- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Sunday, 21 May 2017 13:52
- Hits: 4150
กคช.จัดการประชุมวิพากษ์ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี
การเคหะแห่งชาติจัดการประชุมวิพากษ์ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 - 2579) โดยมี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมฯ และ ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยเข้าร่วมเสวนาหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 - 2579) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 เวลา ณ ห้องประชุมชั้น 2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ
สำหรับ การประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาเชิงรุกที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมเชิงบูรณาการของหน่วยงานภายในกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับภูมิภาคและท้องถิ่นตามแนวทาง “ประชารัฐ” ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายการบริหารและการพัฒนาที่เน้นเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ทุกกลุ่มเป้าหมาย และเพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ในการแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในการอยู่อาศัยให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายในช่วงระยะเวลา 20 ปี
ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) ขึ้น โดยสานต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (พ.ศ. 2559 - 2568) เพื่อใช้เป็นกรอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะยาว และเสริมสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย และครอบคลุมในทุกมิติ ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 : SMART Housing” ซึ่งบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ อาทิ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ การเคหะแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เป็นต้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน โดยมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ด้านที่อยู่อาศัยที่มุ่งเน้นให้มีปริมาณที่อยู่อาศัยที่กลุ่มเป้าหมายสามารถรับภาระได้อย่างเพียงพอ ประชาชนมีความมั่นคงในการอยู่อาศัย ที่อยู่อาศัยมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ถูกสุขลักษณะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการบริหารจัดการด้านการอยู่อาศัยที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) ตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องจากมีกลุ่มเป้าหมายหลักที่อยู่ภายใต้
แผนยุทธศาสตร์ฯ คือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้รับมอบหมายให้พัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับประมาณ 2 ล้านหน่วย สำหรับภาพรวมของการประชุมในครั้งนี้ ได้มีการหารือแนวความคิดและทิศทาง
การพัฒนาที่อยู่อาศัยในอนาคต โดยจะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องด้วยจำนวนหน่วยที่ต้องดำเนินการปริมาณที่ค่อนข้างมาก ภาครัฐจึงมีภารกิจที่จะต้องดำเนินการหลายเรื่อง เช่น การจัดหาที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการ มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการด้านการเงิน ซึ่งควรจะมีการจัดตั้งกองทุนขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในการจัดหาที่อยู่อาศัย แต่ต้องมีการป้องกันความเสี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดหนี้ NPL มากขึ้น ส่วนมาตรการที่อยู่อาศัยในอนาคตจะมุ่งเน้นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งในระยะอันใกล้นี้ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ เป็นต้น
สำหรับ ผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กรุงเทพมหานคร กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง เป็นต้น หน่วยงานภาคเอกชน อาทิ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซีจี ซีเมนต์ – ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด เป็นต้น และหน่วยงานภาคประชาสังคม อาทิ มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และนายสุชินทร์ เอี่ยมอินทร์ (ลุงดำ) นายกสมาคมคนไร้บ้าน เป็นต้น
ร่าง ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี(พ.ศ. 2560 -2579)
- หลักการและเหตุผล
‘ที่อยู่อาศัย’ เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่ทุกคน ทุกครอบครัวต้องการความมั่นคงและความปลอดภัยจากการอยู่อาศัย เป็นสถานที่ที่รวมความเป็นครอบครัวให้เป็นหนึ่งเดียว หล่อหลอมสมาชิกในสังคม เป็นจุดที่เล็กที่สุดในสังคม มีการถ่ายทอดวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ปลูกฝังนิสัย เจตคติ ค่านิยมให้แก่ทุกคน โดยนโยบายในระดับสากลและในระดับประเทศได้ให้ความสำคัญกับการจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับคุณภาพชีวิตและการสร้างเมืองสุขภาวะ (Healthy Cities) เน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน จากกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายและทุกระดับ
ปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยมีปัญหาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแนวโน้มการเจริญเติบโตและการขยายตัวของเมืองในอนาคตที่เพิ่มขึ้น จะก่อให้เกิดความแออัด ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและปัญหาชุมชนแออัด ชุมชนบุกรุก กระจัดกระจายในเมืองต่างๆทั่วประเทศ เนื่องจากขาดการจัดการด้านที่ดินอย่างเหมาะสมที่สามารถรองรับในการอยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ความไม่เท่าเทียมในการพัฒนาระหว่างพื้นที่ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั้งสิ้น
รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม และการสร้างโอกาสการในการเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยการขับเคลื่อนแผนงานและมาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสร้างโอกาสการเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม กำหนดให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’มีเป้าหมายด้านความมั่นคง โดยประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต มีงานและรายได้ที่มั่นคงพอเพียงกับการดำรงชีวิต มีที่อยู่อาศัยและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจข้อมูลภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2558 พบว่า ร้อยละของครัวเรือนที่เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 87.4 ร้อยละ 82.4 ร้อยละ 78.9 และร้อยละ 77 ในปี 2533 ปี 2543 ปี 2553 และปี 2556 ตามลำดับ พบว่า มีครัวเรือนที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยจำนวน 5.87 ล้านครอบครัว
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยของประเทศ จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) โดยสานต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (พ.ศ. 2559 – 2568) เพื่อใช้เป็นกรอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะยาว และเสริมสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายและครอบคลุมในทุกมิติ โดยบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินงานกับภาคีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 (Smart Housing)”
- กรอบแนวคิด
น้อมนำหลักยุทธศาสตร์พระราชทาน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานไว้ คือ ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ และ ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ แนวทางตามพระราชดำริที่เกี่ยวข้อง เป็นหลักสำคัญในการดำเนินการในทุกมิติ ตลอดจนนำหลักธรรมาภิบาลในการบริหาร
ราชการมากำหนดกรอบแนวคิดของยุทธศาสตร์ฉบับนี้ ตลอดจนความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 – 2564) ในการสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อีกทั้งเชื่อมโยงกับประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) ในการสร้างสังคมแห่งโอกาส โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายคนจนเมือง ตลอดจนแนวทางเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals (SDG)) ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย เป็นต้น
- วัตถุประสงค์
3.1 เพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยการจัดเตรียมที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม พร้อมระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการ ที่จำเป็นในระดับราคาที่กลุ่มเป้าหมายสามารถรับภาระได้
3.2 เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการดำเนินงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มเป้าหมาย
- กลุ่มเป้าหมายในการดำเนินงาน
ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนไทยที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย จำนวน 5.87 ล้านครัวเรือน ตามนโยบายและสถานการณ์ของประเทศอย่างมั่นคง (Security) ครอบคลุม (Inclusiveness) ทุกกลุ่มเป้าหมายในการเข้าถึงการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาที่อยู่อาศัยของภาครัฐ บนพื้นฐานของกลไกของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
- นิยามศัพท์
เพื่อให้เกิดความชัดเจนและความเข้าใจที่ตรงกัน จึงได้กำหนดนิยามศัพท์ภายใต้ยุทธศาสตร์ฉบับนี้ โดยศึกษา และประมวลจากเอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์บรรลุวัตถุประสงค์ ได้แก่
5.1 บ้านหรือที่อยู่อาศัย หมายถึง สถานที่ ที่บุคคลในครอบครัวใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในลักษณะการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย หรือ มีสิทธิครอบครองในที่อยู่อาศัย
5.2 ผู้มีรายได้น้อย หมายถึง ครัวเรือนที่มีรายได้ น้อยกว่า 24,500 บาทต่อเดือน ณ ปี 2560
5.3 ผู้มีรายได้ปานกลาง หมายถึง ครัวเรือนที่มีรายได้ 24,501 - 39,500 บาทต่อเดือน ณ ปี 2560
5.4 ผู้มีรายได้สูง หมายถึง ครัวเรือนที่มีรายได้ 39,501 บาทต่อเดือน ณ ปี 2560
ที่มา การคาดประมาณรายได้ของครัวเรือนต่อเดือนจำแนกตามเกณฑ์ของการเคหะแห่งชาติ ระดับรายได้ครัวเรือนจะมีการปรับตามภาวะเงินเฟ้อทุกปี
- วิสัยทัศน์ (Vision)
“คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579”
- พันธกิจ (Missions)
7.1 ส่งเสริมและพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน
7.2 ส่งเสริมมาตรการทางการเงินเพื่อที่อยู่อาศัย
7.3 บูรณาการความร่วมมือด้านที่อยู่อาศัยทุกภาคส่วน
7.4 ส่งเสริมและพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งด้านที่อยู่อาศัย
7.5 พัฒนาเมืองให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี
- ยุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน (รายละเอียดตามเอกสารแนบ)
8.1 การส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน
เป้าประสงค์ คือ ชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้
กลยุทธ์
1) ส่งเสริมการจัดสวัสดิการในชุมชน
2) ส่งเสริมให้ประชาชนรักถิ่นที่อยู่
8.2 การเสริมสร้างระบบการเงินและสินเชื่อเพื่อการอยู่อาศัย
เป้าประสงค์ คือ ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการเงิน
กลยุทธ์ คือ เสริมสร้างโอกาสในการเข้าถึงระบบการเงิน
8.3 การยกระดับการบูรณาการด้านการบริหารจัดการที่อยู่อาศัย เป้าประสงค์ คือ ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัย
กลยุทธ์
1) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและท้องถิ่นในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัย
2) เสริมสร้างและพัฒนากลไกการบูรณาการ
3) สร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการด้านที่อยู่อาศัย
8.4 การพัฒนาและสนับสนุนให้มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน
เป้าประสงค์ คือ สนับสนุนให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน
กลยุทธ์
1) ผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายด้านที่อยู่อาศัย
2) สร้างโอกาสในการมีที่อยู่อาศัย
3) เสริมสร้างและพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทด้านทีอยู่อาศัยอย่างเป็นระบบ
8.5 การจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
เป้าประสงค์ คือ การจัดการระบบสาธารณูปโภค ระบบสาธารณูปการ จัดการที่ดินและผังเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กลยุทธ์
1) ส่งเสริมการจัดการที่ดินและผังเมือง
2) ส่งเสริมการจัดการระบบสาธารณูปโภคแล
3) ส่งเสริมการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ทิศทางของยุทธศาสตร์
ประเด็นยุทธศาสตร์ 2560 2561 2562-2564 2565-2569 2570-2574 2575-2580
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน
เป้าประสงค์ 1.1 ชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้
กลยุทธ์ที่ 1 : ส่งเสริมการจัดสวัสดิการในชุมชน
- ส่งเสริมการจัดตั้ง “กลุ่มสวัสดิการสหกรณ์ออมทรัพย์ในชุมชน” เพื่อการจัดบริการสวัสดิการสังคมแก่กลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม
กลยุทธ์ที่ 2 : ส่งเสริมให้ประชาชนรักถิ่นที่อยู่
- ฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีสภาพเสื่อมโทรมให้กลับมาเป็นชุมชนน่าอยู่อาศัย
- ส่งเสริมให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการด้านการอยู่อาศัยอย่างเข้มแข็ง เช่น การรักษาความสะอาด การรักษาความปลอดภัย การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงานเป็นต้น
- ส่งเสริมการรวมกลุ่มคนในชุมชนให้สามารถพึ่งตนเองได้ เช่น กลุ่มสร้างอาชีพ กลุ่มกิจกรรมเพื่อสังคม กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเสริมสร้างระบบการเงินและสินเชื่อเพื่อการอยู่อาศัย
เป้าประสงค์ 2.1 ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการเงิน
กลยุทธ์ที่ 1 : เสริมสร้างโอกาสในการเข้าถึงระบบการเงิน
- จัดตั้ง “กองทุนที่อยู่อาศัยแห่งชาติ” โดยหักภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง การจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmark Tax) ในการสนับสนุนกองทุน รวมทั้งกองทุนค้ำประกันความเสี่ยงในการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย
- จัดตั้งกองทุนสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของกลุ่มเป้าหมายที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ ในทุกระดับ ได้แก่ กองทุนเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับชุมชน ระดับเมือง ฯลฯ รวมทั้งกองทุนค้ำประกันความเสี่ยงในการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย
- ปรับปรุงระเบียบการใช้เงินลงทุนของกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสวัสดิการ กองทุนประกันสังคม ให้สมาชิกกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ ก่อสร้างหรือปรับปรุงที่อยู่อาศัยของตนเอง
- พัฒนากลไกการเงินเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่น การค้ำประกันการกู้เงิน (Mortgage Insurance) โดยกองทุนเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินได้
- พัฒนาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่หลากหลายและครอบคลุมในทุกความต้องการ เช่น สินเชื่อเพื่อกลุ่มพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว สินเชื่อเพื่อผู้สูงอายุ
- ส่งเสริมการ “ออมเงินระยะยาว” เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในอนาคต ด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย
- เสริมสร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงสินเชื่ออย่างเสมอภาคและทั่วถึง
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การยกระดับการบูรณาการด้านบริหารจัดการที่อยู่อาศัยเป้าประสงค์
เป้าประสงค์ 3.1 ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัย
กลยุทธ์ที่ 1 : ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและท้องถิ่นในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัย
- สนับสนุนการมีส่วนร่วมของอปท. และภาคเอกชน สมาคมวิชาชีพด้านที่อยู่อาศัยและ อปท.ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย
- เสริมสร้างสมรรถนะ อปท.ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมือง เพื่อจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับเมืองของท้องถิ่นให้ครอบคลุมในทุกมิติ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาสังคมในพื้นที่ (Civil Society)
- ผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อระดมการมีส่วนร่วมอย่างมีดุลยภาพเพิ่มเติมจากภาครัฐและภาคเอกชนที่มีอยู่แล้ว และลดภาระของภาครัฐ
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและมาตรการจูงใจของภาคเอกชนในการสร้างที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนตามแนวทางประชารัฐเพื่อสังคม
กลยุทธ์ที่ 2 : เสริมสร้างและพัฒนากลไกการบูรณาการ
- การขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
- จัดตั้งศูนย์บริการร่วมแบบเบ็ดเสร็จ (One stop Service) ในการรับเรื่องและเชื่อมโยงกระบวนการพิจารณาของหน่วยงานภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวก และตอบสนองการให้บริการที่รวดเร็ว
- กำหนดเกณฑ์ชี้วัดการพัฒนาการอยู่อาศัยให้สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และวาระใหม่ของการพัฒนาเมือง (NUA)
กลยุทธ์ที่ 3 : สร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการด้านที่อยู่อาศัย
- ปรับเปลี่ยนบทบาทการดำเนินงานของภาครัฐจากการเป็นผู้พัฒนา/ผู้จัดหาที่อยู่อาศัย เป็นผู้อำนวยความสะดวกและส่งเสริม ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
- ผลักดันให้มีการตั้งองค์กรระดับกระทรวงเพื่อดูแลรับผิดชอบด้านที่อยู่อาศัยของประเทศเป็นการเฉพาะ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาและสนับสนุนให้มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน
เป้าประสงค์ 4.1 สนับสนุนให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน
กลยุทธ์ที่ 1 ผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายด้านที่อยู่อาศัย
- กำหนดทิศทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองอย่างชัดเจนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับ
- ทบทวนและปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และขั้นตอนการปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการพัฒนาที่อยู่อาศัย
- ตราพระราชบัญญัติการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นกฎหมายหลักในการดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการอยู่อาศัยของประชาชน
- จัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น
- จัดให้มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานเหมาะสมตามลักษณะครอบครัว ทุกช่วงวัย และสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายได้
- กำหนดมาตรฐานการดำเนินงาน การควบคุม การกำกับดูแล และการตรวจสอบรูปแบบการก่อสร้างที่อยู่อาศัย
กลยุทธ์ที่ 2 : สร้างโอกาสในการมีที่อยู่อาศัย
- ผลักดันกฎหมายเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงที่ดินสำหรับการอยู่อาศัย เช่น พระราชบัญญัติสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร พระราชบัญญัติภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า
- การปรับปรุงที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- สร้างที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมให้กับผู้มีรายได้ที่หลากหลาย เช่น กลุ่มผู้มีรายได้สูง กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง กลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มคนไร้ที่พึ่ง
- สนับสนุนการนำที่ดินตาบอดออกสู่ตลาดที่ดิน เพื่อรองรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยผ่านกระบวนการจัดรูปที่ดิน (Land Readjustment)
- นำที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของหน่วยงานภาครัฐมาพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย
กลยุทธ์ที่ 3 : เสริมสร้างและพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านทีอยู่อาศัยอย่างเป็นระบบ
- จัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ” เพื่อบูรณาการฐานข้อมูลที่อยู่อาศัยให้เป็นฐานเดียวกันทั้งประเทศ
- สนับสนุนการพัฒนาและบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศ/องค์ความรู้ด้านที่อยู่อาศัยอย่างเป็นระบบ และเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศและการจัดทำรายงานวิเคราะห์สถานการณ์ที่อยู่อาศัยด้านต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน
- สร้างและพัฒนาช่องทางการเข้าถึงความต้องการด้าน ที่อยู่อาศัย เช่น การสำรวจ ลงทะเบียน ข่าวประชาสัมพันธ์ Application Website การนำเสนอ Message
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
เป้าประสงค์ 5.1 การจัดการระบบสาธารณูปโภค ระบบสาธารณูปการ จัดการที่ดินและผังเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กลยุทธ์ที่ 1 : ส่งเสริมการจัดการที่ดินและผังเมือง
- กำหนดทิศทางการพัฒนาเมือง และบูรณาการโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ โครงข่ายคมนาคมขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องต่อการพัฒนาเมือง เอื้อต่อการตั้งถิ่นฐานและการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม
กลยุทธ์ที่ 2 : ส่งเสริมการจัดการระบบสาธารณูปโภคและระบบสาธารณูปการ
- ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดูแลบำรุงรักษาระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และสภาพแวดล้อม
- สนับสนุนการพัฒนาชุมชนให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี และยกระดับการอยู่อาศัยในพื้นที่บุกรุกหรือสลัม ตลอดจนยกระดับที่อยู่อาศัยในที่อยู่อาศัยรายได้น้อย
กลยุทธ์ที่ 3 : ส่งเสริมการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ดำเนินการศึกษาและพัฒนาที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งเพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียว
-พัฒนาที่อยู่อาศัยที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนทั้งภาคผลิต การส่งจ่าย และการใช้พลังงานในระบบที่อยู่อาศัย
หมายเหตุ : หมายถึง ทำอย่างต่อเนื่อง
หมายถึง ทำในช่วงระยะเวลาที่กำหนด
- แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
กลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ ภายใต้กลไกระดับต่างๆ ดังนี้
10.1 ระดับนโยบาย
1) คณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ โดยมี รองนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นรองประธานกรรมการ คนที่หนึ่ง ศาสตราจารย์กนก วงษ์ตระหง่าน เป็นรองประธาน คนที่สอง และมีองค์ประกอบของกรรมการ ประกอบด้วย ผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง
2) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยมี รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน และมีองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วย ผู้แทนจากส่วนราชการและภาคีที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยมีปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
10.2 ระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและที่ดิน คณะอนุกรรมการด้านการเงินและการลงทุน คณะอนุกรรมการด้านการบริหารโครงการ และคณะทำงานระดับจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนการบูรณาการการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว
10.3 กลไกการติดตามและประเมินผล
การติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินโครงการวางอยู่บนพื้นฐานของความมุ่งหมายของโครงการที่สามารถตอบสนองกลุ่มเป้าหมายได้ทุกระดับ โดยใช้การประเมินผลโครงการแบบ CIPP Model ดังนี้
1) การประเมินบริบท (Context Evaluation) เพื่อประเมินถึงความชัดเจนของความมุ่งหมาย วัตถุประสงค์ ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานของโครงการ ปัญหาชุมชนแออัด ปัญหาการพัฒนา
2) การประเมินปัจจัยเข้า (Input Evaluation) เพื่อประเมินถึงประสิทธิภาพของข้อกำหนดการจ้าง ความพร้อมในการพัฒนา และงบประมาณในการดำเนินงาน
3) การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) เพื่อประเมินถึงความครบถ้วนของการทำงาน และความพึ่งพอใจของกลุ่มเป้าหมาย
4) การประเมินผลผลิต (Product Evaluation) เพื่อการประเมินผลผลิต (Output) ได้แก่ การได้มาซึ่งแผนปฏิบัติการด้านที่อยู่อาศัยที่ชัดเจน และสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาและสนับสนุนการจัดการที่อยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า