่ในตลาดสร้างบ้าน สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่ผู้ประกอบการเลือกใช้มากที่สุด ในขณะเดียวกันสื่อสิ่งพิมพ์ได้รับความสำคัญลดลง นอกจากนี้ยังพบว่า การแข่งขันตัดราคาในกลุ่มรายเล็กรายย่อยยังคงแข่งขันกันรุนแรง โดยเฉพาะตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัด ขณะที่กลุ่มผู้นำตลาดปรับลดโทนการแข่งขันราคาลง หากเปรียบเทียบกับในช่วงระยะ 6 เดือนก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี การแข่งขันราคาของผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ดูจะเป็นเรื่องน่ากังวลพอสมควร หากว่าไม่ได้คำนวณต้นทุนตามหลักการแล้วตั้งราคาผิดพลาดหรือต่ำเกินจริง สุดท้ายจะไม่สามารถสร้างบ้านได้คุณภาพหรือสร้างไม่เสร็จจริง ปัญหาการทิ้งงาน และความขัดแย้งกับผู้บริโภคก็จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านตามมา
แนวโน้มไตรมาส 3
ไตรมาส 3 ปีนี้ สมาคมฯ ประเมินว่าความเชื่อมั่นและการกล้าใช้จ่าย เรื่องบ้านและที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค มีแนวโน้มปรับตัวเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยวิเคราะห์จากสถานการณ์ในช่วงท้ายไตรมาส 2 (เดือนมิย.) ที่ความสนใจและความต้องการสร้างบ้านใหม่ ของผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วง 2 เดือนแรก (เมย.-พค.) และเชื่อว่าจะยังมีความต้องการต่อเนื่อง นอกจากนี้บรรดาผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในตลาดรับสร้างบ้าน คงมีการจัดกิจกรรมทางการตลาดกันคึกคัก เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าผู้บริโภคมีอำนาจการต่อรองสูง ดังนั้นคาดว่าการแข่งราคาของกลุ่มผู้นำตลาดจะกลับรุนแรงอีกครั้ง ในช่วงการแข่งขันไตรมาส 3 นี้ โดยเฉพาะตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีผู้ประกอบการรับสร้างบ้านรายหลักๆ แข่งขันกันอยู่มากที่สุด
ต่อกรณีพระราชกำหนดแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ที่ประกาศและบังคับใช้ แต่ถัดมาเพียงไม่กี่วันรัฐบาลต้องอาศัย ม.44 ประกาศชะลอให้มีผลบังคับใช้ออกไปก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการเรียกร้องและกังวลว่าจะเกิดการขาดแคลนแรงงาน อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ
นายสิทธิพร สุวรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะบังคับผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าวปฏิบัติให้ถูกต้อง แต่ก็ไม่เชื่อว่าการกำหนดบทลงโทษสูงๆ จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ เพราะปัญหาจริงๆ คือการไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และความไม่รับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการแย่ๆ ซึ่งพิจารณาได้จากเมื่อพระราชกำหนดฯ ถูกประกาศออกมาบังคับใช้ เราก็เห็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย แห่เดินทางกลับบ้านกันจำนวนมาก ประเด็นคือ กฎหมายและกฎระเบียบมีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาเลี่ยงที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องกันเอง ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ประกอบการ และแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงาน ฉะนั้นการเพิ่มโทษสูงขึ้นจึงไม่น่าใช่ทางออกและแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่กลับจะกลายแรงจูงใจให้เกิดการคอรัปชั่น หรือเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ประพฤติมิชอบมากยิ่งขึ้น นี่คือปัญหาของประเทศไทย
สำหรับ ธุรกิจรับสร้างบ้านกับการใช้แรงงานต่างด้าวนั้น จากประสบการณ์และการสอบถามข้อมูลกับสมาชิกได้รับการยืนยันว่ามีจำนวนน้อยมาก ยกเว้นบางพื้นที่ที่หาแรงงานไทยทำงานก่อสร้างยากมาก เช่น สมุย ภูเก็ต ฯลฯ เหตุก็เพราะลักษณะงานสร้างบ้านมีการเคลื่อนย้ายสถานที่ทำงานบ่อย และไซต์งานแต่ละแห่งใช้แรงงานจำนวนไม่กี่คน ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านจึงไม่นิยมใช้แรงงานต่างด้าว เนื่องจาก 1.ควบคุมยากและมีความเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมาย 2.ขั้นตอนขออนุญาตเคลื่อนย้ายแรงงานเสียเวลาและยุ่งยาก ทั้งนี้ไซต์งานก่อสร้างก็ไม่มีรั้วรอบขอบชิด เหมือนเช่นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และไม่ได้ปักหลักทำงานอยู่นานๆ
มองว่า การที่มีเสียงจากฟากผู้ประกอบการออกมาท้วงติงหรือไม่เห็นด้วยกับพระราชกำหนดฯ ดังกล่าว ส่วนหนึ่งอาจมีการกระทำที่ไม่ถูกต้องอยู่หรือเพียงแค่เกาะกระแสมากกว่า ไม่ใช่เหตุและปัจจัยที่เป็นผลกระทบหลัก สำหรับประเด็นที่อยากฝากถึงรัฐบาลคือ การอำนวยความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการขออนุญาตต่างๆ เพื่อผู้ประกอบการก่อสร้างและแรงงานต่างด้าวจะได้เต็มใจปฏิบัติตามกฏหมาย และทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่รัฐมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง สำหรับผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัว หันมาใช้เทคโนโลยีก่อสร้าง เพื่อทดแทนแรงงานมากขึ้น ที่สำคัญต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม นายสิทธิพร กล่าวทิ้งท้าย