- Details
- Category: อสังหาริมทรัพย์ฯ
- Published: Wednesday, 08 March 2017 16:23
- Hits: 3469
กคช.ศึกษาวิจัยพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยในเขตการค้าชายแดนไทย มาเลเซีย
การเคหะแห่งชาติร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดทำ ‘โครงการศึกษาวิจัยการจัดการเพื่อการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยในเขตการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย’ เพื่อเป็นแนวทาง การจัดทำแผนพัฒนาเมืองในมิติที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชายแดนดังกล่าวให้เหมาะสม
ดร.ธัชพล กาญจนกูล เปิดเผยว่า เขตการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ถือเป็นเขตการค้าชายแดนที่สำคัญและมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าสูงสุดของประเทศไทย ในขณะเดียวกันยังมีจุดอ่อนเรื่องการบริหารจัดการ เพื่อการพัฒนาชุมชนเมืองและที่อยู่อาศัยอันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองใน 2 ประเด็นที่สำคัญคือ ขาดแผนรองรับด้านที่อยู่อาศัยในเขตเมือง และขาด การรองรับบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเคหะแห่งชาติจึงได้จัดทำ ‘โครงการศึกษาวิจัยการจัดการเพื่อการพัฒนาชุมชนเมืองและที่อยู่อาศัยในเขตการค้าชายแดนไทย – มาเลเซีย’ เพื่อศึกษาข้อมูลสถานการณ์ของที่อยู่อาศัย เมืองและชุมชน รวมทั้งจัดทำแผนพัฒนาเมืองในมิติของที่อยู่อาศัยและชุมชน โดยมีกระบวนการศึกษาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและปฏิบัติการภาคสนามในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 เทศบาลในเขตการค้าชายแดนไทย - มาเลเซีย ประกอบด้วย เทศบาลเมืองสะเดา เทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ เทศบาลตำบลสำนักขาม จังหวัดสงขลา และเทศบาลเมืองเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดในเชิงการพัฒนาโครงการให้สอดรับกับแผนงานของ การเคหะแห่งชาติในอนาคตต่อไป
สำหรับ ผลการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ได้นำเสนอลักษณะของอาคารหลักที่ถูกออกแบบให้เหมาะสมกับ ความต้องการใช้งานของประชาชนในชุมชนเมืองเขตการค้าชายแดนไทย - มาเลเซีย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
บ้านเดี่ยว เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) มี 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว 1 ส่วนรับแขก และส่วนรับประทานอาหาร พร้อมที่จอดรถ 1 คัน ขนาดพื้นที่ใช้สอย 152 ตารางเมตร บนเนื้อที่ 213 ตารางเมตร หรือ 53 ตารางวา 2) มี 4 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว 1 ส่วนรับแขก และส่วนรับประทานอาหาร พร้อมที่จอดรถ 1 คัน ขนาดพื้นที่ใช้สอย 152 ตารางเมตร บนเนื้อที่ 213 ตารางเมตร หรือ 53 ตารางวา บ้านแฝด เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น มี 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว และส่วนรับประทานอาหารพร้อมที่จอดรถ 1 คัน ขนาดพื้นที่ใช้สอย 102 ตารางเมตร บนเนื้อที่ 116 ตารางเมตร หรือ 29 ตารางวา ทาวน์โฮม (TOWNHOME) เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสามชั้น มี 3 ห้องนอน 4 ห้องน้ำ 1 ห้องรับแขก 1 ห้องครัว และส่วนรับประทานอาหาร พร้อมที่จอดรถ 1 คัน ขนาดพื้นที่ใช้สอย 171 ตารางเมตร บนเนื้อที่ 80.85 ตารางเมตร หรือ 20.20 ตารางวา และอาคารพาณิชย์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น มี 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว และส่วนรับประทานอาหาร ขนาดพื้นที่ใช้สอย 125.95 ตารางเมตร บนเนื้อที่ 75.35 ตารางเมตร หรือ 18.8 ตารางวา
กคช.เตรียมผลักดัน’ที่อยู่อาศัย’เป็นวาระแห่งชาติ จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี
การเคหะแห่งชาติสรุปผลการสัมมนาวิชาการ’ทิศทางและการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)’มีเป้าหมายให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยพอเพียง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับวาระใหม่แห่งการพัฒนาเมือง (NUA) พร้อมทั้งต้องเปลี่ยนแปลง 7 เรื่อง เพื่อขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย
ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการจัดกิจกรรมสัมมนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 44 ปี การเคหะแห่งชาติ หัวข้อ ทิศทางและการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) ได้ข้อสรุปในภาพรวม โดยที่ประชุมสัมมนาเห็นพ้องต้องกันว่า ที่อยู่อาศัยต้องเป็นวาระระดับชาติ มียุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งชาติ มีกระทรวงรับผิดชอบที่ชัดเจน โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่ต้องการให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัยอย่างพอเพียง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) สอดคล้องกับวาระใหม่แห่งการพัฒนาเมือง (New Urban Agenda : NUA) และต้องขับเคลื่อนด้วยการมีส่วนร่วมขององค์กรทุกภาคส่วน กระจายบทบาทหน้าที่ในการจัดการที่อยู่อาศัยสู่ระดับท้องถิ่น
โดยยึดหลักธรรมาภิบาลในการทำงาน ต้องมีความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น โครงสร้างประชากร บทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ความต้องการของทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยมีประเด็นสำคัญที่ต้องเปลี่ยนแปลง ได้แก่ 1) ที่ดิน การกระจายการถือครองที่ดิน มีความมั่นคงในการถือครองที่ดินโดยการเช่า 2) การเงิน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในระยะยาวจากภาครัฐ การสนับสนุนดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับผู้มีรายได้น้อย ธนาคารเปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยกู้เงิน รัฐอุดหนุนภาษีสำหรับผู้มีรายได้น้อย การเงินรูปแบบใหม่ๆ 3) กฎหมาย ระเบียบ ควรมีความยืดหยุ่นสามารถพัฒนาแก้ไขได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน การออกกฎหมายให้ครอบคลุมตั้งแต่การวางแผน การออกแบบชุมชนเมืองร่วมกันและกระจายสู่ท้องถิ่น
รวมถึงกฎหมายจะต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจนและมีประสิทธิผล 4) การบูรณาการภาครัฐ มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน และมีกลไกขับเคลื่อนการทำงานที่ชัดเจน 5) ระบบฐานข้อมูล มีการบูรณาการฐานข้อมูลร่วมกัน มีความทันสมัย และต่อเนื่อง 6) กระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และ 7) การปรับบทบาท การเคหะแห่งชาติในอนาคต นำไปสู่การบริหารชุมชนและการเป็นผู้กำกับดูแลเชิงนโยบาย ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติ จะนำข้อมูลดังกล่าว รวมถึงคำแนะนำและข้อเสนอแนะต่างๆ มาจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี (พ.ศ.2560 - 2579) ต่อไป